หนึ่งในการ disrupt ของธุรกิจสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ และเรียกได้ว่าต่างจากชาวบ้านเขาหน่อยคือเราต้องปรับการออกแบบให้เข้ากับระบบนิเวศโลกอยู่เสมอ

ถ้าแผ่นดินทรุด เราต้องออกแบบอาคารแข็งแรงที่ทานความเคลื่อนไหวได้

ถ้าอยู่ที่ลุ่ม ต้องทำบ้านหนีน้ำ

แล้วถ้าสภาพอากาศโลกวันนี้แปรปรวนขนาดนี้ล่ะ การเปลี่ยนแปลงมันต้องออกมาให้เป็นหน้าตาแบบไหน?

ขณะที่ด้านหนึ่งของการออกแบบคือการเน้นเพิ่มสีเขียวเข้าไปบนผืนดิน แต่อีกด้านของพื้นที่ที่น้ำปกคลุม บ้านของสัตว์ทะเลอาจจะยังไม่ค่อยมีข่าวเท่าไหร่นัก แต่ล่าสุดทีมศิลปินนักออกแบบและสถาปนิกจากวิทยาลัยศิลปะแคลิฟอร์เนีย (CCA) ผุดโปรเจกต์ที่ใช้ชื่อว่า The Buoyant Ecologies Float Lab ขึ้นมา แต่จากนี้เราจะขอเรียกแบบลดทอนชื่อเต็มยศว่า “Float Lab” ในบทความแทน

ความโดดเด่นคือโปรเจกต์ Float lab หรือเจ้าแลปลอยน้ำหน้าตาแปลก ๆ ชิ้นนี้เกิดขึ้นจากการร่วมงานของหลายภาคส่วน ไม่ใช่แค่ทีมสถาปนิกเท่านั้น แต่ยังได้นักวิทยาศาสตร์จาก Benthic Lab และ Moss Landing Marine Laboratories พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญที่ Port of Oakland มารวมหัวกันพัฒนาด้วย

จุดประสงค์ของการสร้างก่อน Float Lab ชิ้นนี้ ทีมงานทุกคนตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อทดลองแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่ของสัตว์ทะเลไปพร้อม ๆ กับการบรรเทาการกัดเซาะชายฝั่ง

เห็นหน้าตา Lab รูปร่างแปลกตาเหมือนเนินเขา เป็นสโลปที่ไม่เท่ากันชิ้นนี้ เขาไม่ได้ร่างแบบขึ้นมาเท่ ๆ เพียงอย่างเดียว แต่มันได้รับการออกแบบหน้าตาอย่างประณีตเพื่อให้เหมาะกับสปีชีส์สัตว์ทะเลต่าง ๆ แล้ว โดยได้ต้นแบบจาก ไบรโอซัว (สัตว์ทะเลโบราณหน้าตาคล้ายกับปะการัง), หนอนท่อ (Tube Worm), ฟองน้ำทะเล, ปู, ทากทะเล (nudibranchs), ครัสเตเชีย (สัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู ที่มีลักษณะสำคัญ คือมีเปลือกหุ้มตัวลำตัวเป็นปล้อง โดยมีระยางค์ยื่นออกมาเป็นคู่ เช่น หนวด ขากรรไกร ขาเดิน และขาว่ายน้ำ เมื่อเจริญเติบโตจะสลัดเปลือกเดิม สร้างเปลือกใหม่, หอยนางรม, หอยแมลงภู่และเม่นทะเล)

ใช้พลังงานจาก Solar Cell เพื่อหมุนเวียนระบบการปั๊มน้ำใน Float Lab

ทีมผู้สร้างเล่ารายละเอียดเพิ่มว่า หากสังเกตจากมุม Top จะเห็นได้ว่าด้านบนสร้างพื้นผิวให้เป็นหลุมหลายระดับเพื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเล สร้างพื้นที่ว่างขนาดเล็กสำหรับป้องกันสิ่งมีชีวิตจิ๋ว ๆ จากผู้ล่า สิ่งนี้เองที่สร้างระบบห่วงโซ่อาหารที่ยั่งยืนและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ

มองแบบนี้บางคนจะงงว่า ถ้ามันลอยเหนือน้ำแล้วมันมีน้ำมาหล่อในเจ้า Float Lab ที่หน้าตาเหมือนเนินทรายนี้ได้ยังไง? แท้จริงแล้วเขาติดปั๊มน้ำขนาดเล็กไว้ด้วย ดังนั้น ต่อให้อากาศร้อนหรือแห้งแล้งขนาดไหน สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ใน Float Lab จะยังอยู่ในนั้นได้อย่างมีความสุข

นอกจากฟังก์ชั่นเรื่องที่อยู่อาศัยสัตว์ทะเลแล้ว อีกปัจจัยที่เขาตั้งใจสร้างคือการทำให้มันทำหน้าที่เป็นเขื่อนกันคลื่นที่เข้ามาปะทะชายฝั่ง ทำให้คลื่นที่ตามปกติจะปะทะฝั่งโดนตรงลดความรุนแรงได้ ซึ่งเขาตั้งใจว่าจะวางพวกมันไว้เลียบหาด

สำหรับรายละเอียดของโครงสร้าง ถ้าชำแหละเรื่องการใช้วัสดุและขนาด ดังนี้

เริ่มต้นที่โครงสร้างมีขนาดประมาณ 14 ฟุตคูณ 8 ฟุต (4.2 เมตรคูณ 2.4 เมตร) ตัวถังทำจากพอลิเมอร์คอมโพสิตที่เสริมใยด้วยระบบนิเวศน์และมีน้ำหนัก 500 ปอนด์ (227 กิโลกรัม) ภายในตัวถังนั้นมีบัลลาสต์คอนกรีตขนาด 1,200 ปอนด์ (544 กิโลกรัม) ทำให้มันสามารถลอยน้ำได้ในระดับพอดิบพอดี

อีกด้านของโปรเจกต์ดี ๆ เพื่อสังคม ที่ชาวสถาปนิกทุกคนต้องรู้คือต่อให้เราตั้งใจทำมาดีแค่ไหน แต่จู่ ๆ คิดแล้ว ทำเสร็จเราจะเอามาลงน้ำในพื้นที่สาธารณะแบบนี้ทันทีไม่ได้ ความจริงมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น เบื้องหลังการทำโปรเจกต์นี้เขาได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่ดูแลทั้งภาครัฐและรัฐบาลท้องถิ่น แถมยังได้รับการอนุมัติจากคณะวิศวกรกองทัพสหรัฐฯและคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาอ่าวซานฟรานซิสโก เรียกได้ว่าทุกฝ่ายลงความเห็นแล้วว่า “โอเค” กับเจ้า prototype แรกของงานชิ้นนี้

โครงการเพื่อคนก็น่าสนใจ แต่โครงการเพื่อสัตว์ทะเลก็เป็นอีกงานที่สำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งถ้ามันสามารถเป็นได้มากกว่าการโยนคอนโดลงไปให้สัตว์ทะเลอยู่ด้วย แต่เป็นการปรับปรุงสภาพน้ำไปในตัว ยิ่งน่าคิดว่าทำไมเราถึงจะไม่ทำล่ะ?

BuilderNews คิดว่าการทำงานของสถาปนิกร่วมกับนักวิทย์ ก็เป็นอีกแนวทางที่บ้านเราน่าเอามาใช้เป็นแบบอย่าง เพราะบ้านเราก็มีคนเก่งอยู่เยอะเพียงแต่อาจจะยังไม่มีโอกาสได้ร่วมงานกัน ถ้าหลักการนำมาใช้ในการปฏิบัติเชื่อว่าประโยชน์ของมันจะต้องทวีคูณอย่างแน่นอน

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.dezeen.com/2019/09/30/float-lab-architecture-climate-adaptation/

Photography is by Joshua Eufinger, Mike Campos, and the Architectural Ecologies Lab.

 

Previous articleเปิดประสบการณ์การชมฟุตบอลสุดล้ำกับห้องพัก Exclusive ชั้นบนสุดของสนาม The Al Bayt Stadium ที่กาตาร์
Next articleชูนวัตกรรม “โคกหนองนาโมเดล” สำรวจแร่ทำเหมืองเพื่อเกษตรกรรม