หากคุณหลงใหลอาคารสถาปัตยกรรมตะวันตกที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งยังคงตระหง่านผ่านยุคสมัยมาจนถึงทุกวันนี้ สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่อยากแนะนำให้ไปเยือนก็คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในนาม หอศิลป์เจ้าฟ้า ริมถนนเจ้าฟ้า เชิงสะพานสมเด็จพระปึ่นเกล้า ฝั่งพระนคร แม้ปัจจุบันจะคงสถานะเป็นพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ แต่ก็มีอดีตยาวนานน่าจดจำ

จากอดีต
เดิมทีบริเวณที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งตำหนักของเจ้านายวังหน้า หรือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มาตั้งแต่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1 จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกษาปณ์หลังใหม่ เพื่อผลิตเงินเหรียญกษาปณ์ขึ้นทดแทนโรงกษาปณ์หลังเดิมในพระบรมมหาราชวัง โดยสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบตะวันตก พร้อมกับมีเครื่องจักรที่ทันสมัยในยุคนั้นสำหรับใช้งานตามความเป็นจริง

หอศิลป์อดีต1อาคารหลังนี้ประกอบด้วยอาคารหลักสูงสองชั้น หลังคามุงกระเบื้องว่าว ด้านหน้าเป็นทรงปั้นหยา สองข้างของอาคารหลักต่อทอดเป็นปีกยาว ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวหักมุมฉากสี่ด้าน บรรจบกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส บริเวณหลังคาเชิงชาย ช่องบานประตู หน้าต่างประดับด้วยลายฉลุไม้อย่างงดงาม ออกแบบโดยสถาปนิกอิตาเลียนประจำราชสำนักสยามในขณะนั้น คือ คาร์โอ อัลเลกรี (Carlo Allegri) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากโรงงานเครื่องจักรที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ (อ้างอิงข้อมูลจาก www.tourismthailand.org) หลังสร้างเสร็จในปีพ.ศ. 2445 ที่นี่เป็นที่รู้จักในนาม ‘โรงกษาปณ์สิทธิการ’ โดยได้สั่งเครื่องจักรทันสมัยมาจากยุโรปเพื่อใช้งาน รวมค่าก่อสร้างและค่าเครื่องจักรทั้งสิ้นประมาณ 800,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงมากสำหรับยุคนั้น แต่ก็สามารถผลิตเหรียญกษาปณ์ได้วันละ 80,000 ถึง 100,000 เหรียญ

สู่ปัจจุบัน
ในปีพ.ศ. 2517 กรมศิลปากรได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานประเภทศิลปะร่วมสมัยขึ้น ในวาระครบรอบ 100 ปี การพิพิธภัณฑ์ไทย โดยกรมธนารักษ์ซึ่งดูแลอาคารหลังนี้ได้อนุมัติมอบอาคารให้แก่กรมศิลปากรเพื่อจัดตั้งเป็น ‘หอศิลป์แห่งชาติ’ และปรับปรุงจนกลายมาเป็น ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์’ และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา (อ้างอิงข้อมูลจาก www.tourismthailand.org) นับเป็นการปรับปรุงอาคารโบราณให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในแง่มุมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ทำให้ผู้คนได้เข้าไปสัมผัสได้ง่ายขึ้น รวมถึงหวงแหนอดีตมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน นอกจากจะเป็นอาคารสำหรับแสดงงานศิลปะ ทั้งศิลปะไทยและแบบสากลร่วมสมัยของศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังมีห้องจัดแสดงงานงานศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ภาพเขียนฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ไปจนถึงผลงานของศิลปินไทยและศิลปินชาวตะวันตกที่เข้ามารับราชการในเมืองไทย อาทิ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งหลายชิ้นเป็นผลงานที่หาชมได้ยาก

หอศิลป์2หากชื่นชอบงานศิลป์ รวมถึงหากหลงใหลในอาคารสถาปัตยกรรมที่มีกลิ่นอายแห่งอดีต ที่นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนอย่างมาก แค่ได้นั่งพักชมความยิ่งใหญ่ของวันวาน ก่อนจะเข้าไปสัมผัสงานศิลป์เพื่อชุบชูใจ เพียงเท่านี้ก็มีความสุขแล้ว

use

 

นิตยสาร Builder Vol.31 May 2016

Previous articleรีโนเวทอพาร์ทเม้นท์เก่าในฮ่องกง ให้ดูดีมีสไตล์ ซึมซับบรรยากาศทิวทัศน์รอบด้านได้กว้างขวาง
Next articleProject Review: KRAAM คอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ สุขุมวิท 26
นะโม นนทการ
หรือ ธนสัติ นนทการ นักเขียนนิตยสาร Builder อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารเกี่ยวกับสุขภาพ ที่ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนอิสระ ปัจจุบันร่วมงานกับนิตยสารหลากหลายฉบับ