ในบรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือในอดีต ‘นครน่าน’ หรือจังหวัดน่านในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในนครของวันวานที่มีเรื่องราวที่น่าจดจำเป็นของตัวเอง พื้นที่หลายแห่งในจังหวัดเล็กๆ แห่งนี้จึงอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความทรงจำ ทั้งที่รับรู้ได้จากเรื่องเล่าขาน และสิ่งปลูกสร้างที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบันซึ่ง ‘โฮงเจ้าฟองคำ’ ทีมี่โอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนในครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีลมหายใจ
จากอดีต ‘น่าน’ เป็นหัวเมืองเหนือที่มีประวัติศาสตร์ของตัวเองมายาวนาน หลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่านครน่านเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเรื่อยมาตามยุคสมัย กระทั่งเป็นหนึ่งในหัวเมืองประเทศราชขึ้นตรงต่อราชอาณาจักรสยาม จนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ขึ้นเป็นพระเจ้านครน่าน
สำหรับโฮงเจ้าฟองคำนั้น เดิมทีเป็นที่พำนักของเจ้าศรีตุมมา (หลานของเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่านลำดับที่ 11) กับเจ้ามะโน (พระอนุชาในพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช) ต่อมาจึงตกทอดมาถึงเจ้าบุญยืน ผู้เป็นธิดา เดิมทีโฮงหรือเรือนหลังนี้ตั้งอยู่บนที่ดินใกล้กับคุ้มแก้ว ซึ่งเป็นที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครน่าน จนถึงยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ทางการสยามต้องการใช้พื้นที่นั้นสำหรับทหาร เจ้าบุญยืนจึงได้ย้ายโฮงมาสร้างอยู่บนที่ดินผืนปัจจุบัน จนต่อมาตกทอดมาถึงเจ้าฟองคำ ผู้เป็นธิดาของท่านกับเจ้าอินต๊ะ และตกทอดมาถึงบุตรหลานในปัจจุบัน
คำว่า ‘โฮง’ นั้นเป็นคำที่ชาวน่านใช้เรียกหมู่เรือนขนาดใหญ่ ซึ่งต่างจากชาวเชียงใหม่ที่จะใช้คำว่า ‘คุ้ม’ แต่ทั้งนี้ก็มิได้ใช้คำว่า ‘เฮือน’ หรือเรือนเนื่องจากขนาดและความพิเศษที่แตกต่างจากเรือนชานของชาวบ้านทั่วไป โฮงเจ้าฟองคำแห่งนี้สร้างขึ้นโดยมีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมล้านนาเป็นเรือนไม้สักขนาดใหญ่และเชื่อมหมู่เรือนเข้าด้วยกัน ในวัยสาวเจ้าฟองคำได้ถวายงานอยู่ในคุ้มราชบุตร ในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเนื่องจากเชี่ยวชาญในด้านงานทอผ้าและงานปักจนเมื่อออกเรือนจึงได้พำนัก ณ โฮงแห่งนี้ตราบจนถึงแก่พิราลัย
ในปัจจุบันนี้ โฮงเจ้าฟองคำได้รับการบูรณะและปรับปรุงหลายโอกาส โดยได้ปรับเปลี่ยนในส่วนของหลังคา รวมถึงเปลี่ยนเรือนที่เคยเป็นยุ้งฉางในอดีตปรับให้เป็นห้องจัดแสดงของสะสม แต่ทั้งนี้หลายพื้นที่ของโฮงแห่งนี้ยังคงถูกรักษาสภาพไว้ให้เหมือนเมื่อครั้งที่เจ้าฟองคำยังคงใช้ชีวิตอยู่ เนื่องจากเป็นมากกว่าที่พำนักหากแต่โอบกอดประวัติศาสตร์ยาวนานเอาไว้ที่นี่ด้วย อีกทั้งเจ้าฟองคำเองก็ปรารถนาให้บุตรหลานคงรักษาโฮงนี้ให้อยู่ดังเช่นเดิม
โฮงเจ้าฟองคำแห่งนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์อาคารดีเด่น ประเภทอาคารเคหะสถานและบ้านเรือนเอกชน จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผู้มาเยือนน่านไม่ควรพลาดไปเยี่ยมเยียน นอกจากเข้ามาซึมซับวิถีของวันวานผ่านสิ่งปลูกสร้างซึ่งเสมือนอดีตที่มีลมหายใจแล้ว ยังจะได้เรียนรู้การทอผ้าพื้นเมืองผ่านศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าพื้นเมืองภายในโฮงเจ้าฟองคำแห่งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาจากอดีตที่ทรงคุณค่าและควรค่าแก่การอนุรักษ์ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเยี่ยมชมพร้อมสอบถามข้อมูลจากไกด์นำชมได้ตลอดเวลา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่สามารถสนับสนุนค่าบำรุงสถานที่ได้ตามกำลังศรัทธา หรืออาจซื้อหาผ้าทอมือไว้แทนความทรงจำ แค่นี้ก็เสมือนได้สัมผัสอดีตของน่านแล้ว
นิตยสาร Builder Vol.32 JUNE 2016