นาทีนี้คงไม่มีงานไหนที่ชาวสถาปนิกจะเห็นถี่เต็มฟีดโซเชียลได้เท่ากับงานของเจ้าใหญ่วงการอสังหาฯ อย่าง AP ที่ไปจับมือกับสถาปนิกระดับโลก Tetsuo Kondo ถ่ายทอดผลงานออกมาเป็น Exhibition Pavilion หน้าลาน Parc Paragon ซึ่งมองเห็นได้จากบน BTS สถานีสยามที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-7 สิงหาคมที่ผ่านมา
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสงบเท่าไหร่จากเหตุระเบิดตอนนี้ อาจจะทำให้หลายคนเลือกอยู่บ้านมากกว่าเดินทางไปชมงานจริง แต่เอาเป็นว่าหนุ่ม Testuo Kondo ที่เคยสร้างปรากฏการณ์เชิงสถาปัตย์ให้โลกตะลึงอย่าง Cloudscape หรือการสร้างเมฆจริง ๆ จากน้ำไว้ในสถานที่ปิด แล้วให้ผู้คนที่เยี่ยมชมสัมผัสกับประสบการณ์ที่อยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ ตั้งแต่อยู่ใต้เมฆ เหยียบเมฆจากบันไดที่ทอดยาว ไปจนถึงระดับเหนือเมฆ จนกลายเป็นงานสุดสร้างสรรค์ที่ได้การกล่าวขวัญถึงงานหนึ่งในวงการสถาปนิก
A Path in the Forest อีกผลงานที่น่าประทับใจนอกจาก Cloudscape และเห็นความแหวกแนวผ่านความคิดของเขา ผลงานชิ้นนี้เขาสร้างทางเดินระยะทางเกือบ 100 เมตรให้ผู้คนได้เดินไปท่ามกลางการเติบโตของต้นไม้ใหญ่ ทางเดินเหล่านี้หน้าตาเหมือนสะพานแต่ไม่มีโครงเสาค้ำสักต้น! ด้วยการใช้วิธียึดโครงสร้างไว้กับต้นไม้ใหญ่คล้องไว้ในรูปแบบสายรัดเท่านั้น แต่ไม่เจาะรูหรือทำร้ายผิวไม้เหล่านั้นเลย เพื่อให้คนได้เขาใกล้กับธรรมชาติระยะประชิดอย่างไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน
มาวันนี้เขาได้มีโอกาสร่วมงานกับ AP จัด Exhibition Pavilion ในงาน “AP World” เขาจึงยังคงคอนเซ็ปต์ความเป็นตัวตนส่วนตัวที่คิดว่าสถาปนิกคือส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ อาคาร และวัฒนธรรมเข้าด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องมีขอบเขตจำกัด โดยปลายทางของการออกแบบต้องเป็นความสุขของผู้เข้ามาใช้งานพื้นที่
ความเชื่อมโยงผ่าน Pavilion ใส
สถาปนิกไม่ต้องการแยกระหว่างอาคารกับธรรมชาติและวัฒนธรรมแต่อยากให้ทุกสิ่งหลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน งาน AP World จึงสร้าง Pavilion ใสที่สามารถมองเห็นด้านในได้จากภายนอกด้วยการสร้างเต็นท์พลาสติกใส ขณะเดียวกันคนด้านในสามารถมองเห็นภายนอกได้ชัดเจน ดังนั้นแม้จะเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ตั้งอยู่หน้า Parc Paragon แต่ก็ตอบโจทย์เรื่องการไม่สร้างความรู้สึกแปลกปลอมของพื้นที่ ผู้คนที่เข้าชมยังคงมองเห็นห้างสรรพสินค้าที่ตั้งอยู่ เห็น BTS เห็นผู้คนที่เดินอยู่บริเวณสยามเหมือนเดิมทุกอย่าง
ลูกบอลอะลูมิเนียมทรงกลม สะท้อนกรุงและความร้อน
อีกหนึ่งพระเอกที่เราเห็นเต็ม feed อย่างลูกบอลสีเงินเมทัลลิกทรงกลม ที่หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นชิ้นงานธรรมดาแค่สร้างมาให้ใหญ่แล้วนำมาจัดเรียงด้านใน Pavilion เท่านั้น แต่ความจริงงานชิ้นนี้ของ Tetsuo Kondo เป็นการออกแบบที่คิดมาแล้วเป็นอย่างดีทั้งเรื่องฟังก์ชันและความสวยงาม
หลักการของการออกแบบ คุณ Kondo ตีโจทย์จากสภาพภูมิอากาศและสถานที่ตั้งอย่างกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่มีแดดร้อนตลอดทั้งปี ยิ่งการตั้งหน้าลาน Paragon กลางแจ้งแบบนี้ การออกแบบจึงเน้นฟังก์ชันควบคุมด้านอุณหภูมิเป็นสำคัญ
บอลลูนอะลูมิเนียมยักษ์ ทำไมต้องสีเงินอะลูมิเนียม? หลายคนตั้งข้อสังเกต แต่ทั้งหมดได้รับการเฉลยผ่าน Conversation Standard X AP ว่าเหตุผลที่เลือกเพราะเป็นอะลูมิเนียมเป็นวัสดุที่สามารถสะท้อนความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัสดุอื่น ซึ่งเจ้าอะลูมิเนียมที่แขวนอยู่ด้านบนทั้งหมดนี้แหละที่กันความร้อนออกจากผู้คนที่เข้าชมงาน โดยเขากล่าวอธิบายว่า “จริง ๆ แล้วส่วนที่อยู่เหนือบอลลูนขึ้นไปจะร้อน แต่พวกเราที่อยู่ใต้บอลลูนจะไม่รู้สึกอย่างนั้น”
นอกจากนี้การใช้พื้นผิวเงินเมทัลลิกแบบนี้ยังสะท้อนแสงได้เป็นอย่างดี ทำให้เราที่อยู่ด้านล่างบอลลูนสัมผัสถึงความสว่าง เดินได้ทั่วงานแบบเข้าคอนเซ็ปต์ที่ AP ตั้งใจไว้คือ Grow Flow Joy หรือยั่งยืน อบอุ่น และมีความสุข จากบรรยากาศที่สร้างขึ้นใน Pavilion นี้
ส่วนอากาศที่หลายคนเดินเข้าไปแล้วเย็นฉ่ำเหมือนเดินในห้าง ส่วนนี้เราต้องบอกว่าด้านในเขาควบคุมอุณหภูมิไว้ด้วยเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งควบคู่กันด้วย ไม่ได้ใช้แค่บอลลูนอะลูมิเนียมอย่างเดียวจึงไม่ต้องกังวลเรื่องอากาศในการเข้าร่วมงาน
ความสุขครบส่วนที่มาจากการใช้พื้นที่
ภายในประกอบด้วยส่วนที่สร้างความตื่นตาตื่นใจด้วย Project Mapping ซึ่งเป็นการสร้าง Installation จากผู้เชี่ยวชาญการจัดงานสร้างประสบการณ์ใหม่ งานนี้แม้ว่าจะไม่ได้มาจากคุณ Kondo แต่มาจากฝีมือชาวไทย แต่ทั้งหมดล้วนเป็นความตั้งใจที่ออกแบบงานร่วมกันใน Pavilion แห่งนี้ที่ทำให้ทุกคนสามารถ Enjoy ได้ในพื้นที่จำกัด
พ้นจากส่วน Interactive Installation จะเป็นโซนปิกนิกสำหรับนั่งพักและกินเมนูของว่างต่าง ๆ ที่เซ็ตไว้ โดย AP เข้าร่วมกับ Hay บริษัทเฟอร์นิเจอร์นำเข้าจากสวีเดน เมืองหนาวที่เฟอร์นิเจอร์ทำหน้าที่หนักและมีบทบาทสำคัญกับการใช้ชีวิตเพราะต้องเป็นส่วนสร้างสีสันให้กับจิตใจคนที่ต้องใช้เวลาอยู่ในบ้านยาวต่อเนื่องหลายเดือนจากอุปสรรคเรื่องสภาพอากาศ ดังนั้น โซนจึงอัดแน่นด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์มินิมัลแต่สดใสด้วยสีพาสเทล
แนวคิดตะวันตกกับแนวคิดตะวันออกระหว่างสวีเดนและญี่ปุ่นมีความใกล้เคียงกันจึงสอดประสานกันอย่างลงตัว ทำให้ AP World แห่งนี้อบอุ่นมากขึ้น หัวใจสำคัญด้านความสุขนี้คือส่วนหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์จากงานของคุณ Kondo เช่นเดียวกัน
ผลงานการออกแบบชิ้นนี้ สะท้อนคอนเซ็ปต์ของ AP และตัวตนของ Tetsuo Kondo ได้เป็นอย่างดี ชนิดที่ต่อให้งานของ AP จะหายไปตามสไตล์ Exhibition Pavilion ชั่วคราว แต่เราคงได้เห็นผลงานและตัวตนของเขาไปอยู่ในที่อื่น ๆ ต่ออยู่ดี
สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักเขา BuilderNews หวังว่าคุณจะได้รู้จักสถาปนิกแดนอาทิตย์อุทัยที่มีแนวคิดล้ำหน้าแบบนี้เพิ่มอีกคนเพื่อจดไว้ในลิสต์ติดตามผลงาน หรือนักออกแบบคนไหนเห็นแล้วจุดประกายไอเดียว่าอยากทำงานด้วยแนวคิดนี้เราก็ไม่หวงที่อยากจะแชร์และแบ่งปัน
“เพราะมนุษย์ ธรรมชาติ สถาปัตย์และวัฒนธรรมควรอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
นับตั้งแต่วันนี้เพื่ออนาคตวันหน้า”
อ้างอิงข้อมูลจาก:
- https://www.dezeen.com/2013/08/08/cloudscapes-at-mot-by-tetsuo-kondo-architects-and-transsolar/
- https://www.dezeen.com/2011/10/10/a-path-in-the-forest-by-tetsuo-kondo-architects/