“งานของสถาปัตย์ไม่ใช่แค่ตัวตึก อาคาร หรือการตกแต่งภายใน แต่งานสถาปัตย์คือการชี้นำทางความคิด เป็นการเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงสังคมได้” ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารกระบัง (สจล.) เปิดตัวคอนเซ็ปต์ “New Design for New Normal” งานออกแบบที่เปลี่ยนไป เพื่อการอยู่ร่วมกันในยุคหลังโควิด-19 (Design disruption) มาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ (High risk) เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เพื่อเรียกความมั่นใจของประชาชนในการกลับมาใช้ชีวิตปกติรูปแบบใหม่ (New Normal) อย่างปลอดภัย หลังมาตรการคลายล็อกดาวน์เฟส 5
โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้เปิดตัว 3 แนวคิดดีไซน์ดิสรัปชัน คือ
- งานออกแบบเพื่อสุขอนามัยส่วนตัวในพื้นที่ส่วนรวม
ตอนนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น แต่การดูแลสุขอนามัยส่วนตัวในพื้นที่ส่วนร่วมยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ดังนั้นงานออกแบบจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) การติดตั้งระบบฆ่าเชื้อด้วย UV-C หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ตามจุดต่าง ๆ การเลือกใช้วัสดุที่ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ การออกแบบระบบกรองอากาศเพื่อป้องกันเชื้อโรค การออกแบบบ้านเพื่อให้เอื้อต่อการกักตัวอยู่บ้านหลาย ๆ คนได้โดยไม่เป็นอันตราย เป็นต้น
- งานออกแบบเพื่อความสะดวกต่อผู้ใช้งาน และเพื่อความสวยงาม
แน่นอนว่าการออกแบบควรมีลักษณะที่มีความสะดวกต่อการใช้งาน (User friendly) เป็นสิ่งสำคัญ ทว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือหลักการออกแบบเพื่อผู้ใช้ทุกกลุ่ม (Universal design) ซึ่งต้องพัฒนาควบคู่กันไปและตระหนักถึงความสำคัญตรงนี้มากขึ้น เช่น ผู้ใช้รถวีลแชร์ จากปกติที่ต้องมีบุคคลอื่นช่วยเข็นในบางกรณี ณ ตอนนี้เพื่อรักษาระยะห่างและลดการสัมผัสกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ การออกแบบจึงควรมีลักษณะที่เอื้อต่อบุคคลเหล่านี้และครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกันก็ต้องมีความสวยงามเข้ากับบริบทโดยรอบเช่นกัน
- งานออกแบบที่สังคมเข้าถึงได้
ความท้าทายของนักออกแบบคือการออกแบบที่ต้องสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในสังคม นักออกแบบต้องวางแผนกระบวนการผลิตงานออกแบบออกมาเป็นจริงได้ ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ การคำนวณต้นทุน ปริมาณการผลิตที่สมเหตุสมผล ตลอดจนการประเมินความสามารถในการใช้งานได้จริงในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น เพื่อให้งานออกแบบสามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้เป็นวงกว้าง
หรือแม้กระทั่งการออกแบบผังเมือง อาจต้องคำนึงถึงทางเดินเท้า หรือการที่ผู้คนสามารถเข้าถึงสถานที่หรือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องไปไกลบ้านเพื่อเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อโดยเปล่าประโยชน์ เข่น ผู้คนสามารถเข้าถึงสิ่งอุปโภคบริโภคได้อย่างง่ายดายภายในละแวกบ้านของตน เป็นต้น
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ได้เตรียมนำแนวคิดดีไซน์ดิสรัปชันมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบในพื้นที่ความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ (High risk) และพื้นที่สาธารณะที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก หลังมาตรการคลายล็อกดาวน์เฟส 5 ซึ่งมีแนวโน้มที่ผู้คนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่ (New Normal) มากยิ่งขึ้น
โดยตัวอย่างพื้นที่สาธารณะที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. กำลังเดินหน้าพัฒนางานออกแบบเพื่อยกระดับการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย คือ
- งานออกแบบในโรงเรียน
เป็นการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาระยะห่าง (Physical distancing) โดยใช้ระบบแบ่งกลุ่มจำนวนนักเรียนต่อห้อง การใช้ที่กั้นระหว่างโต๊ะเรียน โต๊ะอาหาร เป็นต้น
- งานออกแบบในโรงพยาบาล
ต้องให้ความสำคัญกับการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งโรคติดต่ออื่น ๆ โดยการตั้งจุดคัดกรองตั้งแต่ก่อนเข้าอาคาร ซึ่งอาจใช้ระบบการออกแบบห้องตรวจคัดกรองแบบความดันบวก เพื่อให้แพทย์ใช้ตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้ออย่างปลอดภัย การติดตั้งระบบกรองอากาศในบริเวณที่แพทย์ต้องทำหัตถการให้แก่ผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ เป็นต้น
- การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้าน
แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่ก็ต้องมีการออกแบบที่รองรับการอยู่ร่วมกันของคนแต่ละวัยอย่างปลอดภัย โดยลักษณะโดยทั่วไปของครอบครัวไทย เป็นครอบครัวที่มีคน 4 รุ่น อาศัยอยู่ร่วมกัน ได้แก่ รุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ รุ่นลูก และเด็กเล็ก โดยรุ่นพ่อแม่จะเป็นรุ่นที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และกลับบ้านมาเจอกับบุคคลเปราะบางที่มีภูมิต้านทานต่ำกว่าอย่างรุ่นปู่ย่าตายาย และเด็กเล็กที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่า จึงต้องมีการแบ่งเขต (Zoning) ระหว่างคนแต่ละวัยเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากผู้ที่ออกไปข้างนอกเป็นประจำ โดยอาจออกแบบให้ผู้สูงอายุอยู่ในห้องนอนติดกระจกใสชั้นล่าง เพื่อให้ยังมองเห็นคนในครอบครัว และไม่รู้สึกว่าถูกแยกขาดจากกันมากเกินไป
และแม้ว่าสถานที่ทำงานหลายแห่งจะกลับมาเปิดทำการตามปกติ แต่แนวโน้มการทำงานจากที่บ้านจะมีเพิ่มขึ้น ดังนั้น การออกแบบบรรยากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการทำงานที่บ้าน (Work station) ก็เป็นอีกเทรนด์ออกแบบที่น่าสนใจ
นอกจากนี้ ผศ.ดร.อันธิกา ยังเสนออีกว่าการออกแบบโดยภาพรวมนั้น “ตัวตึกเพื่อการเรียนอาจไม่ได้เปลี่ยนในเชิงดีไซน์มากนัก แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น โรงพยาบาล หน้าตึกอาจต้องมีห้องตรวจคัดกรองแรงดันบวกไว้ และการออกแบบที่ลดการสัมผัสให้มากที่สุด เช่น ปุ่มลิฟต์ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ควรเป็นแบบที่เคลื่อนย้ายสะดวกมากขึ้น ไม่ใช่ตั้งตายอยู่กับที่”
“เรื่องการระบายอากาศภายในเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องเอาอากาศข้างนอกมาหมุนเวียนมากขึ้นและถ่ายออกไปได้อย่างง่ายดาย ต้องถ่ายเทดีมาก ๆ เพื่อให้เชื้อที่หลงเข้ามาแล้วออกไปได้เร็ว ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงอย่างแรกในยุคนี้ไม่ใช่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นไปที่เรื่องของความสะอาดปลอดภัย” ผศ.ดร.อันธิกา กล่าว