โควิด-19 เป็นปัญหาที่ส่งผลเสียต่อความเป็นอยู่แค่ไหนเราอาจเห็นได้จากการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง ยังมีอีกหนึ่งวิกฤติซ้อนเข้ามาอีกในปี 2565 นี้คือสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน เรื่องที่อาจดูเหมือนไกลตัวแต่แท้จริงแล้วส่งผลกระทบต่อเนื่องกันมาเรื่อย ผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละองค์กรมีความเห็นว่าอย่างไร ทางออกของวิกฤติซ้อนวิกฤตินี้มีหรือไม่ BuilderNews รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นมาให้ทุกท่านใช้พิจารณากัน
2 วิกฤติ: โควิด-19 และ สงครามรัสเซีย-ยูเครน
ตั้งแต่ต้นปี 2563 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องเผชิญปัญหากำลังซื้อตกต่ำลง อันเป็นผลจากปัญหาของธุรกิจบริการอื่น ๆ อย่างธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบันเทิงเป็นต้น ที่ต้องปิดกิจการ เลิกจ้าง ลดเงินเดือน แล้วส่งผลกระทบต่อเนื่องกันมา แม้จะมีสัญญาณดีจากยอดขายของที่อยู่อาศัยแนวราบระดับราคา 10 ล้านบาทที่เพิ่มมากขึ้นเพราะผู้คนใส่ใจกับการใช้ชีวิต รวมไปถึงสัญญาณดีเมื่อปี 2564 ที่มีการปรับราคาสินค้าหลากประเภทให้สูงขึ้น เช่นเหล็กเส้น ที่กำลังผลิตสะดุดไปเมื่อช่วงก่อน แต่ก็ยังมีวิกฤติใหม่มาท้าทายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีก
สงครามรัสเซีย-ยูเครนสร้างวิกฤติราคาพลังงาน ด้วยราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ต้นปี 2565 สินค้าเกี่ยวกับการก่อสร้างอย่าง เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระเบื้อง สุขภัณฑ์ อิฐมวลเบา ฯลฯ ก็ขึ้นราคาตาม ผนวกกับต้นทุนการขนส่งที่ส่งผลกับทุกประเภทสินค้า
นาย ต. สรุปไว้อย่างเข้าใจง่ายว่า “วิกฤตโควิดมีผลทำให้กำลังซื้อลดลง วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น”
สำหรับไตรมาส 1 ปี 2565 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ว่าเท่ากับ 47.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และเป็นการกลับมามีค่าดัชนีต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 อีกครั้ง
เมื่อมองไปที่ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานไตรมาส 1 ของปี 2565 เองก็มีค่าเท่ากับ 129.8 เพิ่มสูงขึ้น 5.3% ในขณะที่ราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กนั้นเพิ่มขึ้นมากถึง 35% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากภาวะสงคราม ส่งผลกระทบทั้งการลงทุนสร้างบ้านและคอนโด อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หลายรายก็เริ่มมีกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มขึ้น จำนวนคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มีมากถึงประมาณ 20,000 ยูนิต แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มคึกคักขึ้น
สู่ทางออกจากวิกฤติ?
ท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้ งานสถาปนิก’65 ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมายังมีผู้เข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก และมากกว่างานสถาปนิกที่จัดก่อนภาวะโควิด-19 ระบาดอีกด้วย สอดคล้องกับยอดจองซื้อของบริษัทฯ อสังหารายใหญ่ที่เพิ่มขึ้น
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการจาก อิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หลังสถานการณ์หลัง 2 เดือนแรกของปี 2565 “ดูเหมือนจะดี” คือควรกลับมาทบทวนแผนใหม่ เลือกการพัฒนา การเปิดตัว หรือการชะลอโครงการที่แตกต่างออกไปอย่างเหมาะสม เช่นการเลือกเปิดเป็นเฟส รวมไปถึงการพิจารณาปรับราคาสินค้าตามกำลังซื้อผู้บริโภคด้วย เพราะจากปัจจัยบวกที่นำมาวิเคราะห์ ตัวเลขการโตเพียง 5-10% ก็ถือว่าดีแล้ว แม้จะไม่เท่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี