โครงสร้างอาคารทั้งหลายของคุณกำลังอยู่ในอันตรายจากฝนตกหนักและพายุพัดถล่มอยู่หรือเปล่า? นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยมีคำตอบ
หลังเหตุการณ์พายุฝนพัดถล่มจนหลังคาและกำแพงของอาคารในสนามบินดอนเมืองเสีบหายไปบางส่วนเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ได้ถอดบทเรียนมาเป็น 6 ปัจจัยเสี่ยง เพื่อป้องกันการเสียหายจากความรุนแรงของพายุฤดูร้อนที่มีอยู่ในช่วงเวลานี้ ได้แก่
- ช่วงเวลาที่มักเกิดพายุฤดูร้อนคือช่วงเดือนเมษายน หรือช่วงก่อนเริ่มฤดูฝน ความแปรปรวนในกระแสลมทำให้พายุนี้มีความรุนแรงมาก จนอาจสร้างแรงกระทำต่อโครงสร้างได้มากกว่าแรงลมทั่วไป 2 ถึง 3 เท่า
- พายุฝนฟ้าคะนองเกิดจากการมีอากาศร้อนอบอ้าวหรือความกดอากาศต่ำติดต่อกันหลายวันจนมีมวลอากาศเย็นหรือความกดอากาศสูงพัดมาปะทะ ทำให้อากาศแปรปรวนรุนแรง
- โครงสร้างที่มีพื้นผิวหรือพื้นที่ปะทะแรงลมมากสามารถเกิดความเสียหายได้แม้ในช่วงเวลาสั้น ๆ จากความรุนแรงของพายุฤดูร้อน
- โครงสร้างที่ยึดกับฐานรากไม่แข็งแรง หรือ ป้ายโฆษณาและหลังคา มักอ่อนไหวต่อพายุฤดูร้อน
- มาตรฐานค่าแรงลมที่คำนึงถึงพายุฤดูร้อนเพิ่งเริ่มในปี 2550 ค่าแรงลมที่ใช้ออกแบบก่อนหน้านั้นอาจไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับพายุฤดูร้อน แม้เป็นการออกแบบตามกฎหมายควบคุมอาคารที่คำนึงเฉพาะแรงลมทั่วไป
- น้ำหนักน้ำก็เป็นสาเหตุที่ทำให้โครงสร้างหลังคาวิบัติได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่หลังคากว้าง ควรจัดการการระบายน้ำฝนที่มากับพายุฤดูร้อนไม่ให้เกิดการท่วมขัง
Source
– khaosod