จากตึกเก่าที่ถูกทำให้ทันสมัยด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไปสู่การพัฒนาตึกที่มีความยั่งยืนและการดีไซน์ที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้า โดยตึกที่ผู้คนใช้เพื่ออยู่อาศัยและทำงานกำลังเปลี่ยนแปลงไป แน่นอนว่าในขณะที่รัฐบาลและภาคธุรกิจทั่วโลกกำลังเพิ่มประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจและลดรอยเท้าคาร์บอน ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า การสร้างตึกจึงต้องมีทั้งฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสมและให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนเป็นอันดับต้น ๆ

จากรายงานสถานการณ์ทั่วโลกในส่วนของตึกและการก่อสร้าง การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการสร้างตึกในปี 2019 แตะค่ามากสุดเท่าที่เคยมีมา อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักข่าว CNBC ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของอาคาร 3 แห่งที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล BREEAM Awards 2021 ที่กำลังจะมาถึงในเดือนมีนาคมนี้ในรูปแบบ Virtual

มาตรฐาน BREEAM (Building Research Establishment Environmental Assessment Method) ของประเทศอังกฤษเป็นวิธีที่จะช่วยประเมินความยั่งยืนโดยพิจารณาครอบคลุมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน โปรเจกต์และตึก Masterplan และมาตรฐานนี้จะทำให้องค์กร ผลงานส่วนบุคคล หรือโปรเจกต์ใด ๆ ก็ตามได้กลายเป็น “ผู้นำที่มาพร้อมกับการประสบความสำเร็จในด้านการออกแบบ การพัฒนาและการจัดการอาคารที่ยั่งยืน”

Center for Sustainable Landscapes (CSL), Pittsburgh, U.S.

อาคาร CSL ดังกล่าวตั้งอยู่ที่ Phipps Conservatory and Botanical Gardens ในพิตส์เบิร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเปิดตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งเป็นตัวแทนของ “Livng Museum” โดยที่ตัวของตึกถูกออกแบบให้ได้รับแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันมากที่สุด

ในขณะที่มีฟังก์ชันการใช้งานอื่น ๆ ได้แก่ การนำน้ำฝนเพื่อใช้ตอนกดชักโครก หลังคาสีเขียวที่เป็นฉนวนกันความร้อนและเป็นที่อยู่ของต้นไม้ซึ่งมีบางสายพันธุ์ที่สามารถรับประทานได้อีกด้วย พื้นที่รอบ ๆ ใช้แผงโซลาร์เซลล์และกังหันลมเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ในขณะที่บ่อน้ำร้อนใต้พิภพที่อยู่ลึกลงไปกว่าร้อยฟุตนั้นช่วยให้ความร้อนแก่ตัวอาคาร

ในแง่ของเทคโนโลยี ระบบจัดการอาคารสามารถควบคุม ตรวจสอบและส่ง Feedback ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานได้ รวมไปถึงการแจ้งให้ผู้ใช้งานทราบว่าเมื่อใดที่คุณภาพอากาศและความชื้นเหมาะสมเพียงพอสำหรับการเปิดหน้าต่างในบางพื้นที่เพื่อให้มีการระบายอากาศตามธรรมชาติแทนการใช้เครื่องปรับอากาศ

Kings Place, London, U.K.

Kings Place คืออาคารที่ใช้งานได้หลากหลาย ทั้งเป็นพื้นที่สำนักงาน โถงคอนเสิร์ต ร้านอาหาร และแกลเลอรี ซึ่งตึกนี้สร้างเสร็จสิ้นเมื่อปี 2008 และตั้งอยู่ในพื้นที่ King’s Cross ที่คึกคักในลอนดอน

ตึกนี้มีฟังก์ชันที่น่าสนใจมากมาย เช่น ไฟแบบเคลื่อนไหว เครื่องตรวจจับน้ำรั่ว และหลังคาสีเขียวพร้อมแผงโซลาร์เซลล์ นอกจากนี้ยังมี “ระบบระบายอากาศแทนที่ (displacement ventilation system)” ซึ่งช่วยระบายความร้อนด้วยอากาศจากภายนอก เพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศนั่นเอง

ตัวอาคารถูกออกแบบมาให้แสงธรรมชาติภายนอกสาดส่องเข้ามาได้เต็มที่ ในขณะที่ “ผนังกระจก 3 ชั้น (triple glass wall)” ในทิศใต้และทิศตะวันตกนั้นใช้เพื่อลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ดังกล่าวเพื่อรักษาความเย็นอีกทางหนึ่งโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า เพียงแค่อาศัยการออกแบบเท่านั้น

Kampusareena, Tampere, Finland

ตึก Kampusareena เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2015 โดยใช้งบประมาณในการสร้างทั้งหมด 30 ล้านยูโร (ประมาณ 36.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตั้งอยู่ที่เมืองตัมเปเร ตอนใต้ของฟินแลนด์ โดยตึกนี้มี 8 ชั้นและใช้เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับมหาวิทยาลัยและการใช้งานเชิงธุรกิจ รวมไปถึงพื้นที่สำหรับงานวิจัย โดยที่คณะกรรมาธิการยุโรป (The European Commission) ได้บรรยายการพัฒนาตึกนี้ว่าเป็น “สถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีชั้นเยี่ยม”

มหาวัทยาลัยตัมเปเร (University of Tampere) ระบุว่าตึก Kampusareena มีฟังก์ชันเพื่อช่วยอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ได้แก่ แผงโซลาร์เซลล์ 560 แผงซึ่งสร้างกระแสไฟฟ้าประมาณ 80 เมกะวัตต์ต่อปี ระบบระบายอากาศบางส่วนขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โถปัสสาวะไร้การใช้น้ำ และหลังคาสีเขียวที่ครอบคลุมพื้นที่ 1,800 ตารางเมตร ซึ่งนอกจากจะสร้างความสบายตาให้แล้ว หลังคาสีเขียวยังสามารถดูดซับน้ำที่จะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดจากอุทกภัยได้อีกด้วย

นอกจากนี้ อาคารนี้ยังได้รับการการันตีการประหยัดพลังงานในระดับ Class B และระดับ “ดีมาก” จากการพิจารณาตึกที่ย่ังยืนจากมาตรฐาน BREEAM อีกด้วย

กระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ของการออกแบบอาคาร โดยจะเห็นได้ว่าคอนเซปต์หลัก ๆ ของการออกแบบตึกทั้ง 3 นั้นสิ่งที่มีร่วมกันคือ “การลดใช้พลังงานและสร้างพลังงานหมุนเวียน” ให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนเลยทีเดียว โดยสิ่งที่แตกต่างกันจะเป็นฟังก์ชันการใช้งานภายในซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งเสริมปัจจัยหลักดังกล่าว นอกจากนี้การออกแบบรูปลักษณ์อาคารก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากการเลือกใช้วัสดุหรือการออกแบบรูปแบบใด ๆ ของอาคารอาจส่งผลต่อการกันความร้อน การระบายอากาศ หรือสิ่งใดก็ตามที่สามารถรักษาการใช้พลังงานเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

ในไม่ช้า พวกเราก็จะได้รู้ว่ารางวัล BREEAM Awards 2021 จะตกเป็นของใคร ซึ่งมันจะกลายเป็นสัญลักษณ์และการก่อสร้างตัวต้นแบบที่สร้างแรงกระเพื่อมไปสู่การออกแบบอาคารและการก่อสร้างทั่วโลก ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ และทรัพยากรที่มีและนำมาผสมรวมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากที่สุดนั่นเอง

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.cnbc.com/2021/01/27/solar-panels-digital-tech-green-roofs-how-buildings-are-changing-.html

Chapter 10 ระบบประเมินอาคารเขียว (Green Building Rating System)

https://www.phipps.conservatory.org/green-innovation/at-phipps/center-for-sustainable-landscapes-greenest-building-museum-garden-in-the-world

https://www.tuni.fi/en/about-us/kampusareena#switcher-trigger–administration

 

 

Previous articleจับตาดูเทรนด์อุตสาหกรรมก่อสร้างปี 2021 Part 2
Next articleเปิด 10 อันดับอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในโลก
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว