แม้ว่าในช่วงกี่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาโลกเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน แต่ทว่าสุนทรียภาพของปีนังทางด้านงานสถาปัตยกรรมของยังคงอยู่คละคลุ้งไปทั่วทุกสถานที่ของเมือง ยังคงอยู่เหนือกาลเวลาควบคู่กับความเปลี่ยนแปลงของเมือง
Playlist I: ปูลัวปีนัง เมืองมรดกโลก
ก่อนที่ผู้เขียนจะพาไปรับชมงานตึกแถวอันเป็นสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของปีนัง ขอแนะนำให้หลาย ๆ คนได้รู้จักกับ ปูลัวปีนัง หรือ ปีนัง เป็นรัฐที่มีพื้นที่บนดินเล็กที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ช่องแคบมะละกา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมาเลเซียมีเมือง จอร์จทาวน์ เป็นเมืองเอกของรัฐปีนังและถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ
เนื่องจากมีภูมิสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมที่ไม่ซ้ำใครทั้งในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ได้รับขนานนาม ไข่มุกแห่งตะวันออก ในฐานะเมืองที่มีความสวยงามของงานสถาปัตยกรรมและมีความโรแมนติกที่สุดเมืองหนึ่งของเอเชียตะวันออก
นอกจากนี้ยังโดดเด่นไปด้วยสีสันแห่งศิลปะสตรีทอาร์ตที่มีให้ชมทั่วเมือง รวมทั้งยังโดดเด่นเรื่องอาหารการกิน ที่มีความหลากหลายมาจากทางด้านเชื้อชาติทั้งไทย จีน อินเดีย และมลายู ทำให้เกิดเป็นเมนูที่มีทั้งจีน อินเดีย เครื่องเทศจัด ๆ และอาหารพื้นเมือง
Playlist II: งานสถาปัตยกรรม ที่หมุนผ่านไปตามกาลเวลา
“ปีนัง นั้นมักจะเต็มไปด้วยตึกแถวอิฐปูน ซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เกิดจากการผสมวัฒนธรรมจีนเข้ากับกลิ่นอายฝรั่ง ที่แฝงไปด้วยความวินเทจเรียงรายอยู่รอบเมือง”
ทำให้ผู้เขียนอยากนำเสนอมุมมองของงานสถาปัตยกรรมของปีนังผ่านมุมมองเพลย์ลิสต์รูปถ่าย ซึ่งได้แจกสีพาเลทของ Pantone เพื่อเป็นการดึงจุดเด่นของงานสถาปัตยกรรมออกมาด้วยเอกลักษณ์ของสีดั้งเดิมของตึก เพื่อเป็นแนวทางไว้ให้นำไปใช้ในการดีไซน์งานต่าง ๆ
เมื่อทอดสายตามองไปรอบ ๆ เกาะปีนังจะพบว่าตึกแถวหรือบ้านช่องและสิ่งปลูกสร้าง เต็มไปด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นสวยงามด้วยสีสันพาสเทลหลากหลายสีและยังแซมไปด้วยตึกแถวสีขาวออฟไวท์ สไตล์ชิโนโปรตุกีส ซึ่งยังคงความคลาสสิกมาอย่างยาวนานกว่า 200 ปี
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของงานสถาปัตยกรรมที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำคือ คฤหาสน์ปีนังเปอรานากัน หรือ Pinang Peranakan Mansion พิพิธภัณฑ์ซึ่งเคยเป็นคฤหาสน์เก่าแก่ของตระกูลเก่าแก่บนเกาะปีนัง ที่ถูกนำมาบูรณะปรับปรุงเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์
โดยคฤหาสน์แห่งนี้สร้างในสไตล์เปอรานากัน ซึ่งเปอรานากันคือชุมชนชาวจีนที่มาอาศัยในแผ่นดินมาเลเซีย และพัฒนาวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ โดยผสมผสานวัฒนธรรมจีนและมาเลย์เข้าด้วยกัน
ทำให้คฤหาสน์แห่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของชาวจีน โดยเป็นอาคารชั้นเดียวหรือสองชั้น มีส่วนลึกมากกว่าส่วนกว้างและไม่สูงนัก ซึ่งมุงกระเบื้องหลังคาตลอดจนประตูใช้โทนสีพาสเทลสีเขียวและสีขาวไข่เป็นสีหลักของบ้านเพื่อเข้าสภาพแวดล้อมของเกาะปีนัง ตัดกับหน้าต่างไม้ฉลุลายและรายละเอียดต่าง ๆ ล้วนสะท้อนถึงการผสมผสานทางศิลปะระหว่างยุโรปและจีน
อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ชัดว่าสถาปัตยกรรมของปีนังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของอังกฤษที่หลอมรวมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นจีน อินเดีย มลายูและองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อสร้างเป็นเอกลักษณ์และโดดเด่นของสถาปัตยกรรมได้อย่างนุ่มนวล จึงถือได้ว่าเป็นเสน่ห์ที่น่าสนใจในปีนัง ที่ได้หยุดเวลาในอดีตไว้ในสถานที่ให้อยู่เหนือกาลเวลาได้ทุกยุคทุกสมัย
Source