ปัญหาที่พบบ่อย ๆ อย่างพื้นรอบบ้านทรุดจนเกิดโพรงใต้บ้านนั้น สามารถแก้ไขได้โดยพิจารณาจากอัตราการทรุด หากพื้นทรุดตัวมากจนเริ่มคงที่และไม่ค่อยทรุดต่อแล้ว ก็เหมาะกับการแก้ไขแบบถาวรโดยปรับระดับพื้นให้สูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากพื้นรอบบ้านทรุดตัวในอัตราที่ยังรวดเร็วอยู่ อาจอุดโพรงด้วยวิธีชั่วคราวโดยใช้วัสดุต่าง ๆ มาปิด เช่น อิฐ ขอบคันหิน หรือ กระถางต้นไม้ เป็นต้น
ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นดินแล้วย่อมมีการทรุดตัวอยู่เสมอ “พื้นรอบบ้าน” ก็เช่นเดียวกัน เมื่อใช้งานไปสักระยะมักจะพบว่าเกิดการทรุดตัวเร็วมาก (เมื่อเทียบกับตัวบ้านซึ่งมีเสาเข็มรองรับ) ปัญหาคือ เมื่อพื้นรอบบ้านทรุดตัวต่ำกว่าระดับคานบ้าน จะทำให้เกิดโพรงใต้บ้านเป็นช่องโหว่ขึ้น ซึ่งแม้จะไม่อันตรายต่อโครงสร้างแต่ก็ดูไม่สวยงาม ทั้งยังน่าระแวงว่าจะเป็นช่องทางให้สัตว์ต่าง ๆ มุดเข้าไปหลบซ่อน และวันดีคืนดีอาจโผล่ออกมาก่อกวนหรือทำอันตรายสมาชิกในบ้านได้ ดังนั้น หากบ้านใดมีโพรงลักษณะนี้ก็หาวิธีปิดโพรงให้เรียบร้อยจะดีกว่า
อาการพื้นดินรอบบ้านทรุดจนถึงระดับคาน ซึ่งมีแนวโน้มเกิดโพรงใต้บ้านในอนาคต
สำหรับขั้นตอนการปิดโพรงใต้บ้าน ก่อนอื่นให้ดูแนวโน้มการทรุด หากพื้นทรุดมานานจนเริ่มคงตัวและดูแล้วไม่น่าจะทรุดต่อเร็วมากนัก (ไม่เกิน 10 ซม. ใน 1 ปี) ให้แก้ไขแบบถาวรด้วยหลักการง่ายๆ คือ “ปรับระดับพื้นดินเพิ่ม” โดยถมพื้นให้สูงขึ้นจนเลยโพรงใต้บ้าน คำถามคือ หากมีวัสดุปูทับหน้าพื้นจะทำอย่างไร? ถ้าวัสดุนั้นรื้อออกง่าย ยกตัวอย่างเช่น บล็อกคอนกรีต ให้รื้อออกแล้วถมทรายและดินให้ได้ระดับตามต้องการ บดอัดให้แน่น จากนั้นเตรียมพื้นที่ให้เรียบร้อยก่อนจะปูบล็อกเดิมกลับไปอีกครั้ง
ในขณะเดียวกัน หากพื้นเดิมเป็น ค.ส.ล. (คอนกรีตเสริมเหล็ก) ให้ลองพิจารณาตามความเหมาะสม ถ้าพื้น ค.ส.ล. ยังอยู่ในสภาพดีให้วางตะแกรงเหล็กแล้วเทคอนกรีตทับเพื่อเพิ่มระดับพื้นได้เลย (กรณีเพิ่มระดับเกิน 15 ซม. ให้ถมทรายปรับระดับก่อนเทคอนกรีต) จากนั้นเลือกวิธีตกแต่งผิวหน้าตามใจชอบ เช่น คอนกรีตพิมพ์ลาย ปูบล็อกคอนกรีต ปูกระเบื้อง เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม หากพื้น ค.ส.ล. เดิมยุบเสียหายจนแตกร้าว ให้ทุบรื้อออกแล้วถมทรายให้ได้ระดับก่อนเทคอนกรีตอีกครั้ง หรือจะปรับสภาพดินเพื่อเปลี่ยนวิธีตกแต่ง เช่น ปูหญ้า วางบล็อกคอนกรีตเสริมเป็นลวดลาย เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีเทพื้น ค.ส.ล. ซึ่งไม่ใช่แค่พื้นทางเดินทั่วไป เช่น พื้นลานซักล้าง พื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน อาจลงเสาเข็มสั้นแบบฐานเข็มปูพรมด้วยเพื่อช่วยชลอการทรุดตัวในอนาคต วิธีนี้มีข้อควรคำนึงคือ ใต้พื้นดินจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง เช่น อุปกรณ์งานระบบอย่างถังเก็บน้ำ ถังดักไขมัน เป็นต้น
การลงเสาเข็มสั้นแบบฐานเข็มปูพรม เพื่อช่วยลดการทรุดตัวของพื้นรอบบ้าน
สำหรับกรณีที่พื้นรอบบ้านยังคงมีแนวโน้มทรุดตัวอย่างรวดเร็ว (ทรุดเกิน 10 ซม. ภายใน 1 ปี) วิธีแก้ไขแบบถาวรโดยการปรับระดับพื้นดินเพิ่มอย่างที่เล่าไปข้างต้นอาจดูไม่คุ้มค่ากับความยุ่งยากและค่าใช้จ่าย เพราะในไม่ช้าก็จะทรุดจนเกิดช่องโหว่อีก หากเป็นเช่นนี้แนะนำให้ทำการปิดโพรงแบบชั่วคราวไปก่อน เช่น หากระถางต้นไม้ทรงสี่เหลี่ยมมาวางเรียงเพื่อบังโพรง หรือจะก่ออิฐปิดทับโดยใช้แผ่นโฟมคั่นระหว่างก้อนอิฐกับตัวบ้าน อีกวิธีหนึ่งคือใช้ขอบคันหินปิดโพรงใต้บ้าน โดยอาจสร้างลูกเล่นต่าง ๆ เช่น ทาสี หรือวางขอบคันหิน 2 แถวล้อมเป็นกระบะปลูกต้นไม้เล็กๆ ให้ดูสวยงาม นับเป็นการสร้างบรรยากาศใหม่ ๆ และเป็นงานอดิเรกให้เพลิดเพลินอีกทางหนึ่งได้ด้วย ทั้งนี้ หากในอนาคตพบว่าอัตราการทรุดตัวลดลงจนแทบไม่ทรุดแล้ว ค่อยเปลี่ยนมาแก้ไขแบบถาวรโดยใช้วิธีปรับระดับพื้นดินเพิ่มอีกครั้ง
ก่ออิฐปิดโพรงใต้บ้าน
การวางขอบคันหินปิดโพรงใต้บ้าน และปลูกต้นไม้ประดับ
จะเห็นว่า เมื่อโพรงใต้บ้านเกิดขึ้นได้ก็ย่อมมีวิธีปิดได้เช่นกัน ทั้งนี้ สำหรับบ้านที่ยังไม่ได้สร้างหรืออยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างก็สามารถป้องกันปัญหานี้ได้ เช่น ทำครีบ ค.ส.ล. ต่อจากใต้ท้องคานลงมา วิธีนี้ใช้ในกรณีที่ระดับพื้นชั้นล่างต่างจากระดับดินไม่เกิน 1 ม. หากเกินกว่านั้นให้ใช้วิธีก่อผนังกันดินใต้คาน (ผนังก่ออิฐฉาบปูน) โดยจะต้องเสียบเหล็กหนวดกุ้งเพื่อช่วยยึดผนังกับคานและเสาด้วย การป้องกันโดยวิธีเหล่านี้ จะช่วยชลอเวลาและลดความยุ่งยากในการแก้ปัญหาโพรงใต้บ้านในอนาคตได้มาก หรือหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถปรึกษาสถาปนิก SCG ได้ก่อนการแก้ปัญหา
การทำครีบ ค.ส.ล. ต่อจากใต้ท้องคานลงมา
การก่อผนังกันดินใต้คาน