เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีนวัตกรรมการนำเศษผ้ามาผลิตเป็นอิฐด้วยเทคโนโลยีเฉพาะอย่าง “FabBRICK” จากแนวคิดที่ว่าต้องการนำผ้าที่ใช้งานไม่ได้แล้วมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่นเดียวกันกับนวัตกรรมในวันนี้ซึ่งทาง BuilderNews ได้นำมาให้ทุกคนไปทำความรู้จักกัน
นวัตกรรมดังกล่าวคือ “Plastic Bricks” หรืออิฐที่ได้จากกระบวนการแปรรูปขยะพลาสติกนั่นเอง โดยผู้ที่คิดค้นไอเดียเก๋ ๆ นี้คือ “Nzambi Matee” นักลงทุนและธุรกิจสาวชาวไนโรบีอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจ Startup อย่าง “Gjenge Makers ltd” ที่ทำการผลิตอิฐที่ได้จากการรีไซเคิลขยะพลาสติกซึ่งมีความแข็งแรงมากกว่าคอนกรีตเสียอีก!
ธุรกิจของเธอเริ่มต้นจากการพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบที่เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นหินปูพื้น ในหนึ่งวันโรงงานจะผลิตพลาสติกปูพื้นได้ถึง 1,500 ชิ้น ทำให้โรงงานแห่งนี้ไม่เพียงแต่ผลิตอิฐที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังราคาไม่แพงอีกด้วย
“เอาจริง ๆ ไม่ควรจะยังคงมีปัญหาในการจัดหาที่พักพิงที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ เพราะมันคือความต้องการขั้นพื้นฐาน” Matee กล่าว “ยังมีความเข้าใจผิดในการใช้พลาสติก และใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์อยู่ ทั้งที่ความเป็นจริงมันมีศักยภาพมหาศาล แต่ศักยภาพหลังการใช้งานเสร็จแล้วของมันกลับกลายเป็นหายนะ”
“พวกเราต้องคิดกันใหม่ว่าจะผลิตผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและจัดการกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้เมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานอย่างไรเพื่อให้ไม่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม” Soraya Smaoun ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการผลิตทางอุตสาหกรรมกับ UNEP กล่าว “นวัตกรรมของ Nzambi Matee ในภาคส่วนของการก่อสร้างทำให้เห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ เมื่อเราเปลี่ยนจากเศรษฐกิจเชิงเส้น หรือการผลิตที่ได้ผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ให้กลายเป็นเศรษฐกิจแบบวงกลม กล่าวคือผลิตผลิตภัณฑ์ที่จะอยู่ในระบบได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้”
จนถึงตอนนี้ Gjenge Makers ltd. ได้ทำการรีไซเคิลขยะพลาสติกไปผลิตเป็นก้อนอิฐไปแล้วมากกว่า 20 ตัน ซึ่งทำให้ได้พื้นทางเดินหลากสี ได้แก่ สีแดง สีน้ำเงิน สีน้ำตาล และสีเขียว ซึ่งนอกจากมันจะแข็งแรงมาก ๆ แล้ว (ผ่านการทดสอบแล้วว่ารับน้ำหนักได้มากกว่าอิฐคอนกรีตถึง 2 เท่า) บริษัทนี้ยังได้สร้างโอกาสในการทำงานถึง 112 งานให้แก่พนักงานเก็บขยะ ผู้หญิงและคนรุ่นใหม่อีกด้วย
ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นวัสดุก่อสร้างที่ผลิตจากขยะรีไซเคิลที่ไม่ใช่แค่ผ้าและพลาสติกอีกต่อไป ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นอยู่ภายใต้แนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าได้อีกด้วย ซึ่งถ้าใครมีไอเดียใหม่ ๆ ยังไงก็ลองคิดค้นดู ไม่แน่คุณอาจร่ำรวยมหาศาลจากมันก็ได้!
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.designboom.com/technology/gjenge-makers-recycled-plastic-bricks-kenya-02-08-2021/