1. คิดดี..ทำดี…ทำทันที….ไม่ต้องรีรอ
เมื่อเห็นว่าสิ่งที่ตนเองคิด วิเคราะห์ และไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าเป็นเรื่องดีที่ควรกระทำทั้งต่อตนเอง ต่อองค์กร หรือต่อสังคมก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากและส่วนรวม หากจะทำความลำบากแก่เราไปบ้าง ใช้เวลาไปบ้าง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เราควรทำทันที โดยไม่ต้องรอว่าจะมีใครมา (อยาก) ทำด้วยหรือไม่ หรือรอดูว่ามีคนจะกระทำตามหรือเปล่า หรือแม้แต่คิดต่อไปถึงว่าเมื่อทำแล้วจะทำให้เราได้รับผลประโยชน์อย่างไร เหล่านี้ จงมั่นใจและยึดมั่นในความถูกต้องในการกระทำดังกล่าวโดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคทั้งจากการกระทำเองหรือจากบุคคลใด ๆ เพราะในการเริ่มต้นกระทำการต่างๆ นั้นย่อมจะมีแรงเสียดทานมากหรือน้อยเกิดขึ้นเสมอ ตัวเราจะต้องเป็นต้นแบบและตัวอย่างเพื่อลงแรงเอาชนะแรงเสียดทานนั้นก่อน แล้วความพยายามของเรานั้นจะกลายเป็นต้นแบบแห่งการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ในการกระทำกรรมดีนั้น ๆ จนสำเร็จลุล่วง เมื่อผลลัพธ์แห่งกรรมดีปรากฏผลขึ้นย่อมมีผู้เห็นประโยชน์และร่วมกระทำสิ่งดังกล่าวมากขึ้นในที่สุด
ถ้าเราตระหนักว่าโอกาสดีๆ ในชีวิตไม่เดินมาหาเราบ่อย ๆ ดังนั้น หากท่านมีโอกาสในการกระทำเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ผู้อื่นหยิบยื่นให้ หรือเป็นโอกาสที่สร้างขึ้นมาด้วยตนเองก็ตาม จงยิ้มรับโอกาสและความรับผิดชอบนั้นเสมอ พร้อมกับตั้งใจรับโอกาสนั้นและปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบให้เต็มที่ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาขณะนั้น เราอาจจะยังไม่มีความพร้อมเพียงพอหรือคิด (ไปเอง) ว่าพร้อมหรือไม่ก็ตาม และขอให้เราระลึกเสมอว่าโอกาสที่ดีในชีวิตจะไม่เกิดขึ้นกับเรามากกว่าหนึ่งครั้งในทุก ๆ เรื่อง
2. เมื่อคิดไม่ออก…ก็ให้ออกจากคิด
ในชีวิตประจำวันของคนเราย่อมมีปัญหามากมายรอให้เราคิดแก้ไขเป็นรายวันอยู่เป็นปกติวิสัย แต่หากมีปัญหาบางปัญหาที่เราได้คิดและพินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้านแล้ว ก็ยังไม่สามารถแก้ได้ในขณะนั้นหรือ ‘คิดไม่ออก’ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวลกันจนเกินไป เราสามารถ ‘ออกจากคิด’ เพื่อหยุดคิดแก้ปัญหานั้นเสียชั่วขณะแล้ว หันเหสมาธิไปที่เรื่องอื่นเป็นการชั่วคราวเพื่อทำให้ปัญหานั้นตกผลึกมากขึ้น ระยะเวลาและการถอยจากปัญหาจะทำให้เราได้มองปัญหาดังกล่าวได้อย่างถี่ถ้วนรอบด้านได้มากขึ้น เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาหรือสถานการณ์ที่เหมาะสมเราย่อมมีทางแก้ไขปัญหานั้นอย่างสวยงามเสมอ หรือหากเรามองในแง่ดีอาจกล่าวได้ว่าบางทีในขณะที่เราแก้ไขปัญหาบางอย่างไม่ได้นั้น ‘ฟ้า’ หรือ ‘โชคชะตา’ อาจจะบอกเป็นนัยว่าเรายังไม่พร้อมที่จะแก้ไขปัญหายากๆ ให้สำเร็จก็เป็นได้ และเมื่อถึงเวลาอันเหมาะควร ‘ฟ้า’ หรือ ‘โชคชะตา’ ก็จะทำให้เราแก้ไขสิ่งนั้นให้ลุล่วงไปได้
หากพิจารณาการกระทำดังกล่าวกับหลักพุทธธรรม จะพบว่าภาวะการติดกับความคิด (ที่คิดไม่ออก) อยู่อย่างยาวนาน จะเป็นการกระทำให้จิตนั้นขุ่นมัวมากขึ้นๆ จนไม่สามารถเข้าสู่หนทางแห่งการแก้ปัญหาหรือเกิดปัญญาแต่อย่างใด หากเราหยุดคิดหรือออกจากความคิดไปชั่วเวลาหนึ่ง จะทำให้ภาวะจิตที่ขุ่นมัวตกตะกอนหรือคืนสู่ภาวะปกติจนเกิดปัญญาในการแก้ปัญหาขึ้นมาได้อย่างแน่นอน (อ้างอิงจากหลักพุทธธรรมจากพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ)
3. พร้อมทำงานได้ทันที…ไม่ต้องมี Warm Up
หลอมตัวเองกับสิ่งที่กระทำจนไม่มีระยะห่างระหว่างตัวเรากับการทำงานหรือการเรียนถ้าเราสามารถปรับจิตใจและสมองของเราให้มีความพร้อมในการทำงานหรือการเรียนได้ทันทีเมื่อถึงเวลาที่กำหนด และยังกระทำได้ตลอดเวลาที่เราต้องการได้เหมือนกับการเปิด-ปิดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือ Mode Auto Focus ของกล้องถ่ายภาพที่ถ่ายภาพได้อย่างคมชัดได้ทุกสถานการณ์ โดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับการรอให้ตัวเองต้องมีความพร้อมในการทำงานก่อนจึงจะทำงานได้หรืออ้างสภาพลมฟ้าอากาศ หรือต้องรอเหตุผลอื่นใดให้เอื้ออำนวยต่อการทำงานของตนเอง ก็จะเป็นการลดเวลาที่เสียเปล่าของเราในแต่ละวันลงอย่างมากมาย เพราะโดยแท้จริงสมองและจิตใจของเราไม่จำเป็นต้องอาศัยการ Warm Up หรืออบอุ่นเหมือนการเล่นกีฬาแต่อย่างใด เพียงแต่เรากำหนดจิตใจหรือควบคุมสติให้มีความพร้อมในการกระทำการใดๆ ได้ทันทีเท่านั้นเอง นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เราใช้เศษเวลาว่างเล็กๆ น้อยๆ ในระหว่างวัน ไม่ว่าจะเป็น 15 นาที 20 นาที ที่เกิดขึ้นจากการรอประชุม รอเวลานัด ทำงาน คิดงาน และกระทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับชีวิตเราได้มากขึ้น
ในสภาพการทำงานโดยทั่วไป เรามักต้องมีสถานที่และบรรยากาศแวดล้อมที่เงียบสงบเอื้อต่อการใช้สมอง ใช้สมาธิ เพื่อจดจ่ออยู่กับงานที่ตนเองทำ อย่างไรก็ตามในชีวิตประจำวันของเราย่อมไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขสภาพแวดล้อม การทำงานได้ดีพร้อมตามที่เราต้องการเสมอไป หรือเราอาจจำเป็นต้องใช้สถานที่ทำงานชั่วคราวในสถานที่และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ แต่หากเมื่อเรามีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเรียนหรือสถานการณ์อื่นใด เราจะพบว่าตัวเรากับสิ่งนั้นจะสามารถผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ออก สภาพแวดล้อมหรือสิ่งเร้าต่าง ๆ รอบข้าง เช่น เสียงคน ยานพาหนะ เสียงดนตรี ฯลฯ ที่จะเข้ามาทำลายสมาธิหรือรบกวนสมองของเราก็จะมีค่าเท่ากับ 0 ในการรับรู้ของเรา ดังนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานที่ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการมีสมาธิในลักษณะใด ๆ เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร ศูนย์การค้า ร้านกาแฟ แบรนด์เนม เราก็ยังสามารถทำงานคิดวางแผน อ่านหนังสือ และทำอย่างอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
(ที่มาข้อมูล : ความลับของสมอง : เรียนอย่างไรให้สมองมีความสุข. Kenichiro Mogi แปลโดย บัณฑิต โรจน์อารยานนท์ สำนักพิมพ์ สสท., กรุงเทพฯ, 2552. หน้า 60-62.)
นิตยสาร Builder Vol.35 SEPTEMBER 2016