หลังจากที่ชม 10 อันดับ สถาปัตยกรรมจากประเทศอังกฤษ วันนี้ถึงคิวของเทรนด์สถาปัตยกรรมบ้าง แต่สำหรับ Part1 ครั้งนี้เราแบ่งเสนอไว้ที่ 5 อันดับก่อนเพื่อไม่ให้บทความยาวจนเกินไป

5 อันดับแรกที่จัดมาครั้งนี้เลือกโดยผู้ช่วยกองบรรณาธิการ India Block หลายตัวในนี้เราอาจได้เห็นกระแสความเคลื่อนไหวในหน้าข่าวใหญ่ แต่จะมีอะไรบ้างนั้นลองไปดูพร้อมกัน

Notre-Dame reimagined

ถ้าพูดเรื่องข่าวสถาปัตย์ที่ใหญ่ที่สุดของปีและน่าจะถูกจัดอยู่ในไวรัลทั่วโลก ยังไงก็ต้องมีชื่อของมหาวิหารอย่าง Notre-Dame ติดอยู่ในนั้น และหลังจากวุฒิสภาฝรั่งเศสออกมาบอกว่าอยากจะฟื้นคืนวิหารหลังประวัติศาสตร์ สถาปนิกทั่วโลกจึงแห่กันมาแชร์ไอเดียเด็ด ทั้งที่ใช้งานได้จริงล้ำ ๆ หรือขำ ๆ จนกลายเป็นเทรนด์ที่สุดแห่งจินตนาการทั่วโซเชียล

ตัวอย่างจินตนาการที่น่าสนใจหลั่งไหลจากสถาปนิก

  • Concr3de ​​บริษัท ดัตช์แนะนำการ์กอยล์พิมพ์ 3 มิติ
  • Studio NAB มองเห็นเรือนกระจกยักษ์แทนที่หลังคา
  • Fuksas เสนอยอดแหลมที่ทำจากคริสตัลบริสุทธิ์

Reflective Architecture

จากความพังสู่การสร้างบ้าง เทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมอีกอย่างคือการสร้างสถาปัตยกรรมสะท้อนแสง ลูกเล่นแบบนี้ที่ใส่ไว้ในสถาปัตย์เราเริ่มเห็นเยอะในปีนี้ ทั้งจากฝั่งยุโรปและเอเชีย เช่น

ผลงานของ Doug Aitken สถาปนิกที่หุ้มบ้านทั้งหลังใน Swiss Alps ในกระจก เรียกว่า Mirage นำเสนอภาพลวงตาที่ผนังสะท้อนภูเขาหิมะในขณะที่การตกแต่งภายในด้วยกระจกสะท้อนแสงคาไลโดสโคป จึงสามารถเห็นภาพที่แตกต่าง มุมมองแปลกใหม่ทั่วทั้งตัวบ้าน

ถัดมาที่ห้างสรรพสินค้า Le Bon Marché กรุงปารีสที่ติดตั้งลูกบาศก์แบบมิเรอร์ที่โรลสเก็ตแบบวงกลมซึ่งได้รับการออกแบบโดยความร่วมมือระหว่าง MANA ที่เป็นผู้ฝึกฝนสถาปัตยกรรมของชิคาโกและ Scott Oster โปรเจกต์นี้เราจะรู้สึกเหมือนนักสเก็ตเล่นอยู่กลางอากาศเพราะภาพสะท้อนลวงตาจากกระจก ด้วยความสวยงามและความโดดเด่นแปลกตาทำให้โปรเจกต์นี้ไม่เพียงจัดอยู่ในเทรนด์การออกแบบปี 2019 แต่ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นร้านค้าปลีกที่ได้รางวัล Dezeen Awards ควบไปด้วย

ปิดท้ายหลังจากสะท้อนแบบกระจก เปลี่ยนเป็นสะท้อนด้วยโลหะบ้าง ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานจากบริษัทสตูดิโอ MAD ในปักกิ่งที่สร้างสถาปัตยกรรมคล้ายลูกโป่ง 2 ลูกหุ้มด้วยสแตนเลสสะท้อนภาพรอบข้างและสะท้อนแสงที่ตกกระทบ ทำให้สถาปัตย์ดูแปลกตาและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง

Unpaid internships controversy

เรื่องนี้เป็นกระแสที่อยู่นอกการสร้างแต่ยังเป็นประเด็นเดือดทางสังคมของสถาปนิกที่ลุกมาเรียกร้องให้กับนักศึกษาฝึกงาน เมื่อ Adam Nathaniel Furman เดือดดาลและกล่าวแสดงความไม่พอใจโจมตี Junya Ishigami เรื่องการรับสมัครนักศึกษาฝึกงานโดยมีเงื่อนไขไม่เป็นธรรม ไม่มอบค่าจ้างให้ ดังนั้น เขาจึงไม่ควรได้รับรางวัลหรือเข้าร่วมโปรเจกต์อันทรงเกียรติหรือไม่ควรเข้าร่วมโปรเจกต์อื่น และปลุกกระแสตั้ง #archislavery สำหรับกระตุ้นเรื่องนี้

ทีเด็ดอยู่ที่หลักฐานที่เขางัดขึ้นมาคือเงื่อนไขการสมัครจากสตูดิโอ Junya Ishigami ด้วยข้อเรียกร้องเกินพอดีหลากเหตุผล

– นักศึกษาฝึกงานต้องใช้ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของตัวเองเวลาทำงานในสำนักงาน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์เวลา 11.00 น. – 24.00 น.

– อินเทิร์นต่างประเทศต้องรับผิดชอบค่าวีซ่าเอง หากได้รับเลือก

กลับกันอีกแง่มุม Karim Rashid ก็แย้งว่าไม่ควรจ่ายเงินให้อินเทิร์นหรอก เพราะเงินจำนวนนี้มันเทียบไม่ได้กับการที่สตูดิโอจะจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเข้ามหาวิทยาลัยกว่าพันดอลลาร์ เรียกได้ว่าเป็นหลากทรรศนะที่คนออกมาตั้งข้อถกเถียงกันจริงจัง

Playgrounds

งานโครงสร้างเป็นเรื่องจริงจัง แต่กระแสที่นำมาใช้ในปีนี้มาจากเรื่องเล่น ๆ ตลอดปีนี้เราเห็นทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตกแต่งพื้นที่ให้เป็นสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กและผู้ใหญ่มาทั้งปี เพราะเชื่อว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ปลุกความคิดสร้างสรรค์ให้กับคนที่แวะเวียนมาใช้งาน

ตัวอย่างของพื้นที่เล่นที่น่าสนใจที่ Dezeen เขายกมา งานชิ้นนี้สีสันสดใสกระแทกตาเป็นผลงานของดีไซเนอร์ Yinka Ilori ที่ได้รับเชิญให้มาออกแบบถึงงานอันทรงเกียรติอย่างเทศกาล Cannes Lions เพื่อสร้างจุดประสงค์ “เข้าถ้ำล้วงอินเนอร์ความเป็นเด็ก” ด้านในจึงเต็มไปด้วยทรงเรขาคณิตและสีสันมากมายสำหรับ Pinterest และมีเครื่องเล่นที่เราคุ้นเคยทั้งไม้กระดานหกและม้าหมุนที่มองเห็นก็รู้ว่าบันเทิงชัวร์

นอกจากผลงานชิ้นนี้แล้วสไตล์เรขาคณิตยังได้รับความนิยม ขยายไปสู่งานแนวสนามเด็กเล่นประเภทอื่นด้วย เช่น ผลงานของ Olivier Vadrot ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสที่สร้างประติมากรรมสนามเด็กเล่นกลางแจ้งใน La Passerelle เพื่อเป็นโปรเจ็กต์ที่สามารถทำได้ทั้งการเล่าเรื่องและสร้างปฏิสัมพันธ์ในคราวเดียวกัน

Architects focus on climate change

ปิดท้ายอันดับ 5 ด้วยเทรนด์สถาปัตยกรรมที่เป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญของโลก “Climate Change” หรือปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ สำหรับเรื่องนี้เรามองว่ามันจะยิงยาวไปจนถึงปีหน้าและปีต่อ ๆ ไปเพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลุกมาแสดงบทบาทในการดูแลโลก ซึ่งส่วนหนึ่งต้องเริ่มจากผู้ทรงอิทธิพลที่สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ก่อนคือนักออกแบบทั้งหลาย

กระแสนี้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่กลุ่มนักออกแบบชื่อดังผู้ได้รางวัล Striling Prize รวมทั้ง Zaha Hadid Architects, David Chipperfield Architects and Foster + Partners ประกาศสภาวะฉุกเฉินทางชีวภาพและเรียกร้องให้ผู้คนลดพฤติกรรมที่ทำลายโลก

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สตูดิโอหลายแห่งจึงเริ่มเคลื่อนไหวด้วยการลดอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือที่สร้างคาร์บอนหรือก่อผลกระทบในเดือนกันยายน และยังสร้างกลุ่มเครือข่ายสถาปนิกที่ลุกมาทำอะไรบางอย่างกับสิ่งนี้ เช่น Studio Bark เริ่มลุกมาออกแบบอาคารที่ใช้โมดูลาร์ง่าย ๆ ในการสร้างเพื่อลดปัญหาการสูญพันธุ์ทางชีวภาพ

อาคาร Bloomberg ของ Foster + Partners ที่ออกแบบโดยได้รับมาตรฐานระบบประเมินอาคารสีเขียว (BREEAM) ระดับสูงสุด
ผลงานอาคาร Powerhouse Brattørkaia ของ Snøhetta ที่ออกแบบมาเพื่อลดคาร์บอน

ไม่เพียงเท่านี้ Foster + Partners สตูดิโอระหว่างประเทศของอังกฤษยังออกมาให้คำมั่นเรื่องการสร้างอาคารสำนักงานของตัวเองด้วยว่าจะควบคุมปริมาณค่าคาร์บอนที่ใช้ในการก่อสร้างให้เป็นกลางภายในปี 2573 ส่วน Snøhetta บริษัทสถาปัตยกรรมนานาชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศนอร์เวย์ยิ่งล้ำกว่าด้วยการให้สัตยาบรรณว่าจะออกแบบอาคารลดคาร์บอนภายในอีก 20 ปีข้างหน้า

ปรากฏการณ์ทั้ง 5 เรื่องแรกแม้จะเริ่มต้นจากภายนอก แต่สำหรับประเทศไทยเรานี่เป็นเรื่องน่ารู้ของชาวสถาปนิกเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงเท่านั้นรูปแบบหนึ่งที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นเรื่องการคิดค้นนวัตกรรมทางวัสดุ โครงสร้างต่าง ๆ ที่พวกเราชาว BuilderNews สนใจอย่างแน่นอน เชื่อว่าปีหน้าคงมีอะไรสนุก ๆ ให้เราได้ติดตามกัน

อย่าลืมติดตามอีก 5 เทรนด์ที่เหลือที่เรานำมาฝาก แล้วคุณจะรู้ว่าความเคลื่อนไหวระดับโลกกระเพื่อมแล้ว เราอย่ามัวแต่รอไหลตามต้องรีบปรับตัวเพื่อเท่าทันและประยุกต์ใช้เช่นกัน

 

อ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูล

https://www.dezeen.com/2019/12/16/top-10-architecture-trends-2019/

Previous articleเติมเต็มเรื่องดี ดีในทุกจังหวะการก้าวด้วยความมั่นใจ
ไปกับกระเบื้อง COTTO Well-Being Collection
Next articleAmerican Standard Clearance Sale จัดหนัก 5 วันเต็ม 13 – 17 ม.ค. 63 ลดสูงสุด 90%
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ