การจัดสรรพื้นที่การเรียนการสอนนอกห้องเรียนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนรู้ชั้นเยี่ยม และหากเพิ่มกิจกรรมที่มีส่วนร่วมกับเด็ก ๆ เข้าไปด้วย จะยิ่งช่วยเพิ่มความสนุกไปพร้อมกับเปิดโอกาสให้ตัวเด็กเองได้สำรวจความชอบของตัวเองมากขึ้น ในบทความนี้ จะพาผู้อ่านไปชม 3 ผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับค้นคว้าและเรียนรู้ ที่แฝงไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ๆ ได้อย่างน่าสนใจ
Bookworm
เริ่มต้นที่ห้องสมุดรูปทรงแปลกตา ออกแบบโดยสตูดิโอ NUDE กับโปรเจกต์ที่ชื่อว่า “Bookworm” ซึ่งหากดูตามภาพประกอบแล้ว สถาปัตยกรรมชิ้นนี้มีความคล้ายคลึงกับตัวหนอน เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการอ่าน สำหรับโปรเจกต์นี้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อมุ่งแก้ไขประเด็นปัญหาเรื่องการไม่รู้หนังสือในประเทศอินเดีย
Bookworm ถูกสร้างเป็นพื้นที่สำหรับใช้ทำกิจกรรมอ่านหนังสือ เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและสำรวจตัวเองไปพร้อม ๆ กัน และกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้สนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการอ่านหนังสือ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติที่ว่า ต้องการให้เด็ก เยาวชน รวมถึงผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย มีความสามารถอ่านออก เขียนได้ และมีทักษะการคำนวณที่ดีภายในปี 2030
สำหรับโครงสร้างของห้องสมุดแห่งนี้จะมีลักษณะเป็นแถวเรียงหน้ากระดานจากชิ้นส่วนประกอบสำเร็จรูปจำนวนกว่า 3,600 ชิ้น ที่สามารถรื้อถอนออกได้ ง่ายต่อการขนส่งและนำไปประกอบใหม่ มีความยาว 120 ฟุต (ประมาณ 37 เมตร) และกว้าง 40 ฟุต (ประมาณ 12 เมตร) เป็นทรงต่ำ รูปทรงคดเคี้ยว มีขั้นบันไดไว้สำหรับนั่งอ่านหนังสือและเป็นชั้นวางหนังสือไปในตัว ซึ่ง Bookworm ถูกออกแบบมาให้สามารถจัดเก็บหนังสือได้มากถึง 12,000 เล่ม นับว่าเป็นห้องสมุดแบบเปิดที่ดูแตกต่างจากห้องสมุดทั่วไปอย่างโดดเด่น
Hedge School
ถัดมาที่ประเทศไอร์แลนด์ กับโปรเจกต์ “Hedge School” พื้นที่สำหรับการเรียนการสอนแบบกลางแจ้งในโรงเรียนประถม ออกแบบโดยสตูดิโอ AP+E นับเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ไม่ธรรมดา เพราะผลงานออกแบบชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันออกแบบโครงสร้าง ที่มีส่วนช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในการเรียนรู้แบบตอบโต้กันได้
สำหรับตัวโครงสร้างของโรงเรียนขนาดย่อมนี้ เป็นลักษณะวงแหวน ทำจากเสาไม้อัดและเชื่อมด้วยลวดเหล็กเพื่อเพิ่มความทนทาน ส่วนด้านข้างรอบ ๆ รั้ว จะมีกระถางต้นไม้วางไว้เป็นจุด ๆ ในระดับต่าง ๆ สลับกันไปมา พื้นที่ภายในจะมีที่นั่งแบบไล่ระดับ คล้ายกับห้องประชุม พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ตรงกลางของวงแหวนไว้แบบโล่ง ๆ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับทำการแสดงหรือวิ่งเล่นได้
รูปร่างวงแหวนเหมือนเล้าเช่นนี้ ถูกออกแบบมาให้เหมาะสำหรับใช้เพื่อการศึกษา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่พาให้เด็ก ๆ ได้ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียนร่วมกัน โดยสถาปนิกผู้ออกแบบได้นำพืชพรรณต่าง ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง เพื่อที่เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้วิธีการปลูกผักกินเอง โดยให้พืชเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อการสอนรูปแบบหนึ่ง
“เราคิดคอนเซปต์ของการเรียนในลักษณะแบบกลางแจ้งขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างชุมนุมที่เด็ก ๆ สามารถปลูกพืชผัก สมุนไพร หรือดอกไม้ของพวกเขาได้” ลอเรนซ์ ลอร์ด ผู้ร่วมก่อตั้ง AP + E กล่าว
VAC Library
สุดท้ายจะพามาดูห้องสมุดแบบล้อมกรอบ ในประเทศเวียดนาม ซึ่งห้องสมุดแห่งนี้ออกแบบโดยบริษัท Farming Architects โดยใช้ชื่อโปรเจกต์ว่า VAC ซึ่งเป็นคำย่อจากภาษาเวียดนามที่ว่า Vườn (garden), Ao (pond) and Chuồng (cage) แปลว่า สวน สระน้ำ เเละกรง ตามลำดับ ผู้ออกแบบต้องการที่จะออกแบบให้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นเหมือนฟาร์มขนาดย่อมรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศอย่างยั่งยืน สร้างพื้นที่เล็ก ๆ และนำเอาระบบอควาโปนิกส์เข้ามาใช้ร่วมด้วย มีทั้งการปลูกผัก เลี้ยงปลาคราฟ และเลี้ยงไก่
โครงสร้างห้องสมุดเป็นไม้ ลักษณะการวางแบบตาราง จะมีองค์ประกอบต่าง ๆ ถูกเจาะเข้าไปในช่องว่างของคานไม้ เช่น กระถางต้นไม้ ช่องไว้สำหรับวางหนังสือ โดยตัวโครงสร้างดีไซน์ออกมาให้สามารถแยกส่วนได้ หลังคาจะมุงด้วยแผงโซลาร์เซลล์ ส่วนทางเดินที่เชื่อมระหว่างตัวห้องสมุดกับสระเลี้ยงปลา ออกแบบเป็นทางเดินหินคอนกรีตแบบเรียบง่าย
“เป้าหมายของการสร้างห้องสมุดแห่งนี้ ไม่เพียงเพื่อต้องการผลิตทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังต้องการให้เป็นพื้นที่แห่งการทดลองปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของสังคมเมืองไปด้วย” – สถาปนิกผู้ออกเเบบ กล่าว
อ้างอิงแหล่งข้อมูลจาก: