สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยื่นหนังสือ “ด่วนที่สุด” ถึงกทม.-กรมศิลป์ หวังชะลอการรื้อถอนกลุ่มอาคารที่พักอาศัย ในพื้นที่ป้อมมหากาฬ พร้อมเสนอตัวเป็นสื่อกลางในการหารืออนุรักษ์และพัฒนา เพื่อประโยชน์โดยรวม
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2559 มีการเปิดเผยเอกสาร “ด่วนที่สุด” ของ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าด้วยเรื่องมรดกอาคารไม้พื้นถิ่นของชุมชนป้อมมหากาฬ พร้อมลงชื่อ นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 ยื่นต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ชะลอการรื้อถอนกลุ่มอาคารที่พักอาศัยในพื้นที่ป้อมมหากาฬออกไป เพื่อสำรวจอาคารโบราณและขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ฉบับที่ 2 ส่งถึงอธิบดีกรมศิลปากร โดยขอให้ทำหนังสือถึงกรุงเทพมหานคร ให้ชะลอการรื้อถอน ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดูแลโบราณสถาน
ทั้งนี้ ในเอกสารยังระบุด้วยว่า สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยินดีเป็นสื่อกลางจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในประเด็นการอนุรักษ์ที่สามารถอยู่ร่วมกับการพัฒนาได้ อันจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมต่อไป สำหรับใจความในเอกสารมีสาระดังนี้:
ด้วยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทราบจากกระแสข่าวที่จะมีการรื้อถอนอาคารในชุมชนป้อมมหากาฬในวันที่ 3 ก.ย. 2559 โดย กทม. ดังที่ทราบโดยทั่วกันนั้น
ทางสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูถัมป์ โดยกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม และกรรมาธิการสถาปนิกชุมชน มีความเห็นว่า กลุ่มอาคารที่พักอาศัยในพื้นที่ป้อมมหากาฬยังมีคุณค่า ในฐานะเป็นหลักฐานบ่งชี้การตั้งถิ่นฐานชุมชนเก่าบริเวณตามแนวกำแพงเมืองกรุงรัตนโกสินทร์กว่า 100 ปีที่ยังคงเหลืออยู่ (ตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายท่าน และปรากฏรูปถ่ายเก่าตั้งแต่สมัย ร.4-5 เป็นหลักฐาน) อันควรที่จะได้เก็บรักษา เพื่อเปิดพื้นที่ให้ศึกษา สำหรับอนุชนรุ่นหลัง และไม่เฉพาะแต่ตัวมรดกสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ควรรวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่แต่เดิม เพื่อเป็นเสมือนมรดกที่มีชีวิต และให้การเรียนรู้แก่สาธารณะ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน จะเป็นประโยชน์กว่าการรื้อ และทำเป็นสวนสาธารณะเท่านั้น
ในการนี้ทางสมาคมฯ จึงเรียนมาเพื่อขอให้กรุงเทพมหานคร ได้โปรดชะลอการรื้อถอนกลุ่มอาคารที่พักอาศัย ในพื้นที่ป้อมมหากาฬออกไปก่อน เพื่อจักได้ทำการสำรวจอาคารโบราณเหล่านั้น และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานต่อไป
อนึ่ง สมาคมฯ ยินดีที่จะเป็นสื่อกลางจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในประเด็นการอนุรักษ์ ที่สามารถอยู่ร่วมกับการพัฒนาได้ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อันจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวม จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
คลิกที่ภาพ เพื่อชมขนาดใหญ่