ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมเราทุก ๆ วัน ทว่าในปีนี้กลับมีตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ อย่างก้าวกระโดดจนมนุษย์ สังคม รวมไปถึงเทคโนโลยีต้องปรับตัวกันยกใหญ่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทว่านอกจากจะปรับตัวแล้ว บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยังไม่เพียงแค่รองรับต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้อย่างทันท่วงที ทว่ายังสามารถพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจต่าง ๆ ในอนาคตได้อีกด้วย
บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้ (17 ธันวาคม 2563) โดยเป็นบริษัทผู้พัฒนาหุ่นยนต์สัญชาติไทย ซึ่งในครั้งนี้ได้จับมือกับพันธมิตรอย่าง MQDC (บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย ในการร่วมพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจทั้งในด้านอสังหาริมทรัพย์และด้านอื่น ๆ จนครอบคลุมถึงภาคการบริการทั่วไป หุ่นยนต์ดังกล่าวจะเข้ามาเติมเต็มประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัยและประชาชนทั่วไป
“ไข่ต้ม” ก้าวแรกแห่งความสำเร็จของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
หุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว (Companion/Personal Assistant Robot) ทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่ทำให้การเชื่อมต่อกับทุกสิ่งบนโลกใบนี้เป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยสามารถรับคำสั่งและพูดคุยกับผู้ใช้งานในภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ สามารถเชื่อมต่อกับระบบบ้านอัจฉริยะ (Home Automation) เพื่อสั่งการเปิด/ปิดไฟ รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในที่พักอาศัยได้
นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับวัดค่าสัญญาณชีพต่าง ๆ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพของเจ้าของผู้ใช้งาน และหุ่นยนต์มีกล้องภายในตัว สามารถใช้เป็นกล้องวงจรปิด หรือโทรวีดีโอคอลได้ และมีฟังก์ชันอื่น ๆ ของหุ่นยนต์สามารถตั้งเตือน ตั้งปลุก เล่นเพลง เช็คสภาพอากาศ หรือแม้กระทั่งเปิดบทสวดมนต์ได้! เหมาะสำหรับใช้ในที่พักอาศัยเพื่อเป็นผู้ช่วยผู้ดูแลให้กับผู้ใช้งานได้ในทุกเพศทุกวัย
“เอสอาร์วัน (SR1)” ผู้รักษาความปลอดภัยร่วมกับมนุษย์
หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย เพื่อช่วยเสริมการดูแลความปลอดภัยให้โครงการต่าง ๆ ร่วมกับพนักงานรักษาความปลอดภัย มีระบบเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ได้อัตโนมัติ (Auto-Navigation System) ประกอบด้วยกล้องรอบตัว 360 องศาที่ทำงานร่วมกับกล้องอื่น ๆ ในโครงการ เพื่อเก็บข้อมูลภาพและเสียงที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งยังสามารถตั้งค่าโปรแกรมในการตรวจจับวัตถุต่าง ๆ ตามที่ต้องการ เช่น ใบหน้า สิ่งของ สิ่งมีชีวิต หรืออาวุธ พร้อมทั้งส่งข้อมูลแจ้งเตือนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยรับทราบได้ทันที
นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันการโทรฉุกเฉินที่ผู้อยู่อาศัยหรือผู้คนรอบ ๆ สามารถกดปุ่มเพื่อโทรขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากตัวหุ่นยนต์ได้ในทันที เหมาะสำหรับการใช้งานในโครงการที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่ต้องดูแลรักษาด้านความปลอดภัย
“ปิ่นโต” และ “กระจก” หุ่นยนต์ผู้ช่วยในการรักษาพยาบาลในยุคโควิด-19
“ปิ่นโต (PINTO)” หุ่นยนต์รถเข็นส่งอาหารผู้ป่วย (Quarantine Delivery Robot) ที่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่จากระยะไกลได้ และหุ่นยนต์ “กระจก (MIRROR)” เป็นแท็บเลตใช้สำหรับสื่อสารทางไกล (เป็นการพัฒนาจากไข่ต้มเข้ามาสู่รูปแบบแท็บเลต) สามารถใช้พูดคุยระหว่างคนไข้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ทันที โดยไม่ต้องกดรับสาย และคนไข้สามารถกดเรียกหาพยาบาลได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งช่วยลดทั้งความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส COVID – 19 จากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยตรง
นอกจากนี้ยังดูแลทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคได้ง่าย ไม่ให้สะสมเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่อไปได้อีก โดยหุ่นยนต์ทั้งสองตัวนี้ไม่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องมือหรือโครงสร้างใด ๆ เพิ่มเติม จึงทำให้แพทย์และพยาบาลสามารถใช้งานได้ทันที
เก็บตกงานเสวนา “Living with Robots เมื่อหุ่นยนต์มาอยู่ในชีวิตเรา”
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) กล่าวว่าเมื่อมองย้อนไปในปี 2019 และในอนาคตอีก 3 ปี อุตสาหกรรมหุ่นยนต์จะมีอัตราเติบโต 31% ภายในปี 2564 โดยกลุ่มหุ่นยนต์ที่โตที่สุด คือ กลุ่มหุ่นยนต์ใช้สำหรับงานบริการตามที่อยู่อาศัย (Service Robot) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นส่วนของกระบวนการดิสรัป (Disruption) ของหลากหลายวงการหากก้าวตามไม่ทัน
นอกจากนี้การตอบรับของมนุษย์ต่อการใช้งานหุ่นยนต์ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย จากเดิมทีที่อาจมีการปรับตัวไม่ทันของการรับเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต แต่ดูเหมือนว่าโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้มนุษย์ยอมรับการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันอย่างเทคโนโลยี หรือหุ่นยนต์ได้มากขึ้น จึงถือว่าเป็นโอกาสในวิกฤตที่สำคัญเลยทีเดียว
ซึ่งหากถามว่า “หุ่นยนต์จะมาแทนที่มนุษย์จริงหรือ?” แน่นอนว่าหากมีงานที่เป็นการทำซ้ำ ทำเร็ว หุ่นยนต์สามารถมาแทนมนุษย์ได้ แต่ทว่ากลับเป็นส่วนน้อยของสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพราะอันที่จริงแล้วมีสิ่งที่เรียกว่า “Job Transform” ซึ่งเป็นวิธีการทำงานที่ “เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น” เสียมากกว่า
เมื่อมีหุ่นยนต์เข้ามา เท่ากับโอกาสที่มนุษย์จะได้พัฒนาศักยภาพตนเอง
คุณ สุนทร เด่นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการนำหุ่นยนต์เข้ามาร่วมทำงานนั้น เป็นการทำงานร่วมกันมากกว่าเพราะมันไม่สามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้จริง เรียกว่าเป็นการที่ทำให้มนุษย์ต้องเร่งปรับตัว เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้มนุษย์ได้ตระหนักว่าเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อ พัฒนาทักษะ และ Reskill ของตนเองอยู่เสมอ
ในยุคของ Digital Transformation อันที่จริงมันไม่ใช่การที่เปลี่ยนจากการทำงานหรือเก็บข้อมูลจากเอกสารแล้วมาคีย์ลงคอมพิวเตอร์ ซึ่งสิ่งนั้นจะเป็นแค่ Digitization ของข้อมูล เป็นแค่การเปลี่ยนที่เก็บข้อมูล ในขณะที่แผนก HR ก็ต้อง Manual ข้อมูลเองอยู่ดี แต่จริง ๆ มันเป็นขั้นตอนของการออกแบบกระบวนการแล้วใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน กล่าวคือ ต้องเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ใส่ข้อมูลเอง ไม่ใช่แค่ในคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังสามารถทำผ่านมือถือได้อีกด้วย
การทำงานของหุ่นยนต์ เพื่อเสริมการทำงานที่มีประสิทธิภาพของมนุษย์ต่อไป
ดร. มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัทโอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) กล่าวว่า หลาย ๆ อุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีมนุษย์ในการทำงาน ทว่าโควิด-19 กลับเป็นตัวเร่งให้หุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นที่ต้องการมากขึ้นเพราะผู้คนไม่สามารถอยู่ใกล้กันหรือทำงานร่วมกันได้อย่างเคย นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าการใช้หุ่นยนต์นั้นมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ซึ่งหากลองจินตนาการว่าตนเองต้องนั่งรถเข็น หากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะตัวเราก็ไม่สามารถไปยังที่ตรงนั้นได้ เช่นเดียวกับหุ่นยนต์ที่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ จึงสะท้อนกลับมาว่าเราจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนได้อย่างไร
การที่ธุรกิจต่าง ๆ นำหุ่นยนต์ไปใช้ รวมถึงการคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องในบริบทของตนเอง ทางเราจึงต้องมีการพัฒนาต่อไป เช่น ช่างเชื่อมโลหะมีปัญหาเกี่ยวกับปอด แต่มีความสามารถ และสามารถนำไปปรับใช้ร่วมกับหุ่นยนต์ได้อย่างดีทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ดังนั้นการรวมกันของผู้ที่มีทักษะกับหุ่นยนต์ที่พร้อมสนับสนุนการทำงาน จึงเกิดเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และต้องปรับใช้ให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป
หุ่นยนต์ในชีวิตประจำวัน: การก้าวผ่านข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุด
ปัจจุบันมีการนำหุ่นยนต์มาใช้เป็นจำนวนมากในแง่ของธุรกิจ เพราะเป็นการเพิ่มความมีประสิทธิภาพในการทำงาน ลดความผิดพลาด ลดเวลา ลดต้นทุน ฯลฯ เปลี่ยนวิธีการทำงานของหุ่นยนต์ เช่น หุ่นยนต์เพื่อการบริการ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการใช้งานหุ่นยนต์ ซึ่งมันจะเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก้าวผ่านข้อจำกัดต่าง ๆ ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อหุ่นยนต์มีความสำคัญมากขึ้น มันจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จึงอยากจะไม่ใช่แค่สร้างเมือง ที่อยู่อาศัย ทว่าเราอยากสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เหมาะกับหุ่นยนต์เพื่อที่มันจะสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ระบบบางอย่างที่ทำงานโดยมนุษย์เพียงอย่างเดียว ก็อาจเกิดปัญหาที่เรียกว่า “Human Error” ค่อนข้างเยอะ เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย โดยการใช้หุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือการทำงานของมนุษย์จะเป็นการแก้ปัญหาเพื่อให้เป็นการรักษาความปลอดภัยที่ครอบคลุมมากที่สุด ยิ่งเมื่อประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บทบาทของหุ่นยนต์ก็ยิ่งมีความสำคัญขึ้นมาก
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้วหุ่นยนต์และเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเราโดยที่เราไม่ทันได้สังเกตเสียด้วยซ้ำ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่ยากเกินจะยอมรับว่าหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก นอกจากนี้การเกิดวิกฤตโควิด-19 เองก็ไม่สามารถทำให้เราปฏิเสธการมีอยู่ของหุ่นยนต์ได้ การอยู่ร่วมอาศัยกับหุ่นยนต์ในบางครั้งอาจเป็นสิ่งที่ดี อาจเสริมประสิทธิภาพการทำงาน และสามารถพัฒนาสังคมเราต่อไปอย่างไร้ขีดจำกัดก็เป็นได้ และในอนาคตทาง Obodroid จะมีการพัฒนาหุ่นยนต์ใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการทำงานในด้านใดอีกบ้าง BuilderNews จะอัปเดตให้ทุกคนรู้กันต่อไปแน่นอน