เดินทางมาถึงวันท้าย ๆ กันแล้ว สำหรับงานสถาปนิก’60 งานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อวงการสถาปัตยกรรมสุดยิ่งใหญ่ จัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น และในแต่ละปี ก็ล้วนได้รับความร่วมมือจากบรรดาผู้แสดงสินค้าในการจัดแสดง และโชว์นวัตกรรมที่แต่ละแบรนด์ต่างขนกันมาอย่างไม่ยอมน้อยหน้ากันเลยทีเดียว
ท่ามกลางผลิตภัณฑ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจมากมายภายในงาน มีสินค้าแปลกตา ที่มักจะไม่ค่อยได้พบเห็นกันบ่อยนักอยู่มากมาย เราจึงขอคัดสรรไอเท็มเหล่านั้นมาให้ได้ชมกัน
ซึ่งชิ้นงานที่หาชมได้ยาก แต่กลับพบได้ในงานสถาปนิก’60 มีดังนี้
ชิ้นแรก เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ จากไสยาสน์ ที่ดูเผิน ๆ แล้ว ก็เหมือนเฟอร์นิเจอร์ธรรมดาทั่วไป แต่ใครจะรู้ว่าเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ มีที่มาจากชิ้นส่วนของเรือโบราณ ด้วยความที่ไม่ต้องการให้ไม้เหล่านี้ถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงนำมาดัดแปลงเป็นเฟอร์นิเจอร์เพื่อสร้างคุณค่าให้กับไม้ที่อาจจะหมดประโยชน์ในสายตาของผู้อื่น แต่กลับเกิดประโยชน์และสร้างคุณค่าได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1 (ใกล้กับโซนพื้นที่จัดแสดง Green Building Material)
ต่อมา คือสินค้าจากบริษัท ที-โบรส์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งมีอยู่ 2 ชิ้นงานที่น่าสนใจ ตัวแรก คือ CNC Router เป็นการฉลุหรือตัดผิวออก ขึ้นรูปจากไฟล์ 3 มิติ ผลงานที่ได้ก็เป็น 3 มิติเช่นกัน ต่างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่เป็นการเพิ่มเนื้อให้วัตถุ เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ต้องการ ซึ่งตัวเราเตอร์ตัวนี้จะช่วยสร้างมูลค่าได้สูงกว่าพลาสติก ใช้ได้ทั้งกับไม้ และโฟม ทำให้ได้ชิ้นงานที่เร็วกว่า หากใช้ผลิตชิ้นงานใหญ่ ๆ จะใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่หากเป็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะใช้เวลานาน 1 วัน ซึ่งจะฉลุได้ทั้งกับชิ้นงานทั้งใหญ่และเล็ก ฉลุได้เต็มแผ่น สามารถสร้างผลงานลอยตัวได้ด้วยในเครื่องเดียว
ตัวต่อมา ค่อนข้างคล้ายกับ CNC Router แต่จะต่างกันตรงที่ใช้แสงเลเซอร์ในการตัดผิววัสดุออก โดยมีชื่อเรียกว่า CNC Laser ชิ้นงานที่ได้จะสวย คมและละเอียดกว่าการใช้เราเตอร์เป็นตัวตัด แต่มีข้อเสียตรงที่ไม่สามารถใช้กับงานชิ้นใหญ่ ๆ ได้
Booth No: S112, Grid Line: I35
ผลงานชิ้นต่อมาเป็นของ Greenlam เจ้าแห่งลามิเนต คือ แผ่นไม้กันกระสุน ผลิตขึ้นจากเมลามีน เรซิ่น และกระดาษนำมารวมกันจนได้เป็นวัสดุทดแทนไม้ มีความแข็งแรงทนทานสูงจนสามารถรับแรงกระสุนปืนพกได้ทุกประเภท ซึ่งมีผลทดสอบอย่างเป็นทางการจากกรมสรรพาวุธว่าสามารถนำมาใช้งานได้จริง และกรีนแลมก็ยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องไปจนถึงผลิตภัณฑ์กันกระสุนจากอาวุธสงคราม ที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถผลิตได้สำเร็จภายในอนาคตอันใกล้
Booth No: F510, Grid Line: Q23
อีกชิ้นที่ประชาชนคนเดินดินทั่วไปอาจจะไม่ค่อยได้พบเห็นกันบ่อยนัก หากไม่ได้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ของชิ้นที่ว่านี้ก็คือ แขนหุ่นยนต์ จาก ABB เหตุผลในการนำแขนหุ่นยนต์มาจัดแสดงก็เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าแขนหุ่นยนต์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ จะมีไว้ใช้กับโรงงานประกอบชิ้นส่วนเท่านั้น โดยนำมาใช้กับงานก่อสร้างและงานออกแบบ อย่างการนำมาจัดแสดงให้เห็นภายในงาน เป็นการนำแขนหุ่นยนต์มาใช้เรียงอิฐในรูปแบบแปลก ๆ ได้มากขึ้น นอกจากรูปแบบอิฐที่นำมาเรียงให้เห็นแล้ว ก็ยังสามารถเรียงให้เป็นหน้าคน หรือนำมาเพ้นท์ลวดลายกราฟิกบนกำแพงได้อีกด้วย หรือแม้แต่จะนำไปใช้ในการยกของที่มีน้ำหนักมากในงานก่อสร้าง ก็ยังสามารถทำได้
เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพื้นที่จัดแสดงในโซนนี้ กล่าวว่า ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมหลายแห่งในต่างประเทศ นำเครื่องมือชิ้นนี้ ไปใช้เพื่อการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมมากยิ่งขึ้น วิธีการเรียงอิฐก็ทำได้ไม่ยาก เพียงใช้ส่วนหัวสแกนหยิบของที่ต้องการและนำมาเรียงให้เป็นรูปแบบต่าง ๆ ตามต้องการ โดยจุดประสงค์ของการนำมาจัดแสดงก็เพราะต้องการให้เห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องรอให้เทคโนโลยีพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการออกแบบ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หากเราใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็น จะสามารถนำมันมาช่วยพัฒนางานของเราให้ฉีกกรอบมากขึ้น อาจเปรียบแขนหุ่นยนต์ชิ้นนี้เหมือนดินสอปากกาที่ใช้วาดภาพ สร้างสรรค์ผลงาน พัฒนางานออกแบบของเราให้ดีขึ้นได้
อีกชิ้นที่ใครหลาย ๆ คนน่าจะรู้จักกันดี คือ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาซึ่งก้าวไกล สามารถเลือกสีวัสดุ เลือกประเภทของวัสดุได้ โดยจำลองออกมาให้เหมือนจริงมากที่สุดก่อนจะสร้างจริง เมื่อได้แบบที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว ก็นำเครื่องพิมพ์ตัวนี้สร้างผลงานออกมาให้เป็นจริง ฉีกกฎการใช้วัสดุให้ต่างออกไป ไม่จำเป็นต้องใช้แค่ของที่มีตามท้องตลาดทั่วไป นอจากนี้ ในอนาคต เครื่องพิมพ์ 3 มิติ อาจใช้พิมพ์วัสดุที่มีความแข็งแรงมาก ๆ อย่างเหล็กได้
ณ โซนพื้นที่กิจกรรมของสมาคมสถาปนิกสยามฯ
อีกหนึ่งความแปลกที่พบได้ในงาน คือ บูธจัดแสดงจากโครงสร้างกระดาษทั้งหมด ผลงานของ Friendly Paper บริษัทผู้ผลิตพาเลทกระดาษ โดยบูธจากกระดาษที่เห็นนี้ เกิดจากไอเดียของผู้บริหารที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงของพาเลทกระดาษที่ทัดเทียมกับพาเลทไม้หรือพลาสติก ต้องการให้เห็นว่า กระดาษเป็นอะไรได้มากกว่าที่เห็น หากโครงสร้างบูธสามารถรับน้ำหนักได้ ก็เท่ากับว่าพาเลทกระดาษของ Frienly Paper ก็สามารถรับน้ำหนักได้เช่นกัน ซึ่งการใช้งานของบูธกระดาษจะเหมือนไม้ทุกประการติดตั้งได้รวดเร็ว รื้อถอนง่าย นำกลับมาใช้งานใหม่ได้อีก หรือหากไม่ได้ใช้แล้วก็ยังนำไปรีไซเคิลได้ ทั้งยังมีข้อดีตรงที่ไม่มีฝุ่น ไม่มีสารโลหะหนัก ไม่ต้องตัดไม้
โดยพาเลทกระดาษไซส์ 10×10 ม. ของ Friendly Paper สามารถรับน้ำหนักได้สูงถึง 8500 กก. นำไปใช้กับงานโครงสร้างได้
Booth No: F408/1, Grid Line: O24
ผลงานต่อมาเป็นของบริษัท เวนทิเลชั่น เอนจิเนียริ่ง จำกัด หรือ Big Ass ที่ในปีนี้ นำพัดลมยักษ์ ทั้งแบบตั้งพื้น และพัดลมเพดานดีไซน์สวยมานำเสนอ ตัวแรก คือ Air Go สีเหลือง และ Black Jack สีดำ ส่วนมากมักจะนำไปใช้กับงานเอาท์ดอร์ และในที่ที่ไม่ต้องการกำหนดจุดทำงานที่ตายตัว เพราะสามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งที่ตั้งได้ มีการส่งลมในแนวลึก มีการรับประกัน 3 ปี
อีกตัว คือ พัดลมเพดานรุ่น Powerfoil X3.0 นำมาเปิดตัวที่งานสถาปนิกเป็นที่แรก เหมาะกับงานอินดอร์ ลักษณะการทำงานจะประกอบด้วยเกียร์ขับ มอเตอร์และอินเวอร์เตอร์ ความสูงของโครงสร้างบริเวณที่ตั้ง จะต้องไม่ต่ำกว่า 8-9 เมตร จึงจะสามารถติดตั้งได้ รับประกัน 15 ปี สามารถกระจายลมได้ทั่วถึง เนื่องจากสามารถส่งลมจากด้านบนกระจายลงมาได้หลายทิศทาง
Booth No: L206, Grid Line: J47
Mitsubishi แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดัง ก็นำเอาพัดลม มิตซูบิชิ อิเล็คทริค มายวินดี้ พัดลมแบบ 3D Smart Flow ที่กล่าวได้ว่าเป็นมิติใหม่ของเทคโนโลยีอาศาความเย็นสบายทั่วห้อง สามารถหมุนกระจายซ้ายและขวาได้กว้างถึง 180 องศา โดยปรับระดับได้ 3 ระดับ ดังนี้ 50 องศา 90 องศา และ 180 องศา หมุนขึ้นมุมบนได้ถึง 90 องศา ปรับได้ 2 ระดับ คือ 50และ 90 องศา ฐานควบคุมด้านล่างมีดีไซน์แปลกตา ล้ำสมัย พร้อมรีโมทคอนโทรลเพื่อความสะดวกสบาย
Booth No: L306, Grid Line: L47
ต่อด้วยถังระบบบำบัดน้ำเสียจาก Premier Products เป็นถังบำบัดแบบ Membrane Bioreactor System ต่างจากระบบบำบัดทั่วไป เนื่องจากไม่มีถังตกตะกอน แต่จะใช้ Membrane ในการกรอง โดยน้ำจะถูกสูบผ่าน Membrane ไปที่ถังเกบน้ำ ค่าน้ำเสียออกของโมเดลนี้จะค่อนข้างดี มี BOD ต่ำกว่า 10 มก./ลิตร ซึ่งน้ำที่ได้จากระบบบำบัดน้ำเสียตัวนี้จะง่ายต่อการนำไป reuse เช่น นำไปรดน้ำต้นไม้ได้
ซึ่งนิยมนำไปใช้ในโรงงานหรือที่ขาดแคลนน้ำ หรือที่ที่ต้องการน้ำคุณภาพดี นอกจากนี้ หากต้องการเปลี่ยนน้ำที่ได้ให้กลายเป็นน้ำประปาก็สามารถทำได้ เพียงต่อเข้ากับ Maxfil ระบบกรองน้ำด้วย Membane ก็จะได้น้ำมาตรฐานเดียวกับน้ำประปา
Booth No: S201, Grid Line: J46
ไม้ขมิ้นทองชิ้นนี้ ดูแล้วอาจจะเป็นแผ่นไม้ธรรมดา แต่ความไม่ธรรมดาของไม้อยู่ตรงที่มันเป็นแผ่นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่สามารถพบได้ในไทย นำเข้าจากประเทศพม่า มีน้ำหนักมากถึง 3 ตัน จากราคาปกติที่ 3,000,000 บาท ลดเหลือ 2,900,000 บาท
Booth No: F415/2, Grid Line: O19
ของหายากชิ้นสุดท้ายที่อยากนำเสนอ เป็นของ Master Plan 101 จะเรียกว่าของหายากก็อาจจะไม่ถูกนัก เพราะมันคือ บ้าน แต่บ้านที่เห็น ไม่ใช่บ้านทั่วไปที่หาซื้อได้ง่าย ๆ เพราะมันคือบ้านที่มีราคาสูงถึง 135 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ใช้สอยประมาณ 3,000 ตร.ม. บนพื้นที่เกือบ 4 ไร่ โดยมีเรทราคาให้เลือกทั้งหมด 3 ราคา แตกต่างกันตรงวัสดุปิดผิว
Booth No: F415/2, Grid Line: O19
พบกับผลิตภัณฑ์หาชมยากเหล่านี้ได้ในงานสถาปนิก’60 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถึงวันพรุ่งนี้เท่านั้น