แม้ว่างานสถาปนิก’60 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่หลายท่านอาจยังตั้งคำถามว่าเบื้องหลังแห่งความสำเร็จในการจัดงานครั้งนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ด้วยเหตุนี้เราจึงขอนำทุกท่านไปรับชมข้อมูลงานจากคุณนันทพล จั่นเงิน หรือ “อาจารย์โอ๊ต” ประธานจัดงานสถาปนิกปีนี้ ว่า “อะไร” เป็นสาเหตุดลใจให้อาจารย์คิดคอนเซ็ปต์จัดงาน “บ้าน บ้าน : BAAN BAAN” Reconsidering Dwelling นี้ขึ้น จนประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นด้วยยอดผู้เข้าชมงานตลอด 7 วัน ทะลุ 4 แสนราย มากที่สุดตั้งแต่มีการจัดงานสถาปนิกขึ้น

ที่มาของคอนเซ็ปต์ “บ้าน บ้าน”

1-13

จุดเริ่มต้นของการวาดคอนเซ็ปต์งานสถาปนิก เริ่มตั้งแต่อาจารย์โอ๊ต (คุณนันทพล จั่นเงิน) ได้ก้าวเข้ามารับบทบาทในฐานะประธานจัดงานสถาปนิก’60 โดยได้รับโจทย์หลักจากท่านนายกสมาคมสถาปนิกสยาม คุณอัชชพล ดุสิตนานนท์ ว่าอยากให้งานสถาปนิกปีนี้เปิดกว้างกว่าทุกปี เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมงานได้มากขึ้น เพื่อความเข้าใจในบทบาทของสถาปนิก จึงได้มีการประชุมระดมความเห็นโดยพิจารณาสถิติของผู้ชมในปีก่อนหน้า ซึ่งพบว่าผู้ชมทั่วไปมีอัตราเข้าร่วมประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ชมทั้งหมด และประเด็นหลักคือทำอย่างไร ที่จะรักษาฐานผู้เข้าชมเดิมที่เป็นกลุ่มวิชาชีพสถาปนิก และขยายฐานผู้ชมทั่วไปไปด้วยในตัว จึงได้คิดธีมงานเกี่ยวเนื่องกับ Building Type ประเภทอาคารที่ผู้ชมสนใจให้ดึงดูดผู้เข้าชมงานได้มากขึ้น จึงได้บทสรุปว่า “บ้าน” น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมพื้นฐานที่เข้าถึงคนได้ทุกประเภท ทั้งยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจซึ่งสามารถดึงดูดผู้เข้าชมได้มากที่สุดนั่นเอง

แม้ว่า “บ้าน” จะเป็นสิ่งพื้นฐานที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าบ้านจะเป็นสถาปัตยกรรมเล็กๆ แต่กลับเต็มไปด้วยความซับซ้อน และมีความสำคัญต่อชีวิตอย่างมาก การออกแบบบ้านที่ดีจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นอกจากนี้ เมื่อนำสถาปัตยกรรมเล็กๆ ที่เรียกว่า “บ้าน” หลายๆ หลังมาประกอบเข้าด้วยกันก็จะขยายตัวเป็นชุมชน และสังคมเมืองที่ดีได้ด้วยเช่นกัน ส่วนชื่องานสถาปนิก’60 “บ้าน บ้าน: BAAN BAAN” Reconsidering Dwelling นั้น แสดงถึง บ้าน ที่มีความหมายตรงตัว แต่พอใส่เป็นคำซ้ำว่า บ้าน บ้าน จึงสามารถมองได้ว่าบ้านหลายหลังมารวมกัน หรืออาจมีนัยที่สื่อถึงความเรียบง่ายเป็นกันเองก็ได้เช่นกัน ซึ่งงานปีนี้เองทางผู้จัดก็อยากให้ทุกคนหันมามองความสำคัญของสถาปัตยกรรมเล็กๆ ที่เรียกว่า “บ้าน” กันมากขึ้น และมาร่วมกันคิดทบทวนเรื่องที่อยู่อาศัยในมิติต่างๆ ซึ่งบ้านในแต่ละความหมายของคนนั้นย่อมไม่เหมือนกัน ทำให้การจัดงานปีนี้ออกมาประสบความสำเร็จในฐานะเวทีของสถาปนิกทุกรุ่นและประชาชนคนทั่วไปนั่นเอง

แนวคิดการออกแบบ Key visual ของงานปีนี้ มีแนวคิดอย่างไร?

image-6

ในจุดนี้อาจารย์โอ๊ต ได้ตอบคำถามดังกล่าวว่า โปรเจคดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประกวดแบบ ซี่งมีบริษัทส่งผลงานเข้ามา จนท้ายที่สุด P.Library Design Studio ก็เป็นผู้ชนะ โดยผลงานของบริษัทนี้มีความน่าสนใจที่การนำ “คน” เข้ามาผสมผสานในเนื้องาน ตรงกับคำว่า Dwelling ที่เป็นคอนเซ็ปต์ของงานพอดี โดยจัดทำ Key visual ขึ้นมาตามที่สมาคมฯ กำหนด คือ Dwelling (บ้าน), Dwelling Element (ชิ้นส่วนของบ้าน), และ Dwelling Surroundings (บริบทรอบบ้าน) ทั้งนี้ทางผู้ออกแบบได้ถ่ายทอดแนวคิดนี้ออกมาเป็นกราฟฟิก ใส่คน และบริบทต่างๆ ได้อย่างลงตัว ส่วนโทนสีที่ใช้ก็เป็นสีสันสดใส โดยได้รับแรงบันดาลใจจากบ้านเรือนในชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ที่บ้านแต่ละหลังทาสีสดใสแตกต่างกันออกไป เมื่อนำองค์ประกอบสีมาบวกกับตัวละครที่เล่นกับองค์ประกอบของบ้าน ทุกอย่างจึงออกมาสมบูรณ์แบบ เข้ากับธีม “บ้าน บ้าน” ได้อย่างลงตัว

กิจกรรมไฮไลท์ ของงานสถาปนิกปีนี้คืออะไรบ้าง?

DJI_03-0004

สำหรับใครที่ได้ไปงานสถาปนิก’60 คงจะทราบถึงความตระการตาของโซนนิทรรศการที่จัดขึ้นโดยสมาคมสถาปนิกสยามกันไปบ้างแล้ว แต่สำหรับท่านที่พลาดโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของงาน เราจะนำเสนอข้อไฮไลท์ให้ได้ชมกันอีกครั้ง โดยไฮไลท์ปีนี้อยู่ที่ “สถาปนิกแห่งแผ่นดิน” ที่จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งตัวเนื้องานจะโฟกัสไปที่โครงการชั่งหัวมัน หลักเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนพระปรีชาญาณและพระราชนิยมเรื่องที่อยู่อาศัย ผ่านการสื่อสารด้วยเนื้อหารูปแบบใหม่ด้วยการใช้ระบบมัลติมีเดียเข้ามาสร้างสรรค์ภายในกล่อง 9×9 เมตร รวมถึงยังมีการสื่อสารด้วยผลงานศิลปะมาจัดแสดงโดยรอบด้วย

นอกจากนิทรรศการของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ภาพรวมของนิทรรศการในพื้นที่สมาคมจะแบ่งออกเป็นสามส่วนหลัก ได้แก่ “บ้าน” “ชิ้นส่วนของบ้าน” และ “บริบทรอบบ้าน” และยังมีนิทรรศการย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหลายร้อยชิ้น นำเสนอในรูปแบบหุ่นจำลองของนิทรรศการ “บ้าน บ้าน จำลอง” และ Data visualization ในนิทรรศการ “บ้าน บ้าน ตัวอย่าง” และที่สำคัญคือทุกนิทรรศการได้ออกแบบมาสำหรับให้ทุกส่วนองค์ประกอบสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เท่าที่จะทำได้ ดังเช่น ต้นไม้ และพืชผักในส่วนของนิทรรศการ “บริบทรอบบ้าน” ที่สามารถนำต้นไม้กลับไปปลูกสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นได้ เป็นต้น

งานสถาปนิกปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ?

DJI_03-0024

สำหรับงานสถาปนิกทุกปี ได้จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เหล่าสถาปนิกได้เข้ามาร่วมเปิดโอกาสสร้างสรรค์ผลงานดีๆ เป็นหลัก แต่สิ่งที่แตกต่างในปีนี้คือคณะทำงานส่วนมากจะเป็นคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นการสนับสนุนกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาช่วยค้ำจุนสมาคม สำหรับการพัฒนาต่อไปในอนาคต ตอบรับกับแนวทางของสมาคมที่ต้องการดึงคนรุ่นใหม่มาเป็นกำลังหลักในการทำหน้าที่สำคัญๆ ต่างๆ ทั้งการส่งเสริมวิชาชีพในกลุ่มวิชาชีพด้วยกัน การสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน และที่สำคัญคือเป็นที่พึ่งให้กับสังคมในด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้คนรุ่นใหม่เข้ามาสนับสนุนทั้งสิ้น

สำหรับงานสถาปนิกปีนี้ แม้ว่าทีมงานจะใหม่ประสบการณ์ แต่ทุกคนล้วนมีความมุ่งมั่น และในขณะเดียวกันก็ได้รับคำปรึกษาจากผู้ที่มีประสบการณ์จากการจัดงานก่อนหน้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้รูปแบบของงานดำเนินไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ ด้วยหยิบยกธีมงานแบบ “บ้าน บ้าน” เป็นตัวนำ จะทำให้ความต่างจากปีที่แล้วมีเพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้จะเป็นธีมงานที่เข้าถึงประชาชนคนทั่วไปมากที่สุด ส่งผลให้การจัดงานที่ผ่านมาตลอด 6 วัน ประชาชนผู้ร่วมงานเล็งเห็นถึงคุณค่า และเข้าใจถึงบทบาทวิชาชีพของสถาปนิกมากยิ่งขึ้น

DJI_03-0030 DJI_03-0010

Previous articleชมตัวอย่างโปรเจคสุดล้ำ จากบริษัทสถาปนิก RCR Arquitectes ผู้ชนะรางวัล
Pritzker Prize
Next articleควันหลงงานสถาปนิก’60 ใครพลาดชมงาน แต่อยากรู้ว่าในงานมีอะไร คลิกอ่านที่นี่ รวดเดียวจบ !
วีรศักดิ์ ประสพบุญ
Content Writer เว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยปฏิบัติงานเป็นนักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมสังกัดกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าวด้านรถเพื่อการพาณิชย์ การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม