แม้ว่านวัตกรรมบนโลกนี้จะเดินหน้าไปไกล มนุษย์สามารถค้นพบนวัตกรรมในการสร้างบ้านได้หลากหลาย แต่ทว่า ‘ดิน’ กลับเป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านกันอย่างแพร่หลายเป็นเวลานานตั้งแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นผนังอิฐก่อหรือผนังดินอัด
วันนี้ BuilderNews จึงพาไปรู้จัก Rammed Earth หรือ ผนังดินอัด วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่แต่อย่างไร แต่สามารถนำไปสร้างบ้านและอาคารได้ทุกยุคทุกสมัย
ทำความรู้จัก ‘Rammed Earth’ หรือ ผนังดินอัด
Rammed Earth หรือผนังดินอัด เป็นวัสดุก่อสร้างที่ถูกใช้ในการก่อสร้างมาตั้งแต่ สมัยราชวงศ์ฮั่น ของประเทศจีน มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 1,000 ปี ปรากฏหลักฐานเป็นที่แรก ๆ คือกำแพงเมือง ถูกสร้างขึ้นจากดินเหนียวผสมน้ำจำนวนมากและใช้สารกันบูดในการก่อสร้างตามธรรมชาติในสมัยโบราณ จนถูกเรียกว่า ดินกันกระแทก ก่อนจะถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ในการสร้างกำแพงเมือง

นอกจากนี้มุมอื่น ๆ ของโลกซึ่งว่ากันว่ากระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ก็มีสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกได้ว่ามีการใช้ Rammed Earth เป็นวัสดุก่อสร้างสำหรับพักอาศัย อาทิ The Castle of Paderne ที่ประเทศโปรตุเกส หรือจะเป็น The Church of the Holy Cross ที่เซาท์แคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา
เสน่ห์ของวัสดุจากธรรมชาติ
วัสดุจากธรรมชาตินับได้ว่าเป็นวัสดุได้รับความนิยมในการนำมาปรับใช้การก่อสร้างในปัจจุบันกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผนังดินอัด หรือผนังดินปั้น คือลวดลายที่เกิดขึ้นจากขบวนการอัดดิน โดยจะเป็นชั้นดินที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน สีสันที่แตกต่างจะขึ้นตามโทนสีของดินธรรมชาติ Rammed Earth เกิดจากส่วนผสม 3 ส่วนด้วยกัน คือดิน ซีเมนต์ และน้ำ



โดยทั้งหมดจะถูกผสมจนได้เนื้อดินที่ข้น จากนั้นก็นำไปเทลงบล็อกที่สร้างไว้ให้แข็งตัวเหมือนซีเมนต์ ก่อนจะใช้เครื่องอัดกระทุ้งให้เนื้อดินแน่นสนิทด้วยแรงความดันสูงสุดถึง 400 psi จนเกิดเป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์และแตกต่างกันไปในแต่ละจุด

คุณสมบัติอันโดดเด่นของ Rammed Earth

- มีแรงยึดเกาะตามธรรมชาติสูงกว่าปูนฉาบทั่วไป
- ไม่มีส่วนผสมของสารเคมี ทำให้มีกลิ่นหอมจากธรรมชาติ
- ทนต่อทุกสภาพอากาศ โดยที่วัสดุไม่เกิดความเสียหาย
- หมดกังวลเรื่องของเชื้อรา และการผุกร่อนที่เกิดจากแมลง
จุดเริ่มต้นจากวัสดุก่อสร้างในอดีต สู่การออกแบบสมัยใหม่
ผนังดินอัด ถือได้ว่าเป็นวัสดุจากประวัติศาสตร์ที่มีความสวยงาม โดยให้ค่าสีที่แตกต่างกันจากองค์ประกอบของธาตุในดินเกิดจากสารประกอบออกไซด์ของเหล็ก ดินดำเกิดจากสารประกอบอินทรียวัตถุต่าง ๆ หรือดินมีสีอ่อนอาจจะแสดงว่าเป็นดินที่เกิดมาจากวัตถุต้นกำเนิดดินพวกที่สลายตัวมาจากหินที่มีแร่สีจางเป็นองค์ประกอบ

เฉดสีดังกล่าวจึงมีลักษณะสีสันที่มีความเป็นธรรมชาติสูง กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม การนำดินมาทำเป็นผนังจึงทำให้การก่อสร้างผนังดินอัดจึงให้อิสระกับการออกแบบงานสถาปัตยกรรมมากกว่า ในปัจจุบันจึงนิยมนำใช้เป็นวัสดุในการออกแบบอาคารต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น อาทิ โครงการศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง จาก ปตท. โดยตัวผนังของอาคารเลือกใช้เป็น ผนังดินอัด ซึ่งตัวกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร และมีเฉดสีที่มีความเป็นธรรมชาติสูง


“ผนังดินอัด” ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกระแสในการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติ ที่สามารถนำมาใช้ก่อสร้างเป็นสิ่งปลูกสร้างได้จริง เพราะนอกจากไม่ร้อนแล้ว ยังช่วยปล่อยไอเย็นออกมา ทำให้บรรยากาศโดยรอบมีความเย็นสบาย ซึ่งนับว่าเป็นไอเดียอีกทางเลือกของการสร้างบ้านแบบประหยัด และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Source