จากข่าวที่แบงก์ต่าง ๆ ยกขบวนเอาอสังหาฯ มือสองมาลดราคาสูงสุดถึง 40% ในแง่ของผู้บริโภคถือเป็นเรื่องดีที่จะได้เป็นเจ้าของอสังหาฯ ในราคาที่ถูก แถมยังมีโปรโมชันอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0% แต่การแห่ลดราคาแบบนี้อาจส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง
“ภาวะเงินเฟ้อ” แน่นอนว่าในสถานการณ์โลกที่ยังคาดเดาไม่ได้ ส่งผลโดยตรงกับสถาบันการเงิน ซึ่งล่าสุด อัตราเงินเฟ้อก็ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.0% ถึง 7.0% จากที่คาดการณ์ไว้เดิม 3.5% ถึง 5.5% รวมถึง GDP ในไทยที่ขยายตัวในกรอบ 2.75% ถึง 3.5% จากกรอบเดิมที่ 2.5% ถึง 4.0%
สถาบันการเงินที่มีทรัพย์สินรอการขาย (Non-Performing Asset: NPA) ก็เลือกที่จะปล่อยของที่มีอยู่ในมือออก เพื่อถือเงินสด อาจเป็นเพราะกลัวว่าหากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทรัพย์สินเหล่านี้อาจมีราคาที่ต่ำลง จึงเร่งระบายสต๊อกอสังหาฯ ออก
และการที่ครัวเรือนเริ่มรัดเข็มขัดกับการใช้จ่ายมากขึ้น การปล่อย NPA ของบรรดาแบงก์ต่าง ๆ อาจชะลอตัว เพราะถึงแม้ว่าจะมีโปรโมชันที่ล่อตาล่อใจ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจที่จะยังไม่ใช้เงิน หรือยังไม่อยากเพิ่มภาระการเป็นหนี้
หากเรามองภาพใหญ่กว่านั้น เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยสหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง สะท้อนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนและความสามารถในการบริหารต้นทุนของภาคการผลิต ขณะที่ต้นทุนทางการเงินกำลังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ในช่วงครึ่งหลังของปีหากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบต่อราคาพลังงานยังไม่มีคลี่คลาย
แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่หลาย ทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติก็ตาม แต่ปัจจัยเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันดีเซลที่พุ่งสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนการผลิต ,การขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คนยังไม่กล้าใช้เงินมากนัก ภาครัฐจึงควรเข้ามาช่วยเหลือ เร่งรัดใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้า เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
ถึงแม้โครงการแนวราบและแนวสูงจะเริ่มส่งสัญญาณที่ดี แต่ยังไงก็ต้องติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัว บวกกับสถานการณ์โลกที่ยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย ทำให้เราอาจต้องเผชิญกับสภาวะใช้เงินอย่างประหยัดกันต่อไป จนกว่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่เห็นชัดมากกว่านี้
ภาพจาก: kasikornbank