ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 7–12 ตุลาคม 2563 ทำให้มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนเมืองอย่างมาก สภาวิศวกร จึงจับมือ สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ใช้บิ๊กเดต้าคำนวณพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม แบบแม่นยำสูง เพื่อเตรียมหาแนวทางรับมือที่ยั่งยืน
ตลอดจนนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดโซนนิ่ง (Zoning) เมืองขนาดใหญ่ รวมทั้งกรุงเทพฯ ได้ในอนาคต ด้วย 5 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ พื้นที่แหล่งน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคม (ถนนสายหลัก) พื้นที่น้ำท่วมปี พ.ศ. 2552-2562 และระดับความสูงของพื้นที่ โดยจากการวิเคราะห์ 70 จุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมบริเวณถนน ยังพบว่ากรุงเทพมหานครมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูงสุดกว่าร้อยละ 35.52 ของพื้นที่ทั้งหมด 1,571.13 ตารางกิโลเมตร โดยเฉพาะเขตพื้นที่บางนา คลองเตย และรามคำแหง
นอกจากนี้ บิ๊กเดต้าดังกล่าว ยังสามารถแสดงผลเป็นภาพกราฟิก “70 จุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ประกอบด้วย 56 จุดเสี่ยงน้ำท่วมทันที หากมีปริมาณน้ำฝนเกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง อาทิ ถนนพระราม 3 ช่วงตลาดฮ่องกงปีนัง-แยก ณ ระนอง ถนนงามวงศ์วาน ช่วงแยกเกษตร ถนนรัชดาภิเษก แยกพระราม 9-แยกห้วยขวาง ถนนแจ้งวัฒนะ มรก.พน. ถนนรามคำแหง ช่วงมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถนนอโศกมนตรี และ ถนนพัฒนาการ แยกศรีนครินทร์-คลองบ้านป่า
ขณะที่ 14 จุดเสี่ยงน้ำท่วม กรณีปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง อาทิ ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปา-คลองเปรมประชากร ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ และ ถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าตลาดอมรพันธ์และแยกเกษตรศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาวิศวกร และ สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สจล. ยังมีแนวคิดผลักดันเทคโนโลยีวิศวกรรมอย่าง “แก้มลิงยักษ์ใต้ดิน” อีกหนึ่งทางออกในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยอิงข้อมูลการคำนวณจากโครงสร้างกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ถนนต่ำกว่าระดับแหล่งน้ำ ดังนั้น เมื่อฝนตกลงมา น้ำจึงระบายไม่ได้ เพราะถนนหลักและท่อระบายน้ำอยู่สูงกว่าซอย แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมี ‘อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ’ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ด้วยขีดความสามารถในการระบายน้ำที่จำกัด และปัญหาขยะอุดตัน ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำไประบายได้เต็มประสิทธิภาพ จึงมีปริมาณน้ำรอระบายบนพื้นถนนมากเกินไป จนเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง
ประกอบกับ เทคโนโลยีดังกล่าว ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในต่างประเทศ ได้อย่างยั่งยืน อาทิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถนนออร์ชาร์ด สิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซียสำหรับแนวคิดนวัตกรรม “แก้มลิงยักษ์ใต้ดิน” ใช้วิธีเปิดหน้าดินเป็นช่องเล็กๆ แล้วใช้เครื่องมือเจาะคว้านดินด้านใน สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดินขึ้น และสร้างท่อระบายน้ำหลัก 4 ท่อ พร้อมเชื่อมกับระบบท่อระบายอื่น ๆ ของกทม. เพื่อลำเลียงน้ำฝนบนพื้นถนน ไปกักเก็บไว้ใต้ดินเพื่อรอระบายไปยังแหล่งน้ำ โดยสามารถนำร่องศึกษาพื้นที่สวนเบญจกิติ บนพื้นที่กว่า 130 ไร่ มีขอบเขตการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 900,000 ตารางเมตร สามารถรองรับปริมาณน้ำได้กว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังเสนอโมเดลแก้มลิงในซอย ที่มีปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำเมื่อฝนตก เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมท้ายซอย ซึ่งจะช่วยจัดการปัญหาน้ำท่วมขังอย่างมีประสิทธิภาพได้ภายใน 15 นาที
ทั้งนี้ สภาวิศวกร ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุมดูแลมาตรฐานวิชาชีพวิศวกร พร้อมด้วย วิศวกรอาสาที่เชี่ยวชาญด้านงานวิศวกรรมในหลากมิติ ทั้งวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมเครื่องกล เตรียมแผนลงพื้นที่เสี่ยงเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์เชิงโครงสร้างตามหลักวิศวกรรม และให้ความรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในภาคประชาชน กรณีเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน ณ ที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันเหตุอันตรายอันเกิดจากไฟรั่ว ไฟช็อต เป็นลำดับต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงสร้างบ้านหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านที่เสี่ยงอันตราย สามารถติดต่อสายด่วน สภาวิศวกร 1303 เพื่อขอข้อแนะนำในการตรวจสอบด้วยตนเองเบื้องต้น
นอกจากนี้ สภาวิศวกร พร้อมด้วย สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สจล. เตรียมเสนอแนวคิดการใช้บิ๊กเดต้าคำนวณพื้นที่เสี่ยงเขตกรุงเทพฯ ต้นแบบนวัตกรรมแก้มลิงยักษ์ใต้ดิน รวมถึงแผนลงพื้นที่ตรวจสอบเชิงโครงสร้างวิศวกรรรมแก่ภาครัฐ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการหรือแก้ไขปัญหาของประเทศในอนาคต ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าว