สำหรับนักออกแบบไม่ว่าจะสาขาไหน ๆ “ทฤษฎีสัดส่วนทองคำ” เป็นหลักการสำคัญหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ เพื่อนำไปต่อยอดหรือใช้สร้างงานสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เช่นเดียวกับที่นักออกแบบระดับตำนานหลายท่านที่ก็ใช้สัดส่วนทองคำนี้ ด้วยความที่ทฤษฎีนี้สร้างขึ้นจากการสังเกตธรรมชาติที่มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้สร้าง ไปจนถึงการศึกษางานออกแบบสร้างสรรค์ในอดีตทั่วโลก หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วในบริบทของไทยมีใครสร้างงานที่สอดคล้องกับทฤษฎีนี้บ้างไหม? งานศึกษาโดย โชคดี ศรีสมบัติ พบว่ามี และเยอะด้วย ดังตัวอย่างหนึ่งที่เรายกมานี้ คืออาคาร มหิดลสิทธาคาร
สัดส่วนทองคำคืออะไร?
โชคดี ศรีสมบัติ นิยามสัดส่วนทองคำในงานสถาปัตยกรรมไว้ว่า คือระยะระหว่างองค์ประกอบซึ่งสร้างความสัมพันธ์ต่อกันตามหลักของศิลปะ ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 1:1.618 หรือ 0.618 ซึ่งพบได้ทั้งในธรรมชาติและงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ เช่น กลุ่มหินสโตนเฮนจ์ มหาพีรามิดในอียิปต์ วิหารพาร์เธนอน และบรมพุทโธ เป็นต้น รวมทั้งในสถาปัตยกรรมไทย
“อาคารที่เป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยมหิดล”
“มหิดลสิทธาคาร” ชื่อที่มีความหมายว่าอาคารที่เป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาคารหอประชุมใหญ่ที่ใช้ในงานพระราชทานปริญญาบัตร งานพิธีการต่าง ๆ งานปาฐกถาพิเศษ และงานแสดงดนตรีต่าง ๆ ระดับโลก ด้วยความจุ 2006 ที่นั่งใน 3 ระดับ ผังของอาคารเป็นรูปลูกรักบี้ ตัวอาคารมีความสูงชันโดดเด่น หลังคาของอาคารแห่งนี้ผลิตจากทองแดง (Copper) ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวในอนาคตจากสนิม เหมือนอาคารในยุโรปหรือพระที่นั่งอนันตสมาคม สำหรับการตกแต่งภายใน มีการใช้ไม้จาก Tropical zone ที่สวยงามและทนทาน
โครงสร้างของอาคารมหิดลสิทธาคารมีแนวคิดการออกแบบคือโครงสร้างทางกายภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงต้นกันภัยมหิดลและสถาปัตยกรรมไทย มีจุดเด่นคือโครงสร้างหลังคาที่แข็งแกร่งแต่ก็อ่อนช้อย แสดงให้เห็นถึงความเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย มีการใช้เทคนิคแบ่งเส้นหลังคาเป็นแนวตั้งคล้ายช่างไทยโบราณ เพื่อให้ความยาวของหลังคาที่ใหญ่และยาวเกือบ 2 เท่าของด้านสั้น ดูสั้นลงแต่พุ่งขึ้นท้องฟ้า ด้านในอาคารแบ่งพื้นที่ได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่โถงต้อนรับ พื้นที่นั่งชมการแสดง และพื้นที่เวทีการแสดง ซึ่งออกแบบโดยคำนึงถึงคุณภาพของเสียงเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้ฟังได้รับฟังเสียงที่มีความคมชัดสูงสุด
จากการวิเคราะห์ของโชคดี ศรีสมบัติ อาคารมหิดลสิทธาคารมีองค์ประกอบของหลังคาที่ใกล้เคียงกับสัดส่วนทองคำมาก เช่น ระยะเสาที่ 1 ต่อเสาที่ 2 ต่อเสาที่ 5 ได้สัดส่วน 1:62 ในหลังคาแนวยาว และระยะเสาที่ 1 ต่อเสาที่ 4 ต่อเสาที่ 6 ในหลังคาแนวสั้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จากส่วนใหญ่ที่ไม่ได้สอดคล้องกับอัตราส่วนทองคำ โดยในส่วนของรูปด้าน รูปตัด และรูปด้านรวม มีสัดส่วนที่ไม่สอดคล้องกับสัดส่วนทองคำนัก แต่ในภาพรวม อาคารมหิดลสิทธาคารมีความสอดคล้องกับสัดส่วนทองคำ แต่อัตราขยายคงที่แบบกราฟพาราโบลา อัตราเฉลี่ยคือ 0.57 หรือ 1:1.75 ที่ใกล้เคียงกับอัตราส่วนทองคำ (1:1.618)
Sources:
โชคดี ศรีสมบัติ. สัดส่วนในงานสถาปัตยกรรม : สัดส่วนทองคำกับความสอดคล้องใน งานสถาปัตยกรรมไทยประเพณีและสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย http://www.sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/20314
9 ประเด็นของมหิดลสิทธาคารที่ท่านยังไม่รู้ https://archive.li.mahidol.ac.th/handle/0280026809/2550
ภาพโดย
https://commons.wikimedia.org/wiki/User:B20180
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Prince_Mahidol_Hall_in_November,_2017.jpg