แม้ในไทยจะมีวิศวกรจบใหม่ถึงปีละ 35,000 คน แต่มีเพียง 7,000 คนต่อปีเท่านั้น ที่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความสามารถในการตรวจรับงาน CPAC จึงทำการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สภาวิศวกร เพื่อยกระดับมาตรฐานวิศวกรไทย ให้มีความรู้ ความสามารถ พัฒนาขีดความสามารถของวิศวกรไทย ให้มีความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุค New Normal พร้อมส่งเสริมคุณภาพการปฏิบัติงาน รองรับการเติบโตทางด้าน Construction Solution
นายชนะ ภูมี Vice President ธุรกิจ Cement and Construction Solution เอสซีจี กล่าวว่า “ในการยกระดับมาตรฐานวิศวกรไทย ให้มีความสามารถเทียบเท่าระดับโลกได้นั้น จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากร พร้อมปรับสู่ Construction Solution และใช้ CPAC BIM ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมด้านก่อสร้างของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับสากล ซึ่งทาง CPAC ได้เริ่มพัฒนาบุคลากรในองค์กรไปแล้วกว่า 500 คน พร้อมยังจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการพัฒนาความสามารถวิชาชีพวิศวกร ในกลุ่มผู้ประกอบการ Ecosystem ทั้งกลุ่มผู้รับเหมาขนาดกลางและเล็ก โดยจะเข้าไปร่วมมือกันให้ความรู้ ส่งเสริม และยกระดับวิชาชีพวิศวกรของกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ ให้ได้รับรองอย่างถูกต้องต่อไป”
ด้าน นายชูโชค ศิวะคุณากร Managing Director – CPAC กล่าวว่า “แกนหลักของงานก่อสร้างคือคน หนึ่งในนั้นคือวิศวกร การพัฒนาวิศวกร ประกอบด้วยการนำ Digitization จากคนเก่งระดับโลกมาใช้ รวมถึงการนำแพลตฟอร์มการทำงานต่าง ๆ ที่สะดวกรวดเร็วและคล่องตัวขึ้น ถัดมาเป็นเรื่องของ Construction Technology เราต้องดึงสิ่งต่าง ๆ มาปรับใช้ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ และเป็นประโยชน์ต่อทั้งอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ของที่มีในตลาดสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงสร้างแพลตฟอร์ม เรียกว่า All Rent เป็นตัวเชื่อมเครื่องจักรเครื่องมือหนักในตลาดให้แก่ผู้ที่ต้องการใช้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างได้ทุกขณะ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการก่อสร้าง ลดเวลาและลดแรงงานคน”
ขณะที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างของประเทศไทย ถือเป็นจุดประสงค์ร่วมกัน ซึ่งเอสซีจีเองเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญด้านนวัตกรรม ตรงนี้จะสามารถถ่ายโอนความรู้ และยังร่วมมือกันส่งสัญญาณไปถึงคณะวิศวกรรมทั่วประเทศ ว่าวันนี้เจ้าของผลิตภัณฑ์ กำลังมองการตลาดอย่างไร และสภาวิศวกรมีนโยบายสำคัญ ในการสร้างวิชาชีพนี้ให้ไปไกลแค่ไหน เราจะร่วมมือกันเพื่อยกระดับวิศวกรที่กำลังจะจบออกไปจากมหาวิทยาลัยด้วย
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ คือ การชดเชยด้วยนวัตกรรมของวัสดุ การร่วมมือของสภาวิศวกร และ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด จึงมีผลต่อการสร้างวิศวกรรุ่นใหม่อย่างมาก โดยสภาวิศวกรจะมีบทบาทสำคัญ คือ การดึงภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม เข้ามาให้ข้อมูลความรู้ และความร่วมมือ เพื่อโน้มน้าวให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิต ได้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและความเปลี่ยนแปลงของโลก
“เป้าหมายสำคัญในการยกระดับวิศวกรไทยครั้งนี้ คือ ทำอย่างไรให้วิศวกรระดับภาคีวิศวกร สามารถเลื่อนขั้นเป็นระดับสามัญวิศวกร และนำไปสู่ระดับวุฒิวิศวกรในอนาคต โดยเรื่องแรกที่ให้ความสำคัญคือ การมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งเอสซีจีจะผลักดันให้บุคลากรมีใบอนุญาตฯ ในระดับสามัญวิศวกร และวุฒิวิศวกร ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2564 นอกจากนี้ ผู้ที่จบการศึกษาในระดับอาชีวะ ยังสามารถสอบเลื่อนระดับเป็นวิศวกรแบบภาคีวิศวกรพิเศษ โดยจะช่วยยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถ ของวิชาชีพวิศวกรไทยให้รองรับการขยายตัวของงานก่อสร้างและรูปแบบที่เป็น Construction Solution มากขึ้น” นายชนะ กล่าวปิดท้าย