ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน เทคโนโลยีโดรนถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ทางการทหารเป็นส่วนใหญ่ และมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่หลังจากนั้นไม่นาน เริ่มมีนักพัฒนาลดขนาดของโดรน ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์หรือเก็บภาพมุมสูง ใครจะเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไป ปัจจุบันเราสามารถเป็นเจ้าของโดรนได้อย่างง่ายดาย และยังมีการพัฒนาให้สามารถใช้โดรนได้ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง ภาพยนตร์ การเกษตร พลังงาน การประกันภัย โครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสาร การสำรวจ เป็นต้น

สำหรับวงการก่อสร้างเอง เริ่มมีการนำโดรนมาบินเพื่อสำรวจพื้นที่ พิจารณาทำเลที่ตั้ง ศึกษาสภาพแวดล้อมในบริเวณโครงการ ฯลฯ ช่วยให้การคำนวณ การจับภาพ การตรวจสอบ และการประมวลผลต่าง ๆ ให้ผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำมากขึ้น ลดความผิดพลาดลง หรือในบางรายได้มีการนำติดตั้งซอฟต์แวร์เฉพาะเพื่อการสำรวจพื้นที่ การวิเคราะห์สเกล เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่เกินความคาดหมาย

โดยทั่วไปการตรวจสอบเบื้องต้นมักจะเป็นการตรวจสอบด้วยตาเปล่า ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่หากต้องการที่จะตรวจสอบให้ละเอียดขึ้นก็อาจจะต้องใช้อุปกรณ์ เช่น กล้องอินฟราเรด หรือคลื่นอัลตร้าซาวด์ เป็นต้น ในกรณีที่โครงสร้างตั้งอยู่ในสถานที่ที่ห่างไกลหรือมีพื้นที่กว้างมาก เช่น ท่อน้ำมันหรือท่อก๊าซ การตรวจสอบทั้งหมดอาจเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากและใช้เวลานาน

การใช้โดรนเพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของโครงสร้างจึงเข้ามาทดแทนการกระทำที่กล่าวไปข้างต้น ช่วยลดเวลาการทำงานได้มากพอสมควร โดรนติดกล้องความละเอียดสูง โดรนติดเครื่องสแกนแบบเลเซอร์ หรือการติดอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลความเสียหายของโครงสร้างในพื้นที่ห่างไกลหรือตำแหน่งที่เข้าถึงยากและมีความเสี่ยงสูง

บริษัทสถาปนิกสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ชื่อว่า Gramazio & Kohler ร่วมกับ Raffaello D’Andrea ได้ทำการพัฒนาระบบ “Flight Assembled Architecture” ซึ่งเป็นการก่อสร้างโดยใช้โดรนยกโมดูลของห้องขึ้นมาประกอบเป็นอาคารสูง โดยบริษัทได้จำลองรูปแบบการก่อสร้างดังกล่าวขึ้นมาโดยใช้โดรนยกก้อนโฟมสี่เหลี่ยมผืนผ้าประมาณ 1,500 ก้อน ขึ้นเรียงเป็นโครงสร้างที่มีความสูงมากกว่า 6 เมตร

โดรนยังสามารถสะสมข้อมูลของไซต์งานได้จากภาพถ่ายมุมสูงความละเอียดสูง โดยช่างภาพที่มีความชำนาญสามารถดึงข้อมูลในภาพออกมาจำลองเป็นภาพ 3 มิติ ช่วยวางแผนการวางอุปกรณ์ อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ ด้วยความผิดพลาดที่น้อยลง ทำให้ระยะเวลาในการก่อสร้างลดลงตาม จากเป็นเดือนเหลือไม่กี่สัปดาห์ จากสัปดาห์เหลือแค่ไม่กี่วัน บางเคสก็เหลือเพียงหลักชั่วโมงเท่านั้นเอง

ปัจจุบันงานวิจัยและพัฒนาทางด้านการใช้งานโดรนในงานก่อสร้างเป็นที่แพร่หลายอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีต้นทุนที่ไม่สูงมาก และไม่ต้องขออนุญาตการขึ้นบิน (การใช้งานโดรนที่มีระยะบินที่ความสูงไม่เกิน 120 เมตรและมีน้ำหนักไม่เกิน 4.4 ปอนด์หรือราว ๆ 1.20 กิโลกรัม ซึ่งจัดอยู่ในหมวดสันทนาการจึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากกรมการบินของสหรัฐฯ )

สำหรับในประเทศไทยเองก็เริ่มมีหลายหน่วยงานหันมาใช้โดรนเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการทำงานมากขึ้น ในงานก่อสร้างหรือออกแบบ บริษัทสถาปนิกบางแห่งเริ่มหยิบโดรนมาใช้สำรวจพื้นที่หรือทำแบบร่าง 3D ก็มีให้เห็นแล้ว หากใครที่กำลังจะหัดบินโดรนหรือใช้โดรนในการพาณิชย์ แล้วยังบินไม่ชำนาญหรือไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ผู้เขียนก็มีหนังสือสำหรับการบินโดรนสำหรับมือใหม่ที่ชื่อว่า “DJI SPARK บินเล่น บินจริงจัง บินกับ Drone อัจฉริยะ” เขียนโดย คุณวีรวุฒิ หาญสมบัติ มาแนะนำกัน โดยในหนังสือเล่มนี้จะแบ่งเป็น 10 พาร์ทใหญ่ ๆ ประกอบไปด้วย

  1. รู้จักโดรนเบื้องต้น สเปคเครื่อง อุปกรณ์ต่าง ๆ โหมดการบินที่มีในตัวเครื่อง
  2. แอปฯ ในการควบคุม เรียนรู้การใช้งานแอป การควบคุมเบื้องต้น
  3. ก่อนบินควรทำอย่างไร ใช้อะไรควบคุมดี ข้อระวังในการใช้ Calibrate เข็มทิศ
  4. ควบคุมการบินด้วยมือเปล่า การ Take-off การบินต่าง ๆ การลงจอด
  5. บินด้วยโหมดอัจฉริยะ โหมด Quickshot ทั้งแบบ Circle และ Helix
  6. โหมดถ่ายภาพต่าง ๆ สารพัดโหมดการถ่ายภาพด้วยโดรนให้สวยแบบมือโปร
  7. อัปเดตเฟิร์มแวร์ ช่องทางอัปเดตที่มือใหม่ควรรู้
  8. การตัดต่อ การแชร์ และ Facebook LIVE เพื่อการไลฟ์ที่ไม่ซ้ำใคร
  9. บินโดรนให้ถูกกฏหมาย การขึ้นทะเบียน เขตห้ามบิน การบินอย่างไรให้ปลอดภัย
  10. FAQ ตอบทุกข้อสงสัยสำหรับมือใหม่และมือเก่า รวมไว้ที่เดียว

ตัวผู้เขียนเองได้มีโอกาสอ่านแล้วต้องบอกว่า เป็นหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยกระบวนการที่มีเนื้อหาละเอียดยิบ เหมาะกับมือใหม่อย่างมาก อ่านเสร็จแล้วทำให้อยากไปซื้อโดรนบินถ่ายภาพสวย ๆ เลย สำหรับผู้ที่สนใจก็สามารถหาซื้อได้ที่ Shopee หรือ Lazada เพียงค้นหา “หนังสือ DJI SPARK” กดสั่งซื้อแล้วรอรับหนังสือไปอ่านที่บ้านได้เลย ขอให้ทุกท่านสนุกกับการบินโดรน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/the-drones-of-the-future-may-build-skyscrapers-18390584/

http://piti-engineering.blogspot.com/2015/07/2-drone-part-2-use-of-drone-in.html

https://www.jll.co.th/th/trends-and-insights/investor/how-drones-are-covering-new-ground-in-real-estate

https://www.theagent.co.th/th/news/detail/1273

https://www.thansettakij.com/content/411408

Previous articleสวน ZEN บนขนมปัง ซีรีส์ศิลปะ STAY HOME บน IG ของ MANAMI SASAKI
Next articlePART I: ทำความเข้าใจกับการจัดเตรียมโครงการ BIM
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ