ภาวะขาดแคลนน้ำ เป็นวิกฤติที่หลายประเทศกำลังเผชิญขณะนี้ ส่งผลให้ทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากยิ่งขึ้น เพราะน้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งยังสำคัญต่อการปลูกพืชผลทางการเกษตร เช่นเดียวกับประเทศอิหร่าน ที่มีภูมิอากาศแห้งแล้ง สลับกับกึ่งแห้งแล้ง ด้วยเหตุนี้ บริษัทสถาปนิก BMDesign Studios ในประเทศอีหร่าน จึงออกแบบนวัตกรรมหลังคารูปชามหงาย ซ้อนทับหลังเดิม เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่แห้งแล้ง ช่วยเก็บกักน้ำยามฝนตก และทำให้เกิดความเย็นตามธรรมชาติ
หลังคารูปชามหงาย ได้รับการออกแบบเชิงวิศวกรรมสำหรับสภาพแวดล้อมที่มีความแห้งแล้ง ไว้สำหรับเก็บน้ำฝน เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยสถาปนิก BMDesign Studios วาดแผนติดตั้งหลังคานี้ที๋โรงเรียนประถม เมืองเคอร์แมน เป็นที่แรก ซึ่งจะทำในรูปแบบของหลังคาสองชั้น คือการสร้างหลังคาหงายซ้อนทับหลังคาแบบนูน (หลังคาเดิมของโรงเรียน) โดยความเว้าของหลังคาถูกออกแบบมาให้ช่วยเก็บสะสมน้ำฝนที่ไหลลงมาตั้งแต่ปริมาณน้อยที่สุด จนได้ปริมาณที่มากพอที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ ทั้งยังก่อให้เกิดลมธรรมชาติพัดผ่าน ทำให้พื้นที่บริเวณโดยรอบเย็นสบาย สถาปนิกคาดการณ์ไว้ว่า หลังคานี้จะสามารถเก็บสะสมน้ำได้ประมาณ 28 ลูกบาศก์เมตร
“หลังคาด้านบนจะใช้เป็นที่กำบังแดดให้กับหลังคาชั้นล่าง ขณะเดียวกันก็ช่วยให้อากาศกระจายตัวได้อย่างทั่วถึง ส่วนหลังคาชั้นล่าง ก็เป็นตัวที่ได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์โดยตรงไม่ว่าเวลาใดก็ตาม” ทีมสถาปนิกอธิบาย
พวกเขากล่าวต่อไปว่า “เทคนิคหลังคารูปชามหงายจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความแห้งแล้งเช่นเดียวกับประเทศอิหร่าน ซึ่งนับเป็นวิธีอันชาญฉลาดที่จะใช้ต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ผ่านการจัดหาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน”
การออกแบบโรงเรียนแห่งนี้ยังมีถังเก็บน้ำฝน ตั้งอยู่ระหว่างผนังอาคาร 2 ด้าน ที่จะช่วยให้อาคารได้รับความเย็นสบาย นำไปสู่การลดการใช้เครื่องปรับอากาศ เพื่อการประหยัดพลังงาน นอกจากนี้หน้าต่าง ประตู และสนามหญ้าที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน ก็ช่วยควบคุมความร้อนไม่ให้เข้าสู่ด้านในอาคารมากเกินไป