บนโลกที่เรายืน บนพรมที่เราเหยียบ เรามองเห็นอะไรบ้าง? ทำอะไรเพื่อมันบ้าง

Alexandra kehayoglou หญิงสาวเจ้าของผลงานพรมที่มองผ่านตาครั้งแรกเราอาจจะยังไม่กล้าเหยียบ เพราะมันดูเหมือนผืนดินแตก ๆ ที่แทรกสีเขียวจากต้นพืช ดูไปอาจจะคล้ายมอสหรือตะไคร่ แต่ถ้าถอยมาลองพิจารณาให้ดีเต็มผืนอีกที เราจะพบว่ามันคือภาพทางอากาศของโลกใบนี้ที่กำลังต้องการการดูแลต่างหาก

เท่าที่เราเห็นผลงานของศิลปินและสถาปนิกส่วนใหญ่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง คือการนำความถนัดที่ตัวเองมีมาใช้เป็นกระบอกเสียงเพื่อการอนุรักษ์โลกใบนี้ Alexandra เองก็เป็นหนึ่งคนที่ทำงานที่เธอถนัด โดย Mix ระหว่างงานแนว Textile กับงานประติมากรรมเข้าด้วยกัน โดยการใช้เทคนิคปักด้วยมือ (Hand Tufted) ร่วมกับเครื่องจักรที่จัดตั้งเฟรมไว้ในแนวตั้ง ถ่ายทอดผลงานเพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้คนที่พบเห็น

ผลงานเหล่านี้ทำให้ Alexandra kehayoglou กลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงเรื่องการต่อต้านการทำลายป่าไม้

คอลเลกชัน “Prayer Rugs” นี้ประกอบด้วยพรมขนาดเล็ก 8 ผืนและขนาดใหญ่ 1 ผืน เป็นภาพความทรงจำของเธอที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติที่พบเห็นและเคยไปเยือน เครื่องจักรที่ทำงานพร้อมความคิดทำหน้าที่ผลิตภาพของเมืองที่ใกล้สูญพันธุ์ชิ้นแล้วชิ้นเล่า เพื่อสะท้อนภาพความจริงที่เกิดขึ้นบนโลก

รูปแบบการติดตั้งในแนวนอนทอดตัวยาวเหมือนสี่เหลี่ยมผืนผ้าแต่เรียงไต่สู่ผนังสะท้อนด้านจากด้านล่างสู่ด้านบนทำให้มิติของภาพพรมไม่แบนแต่น่าสนใจยิ่งขึ้น

ราว 2 ปีที่แล้ว พรมเหล่านี้เคยจัดแสดงในงานเทศกาล Triennial ที่ National Gallery of Victoria หรือ NGV ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะในเมลเบิร์น ครั้งนั้นผลงานที่เธอทำคือ การสร้างแม่น้ำ santa cruz จากงาน interactive installation ถ่ายทอดมุมมองส่วนตัวที่เธอเห็นภาพวิกฤตที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการทำลายสิ่งแวดล้อมผ่านน้ำมือมนุษย์ โดยหนึ่งในสัญญาณเตือนที่เด่นชัดจากธารน้ำแข็งที่หายไปในอเมริกาใต้

ภาพผลงานแม่น้ำ santa cruz ที่จัดแสดงภายในหอศิลป์สวยงามเหมือนภาพถ่ายทางอากาศ บางส่วนเห็นพื้นที่สีเขียวประปราย แต่ด้านบนพื้นดินที่ไร้พืชพรรณเริ่มแตกระแหงกระจายเป็นวงกว้าง

ไม่เพียงพรมขนนุ่มที่ปักละเอียดเป็นภาพเหมือนจริงจะชวนให้รักษ์โลกเท่านั้น แต่ชิ้นส่วนที่นำมาถักทอก็ยังรักษ์โลกด้วยเหมือนกัน เพราะศิลปินสาวกล่าวว่าวัสดุที่นำมาผลิตผลงานเหล่านี้ได้มาจากวัสดุเหลือใช้ในโรงงานของครอบครัวเธอซึ่งทำอุตสาหกรรมผลิตพรมมายาวนานกว่า 60 ปี ความใส่ใจรายละเอียดที่ลงลึกทั้งคอนเซ็ปต์และวัสดุที่นำมาใช้น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ความที่ผลงานทุกชิ้นเป็นงานคราฟต์ ความประณีตเหล่านี้จึงไม่สามารถผลิตซ้ำได้ใหม่ เรื่องนี้ก็คล้ายเป็นการสะท้อนความจริงเช่นเดียวกันว่าหากเราไม่ดูแลผืนดินที่แตกระแหงและโดนย่ำทำลายบนโลกใบนี้ มันอาจจะสายเกินกว่าจะพลิกฟื้นให้กลับมาดีดังเดิม

สิ่งที่เราทำได้คือ การลงมือดูแลโลกตามภาวะกำลังของตัวเอง อย่าปล่อยให้ภูมิทัศน์บนดาวสีน้ำเงินที่เราเป็นเจ้าของเหมือนพรมเหล่านี้ที่โดนเหยียบย่ำทำลาย

การตระหนักต่อลมหายใจของโลกและใส่ใจมันไม่ว่าเราจะกำลังทำงานชิ้นใดอยู่ก็ตาม แม้จะเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่หลายคนมองผ่านเพราะมีความยุ่งยาก คล้ายตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่ความยุ่งยากเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์และเป็นหน้าที่ที่เราทุกคนควรมีร่วมกันเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกชีวิตในอนาคต เพราะตราบเท่าที่โลกยังคงแข็งแรง ปลอดภัย พวกเราเองก็จะได้รับการปกป้องจากโลกใบนี้เช่นกัน

ติดตามผลงานพรมชิ้นอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ https://alexandrakehayoglou.com/

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.designboom.com/design/alexandra-lehayoglou-hand-tufted-wool-rug-landscape-09-02-2019/

ภาพประกอบทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของ alexandra kehayoglou

 

Previous article“Spring Tower” อาคารสำนักงานเช่าย่านราชเทวี ดีไซน์ทันสมัยผสานกับงานศิลปะ
พร้อมเปิดใช้พฤศจิกายนนี้
Next articleบางบอน พลาสติค จัดอบรมให้ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ แบรนด์ Nano Electric Product