ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการดำเนินการซึ่งกำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ นับเป็นความก้าวหน้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี อันส่งผลให้การวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ของมนุษย์เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อสุขภาพมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการช่วยชีวิตสัตว์ด้วยเช่นกัน
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ค้นพบวิธีนำเอาเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ มาพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็น สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกกันว่า ‘heart-on-a-chip’ ซึ่งจะช่วยให้การนำสัตว์มาทดลองในการวิจัยทางการแพทย์นั้นไม่จำเป็นอีกต่อไปในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น นวัตกรรมที่ทีมวิจัยนี้ค้นพบ ยังช่วยให้ทีมวิจัยสามารถเห็นถึงการทำงานของหัวใจมนุษย์ได้ โดยนับเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ชิ้นใหม่ล่าสุดซึ่งจำลองการทำงานของอวัยวะมนุษย์ เพื่อทำความเข้าใจถึงหลักการทำงานที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะในกรณีที่อวัยวะทำงานได้ดีหรือล้มเหลวก็ตาม
อวัยวะจากเครื่องพิมพ์สามมิติ หรือ ‘organ-on-a-chip’ นี้ทำจากพอลิเมอร์โปร่งแสงและยืดหยุ่น จำลองบรรยากาศการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย ทั้งยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการวิจัยเห็นภาพการทำงานนั้น ๆ ได้อย่างใกล้ชิด ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผลงานวิจัยนี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังช่วยให้เหล่านักวิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อการศึกษาวิจัยในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป และเนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตผลงาน เป็นเครื่องพิมพ์สามมิติที่ใช้เวลาพิมพ์อย่างรวดเร็ว นักวิจัยจึงสามารถครีเอทดีไซน์ได้ตามความต้องการของตน
นอกจากนี้ ทีมวิจัยอื่น ๆ ของฮาร์วาร์ด ยังได้ทำการพัฒนาระบบ microphysiological system ซึ่งเป็นระบบเดียวกันกับที่ใช้ผลิตผลงานชิ้นนี้ โดยผลิตสิ่งประดิษฐ์ที่เลียนแบบทั้งส่วนประกอบของอวัยวะและหน้าที่การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ปอด หัวใจ ลิ้น และลำไส้ ซึ่งการนำเอาผลงานจากการวิจัยเหล่านี้มาใช้แทนการทดลองจากสัตว์ ผลที่ได้จะมีความแม่นยำและถูกต้องกว่า แต่ที่น่าเสียดายก็คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับการผลิตนั้นยังคงสูงอยู่ รวมทั้งวิธีการผลิตก็กินเวลานานพอสมควร
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังคงเดินหน้าพัฒนาวิธีการนี้ต่อไป โดยหวังว่าจะใช้เป็นทางเลือกให้แก่ผู้สนใจเพื่อนำไปใช้ทดแทนการนำสัตว์มาใช้ในห้องทดลองอย่างโหดร้าย
Images: Harvard University
Source: inhabitat