ท่ามกลางภูมิประเทศอันซับซ้อนและยากแก่การอยู่อาศัยต่อมนุษย์ การยืนหยัดเพื่อดำรงชีวิตอยู่ จึงจำต้องประยุกต์สถาปัตยกรรมเพื่ออิงกับบริบทแวดล้อมให้กลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด และอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่เป็นแบบอย่างแห่งการประยุกต์กับบริบทได้ดี อย่างเช่นโรงแรมใน Cabo Verde ของสถาปนิก Ramos Castellano ที่พึ่งเสร็จสิ้นไปไม่นาน ก็เป็นโมเดลชั้นยอดที่ควรค่าแก่การศึกษาเช่นกัน
Cabo Verde เป็นประเทศที่แยกตัวอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ตั้งอยู่บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก มีลักษณะเป็นหมู่เกาะหลาย 10 เกาะรวมๆ กัน บริบทแวดล้อมเป็นเกาะภูเขาไฟเล็กๆ มีความสลับทับซ้อนของพื้นที่ลาดชันจากตำแหน่งภูเขาสูง ชาวบ้านท้องถิ่นจำนวนมาก จึงเน้นสร้างที่พักอาศัยบริเวณกึ่งๆ ใจกลางเกาะและริมชายหาดกันเป็นหลัก โดยโปรเจ็กต์โรงแรมที่พึ่งเสร็จสิ้นของ Ramos Castellano (สถาปนิกท้องถิ่น) ก็มาจากการที่ลูกค้าได้เข้ามาซื้อบ้าน ย่านเขตอาณานิคมเก่า บริเวณใจกลางเมือง จากนั้นจึงได้ขอให้สถาปนิกช่วยปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นโรงแรม เพื่อตอบรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการแวะเวียนมาเยี่ยมชมหรือสำรวจเกาะ Santo Antão (เป็นเกาะสถานที่ทางประวัติศาสตร์ และเป็น 1 ใน 10 เกาะของ Cabo Verde) บริเวณใกล้เคียงกัน
ฟอร์มของตัวอาคารเป็นอาคารยกระดับสูง 3 ระดับ ถูกปรับแต่งเพื่อความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมโดยรอบ โดดเด่นด้วยคอนเซ็ปต์การออกแบบเพื่อตอบรับการเปลี่ยนผ่านของแสงอาทิตย์ระหว่างวัน บริเวณชั้น 1 เป็นส่วนพื้นที่ทางเข้าซึ่งก่อด้วยกำแพงหินขนาดใหญ่ โดยติดกับส่วนถนนตัดผ่านในชุมชน เมื่อขึ้นมาบริเวณชั้น 2 จะเป็นอาคารปูนคอนกรีต ถูกฉาบด้วยสีเขียวมะนาวสดใสเป็นพื้นที่สำหรับเช็คอินหรือติดต่อเข้าพัก อีกทั้งบริเวณชั้นบนสุดที่เป็นทางเชื่อมก่อนจะไปยังชั้น 3 ถูกสร้างเป็นจุดชมวิวส่วนกลาง โดยมีโต๊ะเก้าอี้จำนวนมากสำหรับรองรับแขกผู้เข้าพัก และระหว่างชั้น 2 และ 3 ถูกเชื่อมต่อด้วยบันไดไม้ โดยอาคารชั้น 3 โครงสร้างจะไม่ถูกอิงจากชั้น 1 – 2 แต่จะถูกยกสูงแยกต่างหาก แล้วเชื่อมด้วยลูกเล่นของบันไดไม้ทดแทน
ณ ชั้น 3 ซึ่งมีหน้าที่สำหรับเป็นอาคารห้องพัก ฟอร์มของอาคารเป็นอาคารปูนคอนกรีต เสริมสร้างผิวเปลือกของอาคารด้วยแผ่นไม้ตาราง 4 เหลี่ยมปิดทับ พร้อมเจาะช่องและเว้นระยะเพื่อสร้างทัศนียภาพอันแตกต่างที่นอกจากจะให้ความสวยงามเมื่อมองจากภายนอกแล้ว หากมองออกมาจากภายในยังเป็นการสร้างลูกเล่นของจุดชมวิวแต่ละห้องได้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อีกทั้งการเว้นระยะของช่องยังช่วยในการไหลเวียนของอากาศภายในอาคารได้อย่างปลอดโปร่ง และข้อดีอีกอย่างที่ใช้ไม้ติดตั้งเป็น Facade คือการช่วยลดทอนแสงอาทิตย์และไม่ดูดซับอุณหภูมิในช่วงกลางวันมากจนเกินไปเหมือนวัสดุประเภทอื่น นอกจากนั้นอาจจะด้วยความ Green หรืออะไรก็แล้วแต่ของผู้ออกแบบ โรงแรมแห่งนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จากแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดมลภาวะและลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าภายในอาคารที่สูงขึ้นในทุกปี
ในส่วนของบริเวณโซนบาร์และห้องอาหารถูกสร้างบริเวณทิศที่ต้องปะทะกับลมจากทะเลทรายซาฮาร่ามากที่สุด ทำหน้าที่ในการปกป้องโครงสร้างส่วนสำคัญของโรงแรม ฟอร์มของโซนนี้ถูกก่อขึ้นและยกระดับขึ้นมาแยกต่างหาก ด้วยความสูงแค่ระดับพื้นที่ส่วนกลางชั้นบนสุด ณ จุดชมวิวของอาคารชั้น 2 เท่านั้น โดยเชื่อมต่อกับส่วนกลางด้วยบันไดไม้เพื่อสร้างฟังก์ชันการใช้งานได้อย่างทั่วถึงมากที่สุดจากข้อจำกัดบางประการของสถานที่
แม้ว่าข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์จะเป็นเรื่องยากในการออกแบบ แต่หากมีการวางแผนหรือจัดแจงที่ดีดังเช่นโปรเจ็กต์โรงแรมแห่งนี้ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป ที่สถาปัตยกรรมดีๆ สักแห่ง จะสามารถแฝงตัวและกลมกลืนไปกับพื้นที่ได้อย่างไม่ขัดเขิน ซึ่งนอกจจากจะรักษาคุณค่าทางทัศนียภาพพื้นถิ่นได้แล้ว ยังเสริมสร้างทางรายได้และอัตตาการจ้างงานประชากรในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน