Grand Opening Today “พระปกเกล้าสกายปาร์ค” สวนสาธารณะลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก ซึ่งเชื่อมต่อทางเดินเท้าและทางจักรยานจากคลองสาน ฝั่งธนฯ ไปยังฝั่งพระนคร #สะพานด้วน #พระปกเกล้าสกายปาร์ค #กรุงเทพ250

ชาวฝั่งธนฯ คงคุ้นเคยกันดีกับ “สะพานด้วน” ที่ต่อจากนี้จะไม่ “ด้วน” อีกต่อไป ด้วยความร่วมมือระหว่างศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาฯ (UddC-CEUS) กับกรุงเทพมหานครและกรมทางหลวงฯ ที่จับมือกันสร้างสวนสาธารณะลอยฟ้าอย่าง “พระปกเกล้าสกายปาร์ค” ให้ผู้คนได้ใช้บริการกัน

สะพานแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงมาจากโครงสร้างเดิมของรางรถไฟลาวาลินซึ่งถูกทิ้งร้างมานานกว่า 30 ปี เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่นำร่องที่ถูกเลือกจากชุมชนกะดีจีน-คลองสานในระหว่างกระบวนการฟื้นฟูชุมชนชั้นในของกรุงเทพฯ จากความร่วมมือดังกล่าวจึงได้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าความยาว 280 เมตร กว้าง 8.5 เมตรที่มีทางเท้าและทางจักรยานเพื่อเชื่อมฝั่งธนบุรีและพระนครเข้าด้วยกัน

รางรถไฟลาวาลิน

ตอนนี้ทุกคนสามารถเข้าไปเยี่ยมชม ถ่ายรูปสวย ๆ และร่วมเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศยามเย็นของแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ หรือเดินเล่นรับลมสบาย ๆ ดื่มด่ำไปกับความสวยงามของสถาปัตยกรรมต่าง ๆ โดยรอบ ทั้งสะพานพุทธ ยอดพิมาน พระปรางค์วัดอรุณฯ และสถานที่ใกล้เคียงที่ล้วนแล้วแต่วิจิตรตระการตาเหมาะแก่การผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าที่สะสมมาทั้งวัน

ภาพจากเฟซบุ๊ก “ผู้ว่าฯ อัศวิน”
ภาพจากเฟซบุ๊ก “ผู้ว่าฯ อัศวิน”

ส่วนพิเศษของสวนแห่งนี้คือการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 40% และภูมิสถาปัตยกรรมซึ่งเน้นไปยังการใช้งานที่บำรุงรักษาง่ายและอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยการใช้พรรณพืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร มีต้นมะกอกน้ำเป็นต้นไม้หลัก ตกแต่งด้วยพืชพรรณอีกนานาชนิด ได้แก่ ต้นรัก หญ้าหนวดแมว ยี่โถ ชงโค เอื้องหมายนา ฯลฯ ซึ่งช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้ชุมชนเมือง อีกทั้งพืชบนสวนลอยฟ้ายังช่วยปรับระบบนิเวศและมีประโยชน์กับแมลงโดยรอบ

ภาพจาก UddC

ทั้งนี้นอกจากจะได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศรอบสวนลอยฟ้าแห่งนี้แล้ว หากสังเกตลึกลงในรายละเอียดของการก่อสร้างจะพบกับสถาปัตยกรรมและการตกแต่งที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งสะท้อนถึงคอนเซ็ปต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างรกร้างให้ได้มากที่สุดจนกลายมาเป็น “พระปกเกล้าสกายปาร์ค” อย่างลงตัว

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

http://www.bangkok.go.th/main/page.php?&3-&type=detail&id=113885

Previous article5 เคล็ดลับ ตกแต่งบ้านเพื่อเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวในสไตล์คุณ
Next articleอย่าหาทำ! 5 วิธีแต่งบ้านที่มือใหม่ต้องเลี่ยง ถ้าไม่อยากเฟล
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว