เตรียมพบการกลับมาของงานประชุมนานาชาติทางสถาปัตยกรรม และแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และครบครันที่สุดของปี กับ ACT FORUM 20 DESIGN + BUILT” โดยภายในงานนอกจากจะได้พบกับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างจากแบรนด์ชั้นนำทั่วโลกแล้ว ยังเป็นพื้นที่รวมตัวของเหล่าสถาปนิกทุกสาขา เพื่อร่วมมือกันหาแนวทางในการฟื้นฟูวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมและอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ในการตอบสนองต่อความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนไปหลังสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้คอนเซปต์ “สถาปนิกปันสุข”

ซึ่งครั้งนี้กลับมาภายใต้การออกแบบโลโก้และภาพสื่อสารหลัก (Key Visual) ที่ออกแบบโดย GA49 ซึ่งจะพาทุกคนร่วมสนุกสนานไปกับการตีความภาพที่ถูกดีไซน์มาในลักษณะของ Monoline เพื่อเล่าเรื่องราวอะไรบางอย่างสื่อไปถึงผู้รับสารได้อย่างเพลิดเพลิน

 

การออกแบบและจัดสรรพื้นที่ว่างทั้งแนวนอนและแนวตั้ง” คือสิ่งที่ทั้ง 4 สาขาวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมมีหลักในการทำงานที่คล้ายคลึงกัน คอนเซปต์ที่ถูกสะท้อนออกมาผ่านโลโก้

เริ่มแรกทางทีมเราได้รับโจทย์การออกแบบโลโก้สำหรับงาน “ACT FORUM20” ที่จัดขึ้นโดยสภาสถาปนิก ซึ่งสภาสถาปนิกควบคุมและดูแล 4 สาขาวิชาชีพ ประกอบไปด้วย สถาปัตยกรรมหลัก (Architecture), สถาปัตยกรรมผังเมือง (Urban Architecture), ภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Architecture), สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ (Interior Architecture)

ทีนี้เราก็มองว่าอะไรที่ 4 สาขาวิชาชีพนี้มีหลักในการทำงานที่คล้ายคลึงกันที่เราจะดึงมาใช้ออกแบบโลโก้ได้ เราก็มองว่าสิ่งนั้นคือ “การออกแบบและจัดสรรพื้นที่ว่างทั้งแนวนอนและแนวตั้ง”

ตัวโลโก้ก็เหมือนกล่องกล่องหนึ่งที่มีหลายมุม เราก็คิดจากกล่องนี้เหมือนเป็น Isometric เลยนำ Grid Isometric อันนี้มาเป็นโครงสร้างในการออกแบบชุดตัวอักษรโลโก้ จึงเป็นการจัดวางที่เกิดจากมุมและพื้นที่ว่างอย่างที่เห็น

ส่วนคำว่า “DESIGN + BUILT” เราดีไซน์แยกออกมา ไม่ได้วางใน Grid เหมือนชื่อ “ACT FORUM ’20” เพราะคำว่า DESIGN + BUILT เป็นเหมือนส่วนขยายรายละเอียดของงาน ซึ่งเราจะให้ความสำคัญกับชื่องานเป็นอันดับหนึ่งและอยากให้คนเห็นส่วนนั้นก่อน จึงไม่ได้ใส่ดีไซน์ตรงคำนี้เยอะมาก เลยออกแบบให้มันเรียบ ๆ อยู่ในยูนิตเดียวกันเพราะกลัวจะไปแข่งกับโลโก้หลักของงาน

 

New Normal กับสถานการณ์การใช้ชีวิตในปัจจุบัน คือแรงบันดาลใจของภาพสื่อสารหลัก (Key Visual)

แรงบันดาลใจหลัก ๆ คือ สถานการณ์การใช้ชีวิตในปัจจุบันของคนในปีนี้ เราต้องเผชิญกับโควิด-19 ทำให้การใช้ชีวิตในปัจจุบันผิดแปลกไปจากเดิม หรือที่เรียกว่า New Normal ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เราต้องพกสเปรย์แอลกอฮอล์ พกหน้ากากอนามัย หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม ฯลฯ เราเลยรวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีซึ่งเกี่ยวกับโควิด-19 มาใส่ใน Key Visual ของงานปีนี้

 

“การแบ่งปันความรู้หรือชุดข้อมูลจากสายอาชีพสู่สังคม” ที่มาของคอนเซปต์ “สถาปนิกปันสุข”

คำว่า “ปันสุข” เราก็ได้ยินมาสักพักแล้วจาก “ตู้ปันสุข” โดยแกนไอเดียของตู้ปันสุข คือ คนที่มีมาแบ่งปันให้กับคนที่ขาดแคลนหรือผู้ที่เดือดร้อน เช่นเดียวกับคำว่า “สถาปนิกปันสุข” ที่คนในวิชาชีพสถาปนิกก็อยากจะแบ่งปันความรู้หรือชุดข้อมูลจากสายอาชีพสู่สังคม เราเลยเอามารวมกันว่าสถาปนิกอยากจะแชร์อะไรบ้าง ควบคู่ไปกับสถานการณ์การใช้ชีวิตในปัจจุบัน

ในงาน ACT FORUM ’20 จริง ๆ มันก็มี Forum สำหรับให้ข้อมูล โดยจะมีสถาปนิกหรือนักออกแบบมาให้ความรู้และแชร์องค์ความรู้ในวิชาชีพหรือความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ทั้ง 4 สาขา ดังนั้นคำว่า “ปันสุข” เลยมาเน้นย้ำตัว ACT FORUM อีกที

 

การสื่อสารผ่านภาพ MONOLINE เพื่อเล่าเรื่องราวอะไรบางอย่าง

มันมีหลายเรื่องมากที่เราอยากจะนำมาเล่า เลยมาคุยกันในทีมว่า Illustration แบบ Monoline น่าจะตอบโจทย์ที่สุด เพราะเป็นเส้นน้ำหนักเดียวกันทั้งภาพ และเรื่องที่เราอยากนำเสนอในนั้นก็มีความสำคัญเท่ากันทั้งหมด ไม่ได้อยากเน้นภาพใดภาพหนึ่ง และมุมมองของแต่ละคนสำหรับเรื่องบางเรื่องก็ให้ความสำคัญที่แตกต่างกันแล้วแต่ประสบการณ์ เราเลยเลือก Monoline เป็นทิศทางหลักในการออกแบบ โดยสีที่ใช้ก็คือ “สีฟ้า” ซึ่งสื่อถึง “ความสะอาด สุขอนามัย และการแพทย์” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้งสีฟ้า สื่อสารถึง “ความสุข” ตรงกับคอนเซปต์สถาปนิกปันสุขนั่นเอง

 

ยิ่งตีความก็ยิ่งสนุก ภาพ MONOLINE กับการสะท้อนมุมมองของแต่ละบุคคล

การที่เราใช้เส้น Monoline คือมีเส้นน้ำหนักเท่ากันหมด จึงอาจดูเหมือนไม่มีส่วนไหนเด่นไปมากกว่ากัน แต่จุดเด่นของมันจริง ๆ คือ เมื่อมองไกล ๆ เราจะเห็นเป็นภาพรวมเพียงภาพเดียว แต่พอเรามองใกล้เข้ามาก็จะเห็นรายละเอียดเรื่องราวต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ข้างใน แล้วแต่การตีความและโฟกัสของแต่ละคน

ความสนุกจึงอยู่ที่ว่าแต่ละคนมองเห็นดีเทลและเรื่องราวในภาพแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ทำให้คนมองมันนานขึ้น เหมือนมองดู Puzzle ว่าที่จริงแล้วมันคืออะไร รูปต่าง ๆ ที่เห็น แท้ที่จริงแล้วเป็นรูปอะไรกันแน่ พอเรามานั่งดูอย่างละเอียดก็จะพบว่าดีเทลที่ซ่อนอยู่คืออะไร

มันมี Quote หนึ่งของนักออกแบบกล่าวไว้ว่า “หากเรายืนชื่นชมภาพวาดห่างสัก 3 เมตร เราก็จะเห็นภาพวาดใหญ่ ๆ สวย ๆ แต่ถ้าเราขยับเข้าไปดูใกล้ขึ้น เราก็จะเห็นความงามของลายเส้นที่ศิลปินได้วาดออกมา” เหมือนเราใช้ภาพนี้ดึงดูดให้คนหยุดดูตรงนี้นานขึ้น ถ้าเรามองเห็นครั้งแรกแล้วรู้เลยว่ามันสื่อถึงอะไร คนก็จะมองผ่านไป แต่สำหรับ Key Visual ภาพนี้อาจจะต้องใช้เวลาในการตีความสักหน่อยว่ามีอะไรซ่อนอยู่บ้าง เช่น หน้าคน มือ สบู่ หน้ากากอนามัย ร้านขายของริมทาง หรือสระว่ายน้ำ เป็นต้น และเมื่อยิ่งได้ตีความก็ยิ่งสนุกขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ ลูกเล่นต่าง ๆ ที่อยู่ในโลโก้หรือ Key Visual ล้วนแล้วแต่สะท้อนและสื่อถึงสถานการณ์ที่สำคัญในปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวโยงกับสถาปัตยกรรม การออกแบบรวมไปถึงการก่อสร้างอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว และถึง​จะมีโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้ธุรกิจหลายอย่างต้องหยุดชะงัก แต่ที่อยู่​อาศัยถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่สำคัญสำหรับการดำรงชีวิต ขณะที่การออกแบบและก่อสร้างก็ไม่มีวันยุติ นวัตกรรมก็เกิดขึ้นทุก ๆ วันโดยไม่หยุดนิ่ง ดังนั้นการมาอัปเดตเทรนด์ในอีเวนต์นี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน

 

โดยงานนี้จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรมและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบ การก่อสร้าง นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่รวมตัวของเหล่าสถาปนิกทุกสาขา เพื่อร่วมมือกันหาแนวทางในการฟื้นฟูวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมและอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ในการตอบสนองต่อความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนไปหลังสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย

แล้วพบกับ ACT FORUM ’20 DESIGN + BUILT” งานประชุมนานาชาติทางสถาปัตยกรรม และแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่และครบครันที่สุดของปี ระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี

หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ www.ActForumExpo.com

และเพจ Act Forum

#งานเดียวในปีนี้จะพลาดได้ไง

#ACTFORUM #ACTFORUM20 #ACTFORUM2020 #DESIGNBUILT #Architect #Architecture

Previous articleบ้านปูฯ เข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลม
มุ่งเน้นการบริหารกระแสเงินสด และการลงทุนระยะยาวในเวียดนาม
Next articleแรงงานปทุมธานีผนึกแอร์มาเวล ยกระดับช่างเครื่องปรับอากาศ
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว