คุณคิดว่าคุณค่าของศิลปะ โบราณสถานแต่ละแห่งมีค่าเท่ากันหรือไม่?
ถ้าตอบว่าเท่ากัน ทำไมวันนี้หลายสถานที่กลับได้รับการฟื้นฟูและใส่ใจไม่เท่ากัน อะไรคือเครื่องวัดความเร่งด่วนของการฟื้นฟู หรือความสำคัญว่าสิ่งเหล่านั้นควรได้รับการบูรณะหรือปล่อยผ่านไป
เรารู้กันดีว่า UNESCO คือต้นตำรับของการขึ้นทะเบียนอนุรักษ์โบราณสถาน สถาปนิกทุกคนก็รู้ แต่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจแนวทางการบูรณะที่เหมาะสม เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างสร้างสรรค์ Mohammad Hassan Forouzanfar สถาปนิกชาวอิหร่านจึงลงมือตัดต่อรูปโบราณสถานสำคัญ ๆ ในประเทศอิหร่านเข้ากับรูปสถาปัตย์ร่วมสมัยจนได้ภาพแปลกตาเหล่านี้
คอนเซ็ปต์ชวลโปรเจกต์ชิ้นนี้คือการขยายขอบเขตของสถาปัตยกรรมอิหร่าน เสริมแต่งจินตนาการของรูปทรงการออกแบบสไตล์โมเดิร์นเข้าไปบนสถาปัตย์ที่มีอายุนับพันปี

โปรเจกต์เรียกร้องอย่างสร้างสรรค์นี้ใช้วิธีการนำอาคารที่มีชื่อเสียงดั้งเดิมหลาย ๆ แห่งมาสวมต่อเติมเข้ากับโบราณสถานของอิหร่าน เช่น พีระมิดลูฟว์ที่ซ้อนทับปราสาทยุคก่อนของอิสลาม พระราชวังที่เป็นแหล่งมรดกโลกของ UNESCO ในอิหร่าน

Forouzanfar เผยจุดประสงค์ของการรวมภาพตัวอย่างเหล่านี้ว่าการรวมภาพระหว่างอดีตกับอนาคตเข้าด้วยกันจะประกายที่ทุกคนต้องฉุกคิดและหารือเรื่องการเก็บรักษาโบราณสถานเหล่านี้อย่างจริงจังเสียที

“เรามีมรดกล้ำค่าของอิหร่านในอดีตมากมายที่ได้รับการบันทึกไว้ในระดับโลก แต่เนื่องจากอาคารเหล่านี้ถูกทอดทิ้งหลายแห่งจึงถูกทำลายหรือเข้าสู่ภาวะของความทรุดโทรม”
เขากล่าวว่าอนุสาวรีย์จำนวนมากที่อัดแน่นประวัติศาสตร์ของชาติไว้ควรได้รับการกำหนดวิธีการรักษาอย่างมีแบบแผน เพื่อหาแนวทางการฟื้นฟูที่ดีที่สุดและทันสมัย แต่หลายแห่งแม้ขึ้นทะเบียนก็อาจจะยังไม่ได้รับการฟื้นฟูที่ทันสมัย
แม่แบบตะวันตกที่นำมารวมกับสถาปัตย์ตะวันออกกลาง ตั้งในตำแหน่งสุดหวาดเสียวนี้น่าจะดึงความสนใจและความตระหนักของคนได้ เมื่ออดีตนำมาวางกับผลงานปัจจุบันหรือแนวการออกแบบอนาคต ทำให้ภาพที่ตัดกันแบบนี้พุ่งตรงเข้ากลางใจของผู้พบเห็น

การใช้สถาปัตยกรรมร่วมสมัยเพื่อช่วยรักษามรดกโลกของยูเนสโกนั้นเป็นความสมดุลที่ละเอียดอ่อนสำหรับสถาปนิก ความน่าสนใจคือการต่อเติม เหล่านี้อาจจะไม่ได้หมายถึงการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสถาปัตย์โบราณ แต่อาจจะสร้างขึ้นเพื่อโอบล้อมป้องกันต่อสภาพแวดล้อมที่อาจเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาความเสื่อมโทรมนั้น

แล้วในโลกความจริงล่ะ มีการปกป้องสถาปัตย์เหล่านี้นอกภาพดัดแปลงไว้อย่างไร นี่คือตัวอย่างของบาห์เรน Valerio Olgiati สถาปนิกชาวสวิสได้สร้างหลังคาคอนกรีตสีแดงขนาดใหญ่เพื่อปกป้องซากปรักหักพังของตลาดโบราณและมอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครให้แก่ผู้มาเยือน
แม้ว่าข่าวนี้จะไม่ใช่นวัตกรรมสร้างใหม่หรือการลุกขึ้นมาออกแบบผลงานจริงเชิงสถาปัตย์ของสถาปนิก แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์ที่สถาปนิกออกแบบเพื่อปกป้องผลงานทางสถาปัตยกรรมของชาติได้อย่างน่าชื่นชม
Images courtesy of Mohammad Hassan Forouzanfar.
อ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูลจาก