ประกาศปิดตัวชั่วคราวไปเรียบร้อย กับศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว ทำให้ผู้คนมากมายทั้งชาวเชียงใหม่และคนจากเมืองอื่น ๆ ร่วมรำลึกถึงความทรงจำในสถานที่แห่งนี้ รวมทั้งศูนย์การค้ากาดสวนแก้วเองที่โพสต์ตอกย้ำความเป็นสถานที่แห่งความทรงจำประสบการณ์แรกของใครหลายคน ไม่ว่าจะเด็กนักเรียนหรือ “วัยรุ่นยุค 90” ที่มานัดพบทำกิจกรรมกัน


ในขณะเดียวกัน นับตั้งแต่เปิดให้บริการ ศูนย์การค้ากาดสวนแก้วก็ทำหน้าที่สื่อความทรงจำเกี่ยวกับท้องถิ่นให้ผู้คนอีกด้วย ผ่านรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบล้านนา เช่น งานอิฐสีน้ำตาลเข้มที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีการลงทุนตั้งโรงงานทำกระเบื้องดินเผาเชียงใหม่ในขณะที่ก่อสร้างอีกด้วย

การนำเอกลักษณ์จากสถาปัตยกรรมท้องถิ่นมาใช้ในการออกแบบศูนย์การค้ายังพบได้ในห้างอื่น ๆ ในยุคปัจจุบันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล อยุธยาที่สร้างฟาซาดรูปทรงแบบย่อมุมของเจดีย์อยุธยา หรือเซ็นทรัล จันทบุรี กับฟาซาดรูปทรงโค้งมนซ้อนทับกันด้วยแรงบันดาลใจจากลายเสื่อจันทบูรและอัญมณีเมืองจันท์ อย่างไรก็ตาม การใช้รูปทรงท้องถิ่นของทั้งสองยังน่าสนใจจากการเลือกใช้วัสดุอีกด้วย เช่น ฟาซาดทรงย่อมุมเจดีย์ที่ผลิตจากอะลูมิเนียมพับสีทองแทนวัสดุจากท้องถิ่น

Sources: