ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าบ้านญี่ปุ่น การจัดสวน การวางผังเมือง ทุกรูปแบบที่เรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นคือหนึ่งในรูปแบบที่ได้รับความนิยมและส่งอิทธิพลมาถึงบ้านเราเสมอ เราหลงใหลความมินิมัล การจัดแต่งสีและความเรียบง่ายของวิถี ZEN ขณะเดียวกันยังคงความประณีต ว่าง่าย ๆ ว่าเรียบแต่ยังดูดีมีมิติ และให้ความหมายไว้ลึก ๆ เรื่องฟังก์ชันการใช้งานเสมอ
แล้วสำหรับเรื่อง Material ของสถาปนิกญี่ปุ่นล่ะ อะไรที่น่าหลงใหล ? วันนี้ BuilderNews เลือกเจาะเรื่องวัสดุแห่งภูมิปัญญาที่หลายคนเคยเห็น แต่คงไม่รู้ที่มาของมันอย่าง “YAKISUGI” หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “SHOU SUKI BAN” ไม้สีดำแผ่นยาวมีลายแคร็กที่ใช้สำหรับกรุผังอาคารให้เรียบหรู ดูดี ซึ่งเป็นมรดกทางวัสดุที่คนญี่ปุ่นใช้มายาวนานนับ 100 ปีแล้ว
“YAKISUGI” หรือ “SHOU SUGI BAN” คือการนำไม้มาเผาไฟทำให้มีสีดำเคลือบบริเวณหน้าไม้ เพื่อใช้เป็นวัสดุสำหรับก่อสร้าง ความน่าสนใจของวัสดุชิ้นนี้มีหลากหลายประเด็นทั้งความสวยงาม ฟังก์ชันและเรื่องเทคนิคที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน แต่เราจะนำมาอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายดังต่อไปนี้
“ไม้กับไฟ” คู่ปรับที่เป็นได้ทั้งการทำลายและการรักษา
ขึ้นชื่อว่าวัสดุเป็น “ไม้” หลายคนคิดว่าอย่างไรเสียก็ต้องอยู่ห่างไฟไว้ก่อน เข้าทำนองเสียให้การพนันยังไม่เท่าไฟไหม้บ้าน ถ้าเกิดไม้เจอไฟเดี๋ยวทุกอย่างจะกลายเป็นจุลไปเสียหมด แต่ในความเป็นจริง “ไม้” กับ “ไฟ” ไม่จำเป็นต้องลามทุ่งและเป็นโทษเสมอ เพราะกว่า 100 ปีที่ผ่านมา “การเผาไฟ” คือเทคนิคที่ชาวญี่ปุ่นทำสืบทอดกันมาเพื่อรักษาคุณภาพไม้ เพื่อให้เนื้อมีความแกร่งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ถึงแม้จะบอกว่าไฟช่วยให้ไม้แกร่งขึ้น แต่ใช่ว่าไม้ทุกประเภทจะสามารถใช้คุณสมบัตินี้ได้ตลอดทว่าขึ้นอยู่กับเนื้อไม้ที่นำมาเผาไฟด้วย โดยประเภทไม้ที่เหมาะสมและนิยมใช้เทคนิคนี้คือ “ไม้สน” ซึ่งทางญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้ไม้สนซีดาร์ ซึ่งเป็นไม้สนพันธุ์ดีที่มีน้ำมันรักษาเนื้อไม้ และมีความแข็งแรง น้ำหนักเบา
Photo via jimy40_2008 on flickr
ที่มาของการนำไม้มาเผา ตามประวัติกล่าวว่าเทคนิคนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อ 300 ปีที่แล้ว จากคนในหมู่บ้านชาวประมงที่อาศัยบนเกาะ Naoshima ซึ่งเดิมทุกคนใช้วัสดุใกล้ตัวอย่าง “ไม้สน” ที่หาได้ทั่วไปนำมาสร้างบ้าน แต่ด้วยความที่อยู่ใกล้กับบริเวณชายฝั่งทำให้ไม้ที่นำมาใช้เจอปัญหาเรื่องความชื้น ไอทะเล และแมลงเข้ามาทำลายเนื้อไม้ให้สึกกร่อนทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนวัสดุบ่อย ๆ
ด้วยอายุการใช้งานแสนสั้น พวกเขาจึงคิดใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่งตามฉบับวิทยาศาสตร์ ถ้าแมลงอยากกินเนื้อไม้นักก็เผาส่วนที่มันกินได้เสียเลย (เผาหน้าไม้ที่เป็นเซลลูโลสออก) และถ้าความชื้นสามารถซึมเข้าไปในเนื้อไม้จนสร้างความเสียหาย วิธีเผาไฟนี่แหละที่เหมาะจะไล่ความชื้นไปจากเนื้อไม้ และช่วยให้ไม้ไม่ยืดหรือหดตัวเพื่อกันความชื้นที่จะเล็ดลอดเข้ามานี่แหละถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวไปพร้อมกัน
ด้านวัสดุ ไม้ YAKISUKI แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการใช้งาน ประเภทแรกคือการเผาไม้จนไหม้เกรียมติดเถ้าถ่านสีดำกับเนื้อไม้ไว้ ใช้สำหรับกรุด้านนอกอาคาร โชว์เนื้อไม้สีดำขลับและความทนทาน ส่วนประเภทที่สองคือการนำเนื้อไม้ที่ผ่านการเผามาขัด เพื่อโชว์สีเนื้อไม้ด้านในขณะเดียวกันตามรอยแยกของไม้จะยังคงสีดำของเถ้าอยู่ด้านใน นับเป็นวิธีการโชว์ลวดลายของเนื้อไม้ ทำให้ไม้ชิ้นเดิมมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไม้แต่ละแผ่นที่ผ่านกรรมวิธีนี้มาเรียกต่อกัน ช่วยสร้างมนต์เสน่ห์ให้อาคารดูมีคุณค่าและน่าค้นหายิ่งอีกเป็นทวีคูณ ที่สำคัญคือเพื่อป้องกันเรื่องการใช้งาน เพราะหลังจากขัดแล้วเขาจะนำไปทาน้ำมันอีกครั้งเพื่อเคลือบเนื้อไม้ ทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่เปรอะเปื้องผงถ่าน
ใครที่ยังนึกภาพการเผาไม่ออก ลองดูตัวอย่างการเผาจริง ๆ ได้จากในคลิปนี้
จะเห็นได้ว่ากว่าจะได้แต่ละชิ้นต้องอาศัยความละเอียดประณีตในการทำ เพราะการควบคุมไฟต้องใช้เทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ เพราะมีทั้งความทั้งอันตรายและในแง่ของฝีมือแล้ว การควบคุมไฟให้เผาไหม้ได้เสมอกันทั่วหน้าไม้มีผลต่อสีสันเนื้อไม้ที่จะเสมอกันทั่วทุกแผ่นด้วย
“ไฟ” ทำให้ไม้ “กันไฟ”
อีกสิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึงคือการใช้เทคนิค “เผาไฟ” บนหน้าไม้แบบนี้ ช่วยให้ไม้ “ทนไฟ” ได้นานขึ้น ว่าง่าย ๆ ก็คือถ้าไม้ที่เคยผ่านการเผามาแล้วครั้งหนึ่ง พอมาเจอไฟจุดก็จะทำให้ติดช้าลงกว่าเดิม ต่างจากไม้ที่ไม่เคยได้รับการเผามาก่อน ซึ่งถือเป็นวิธีการหน่วงไฟที่หลายคนไม่คาดคิด
นอกจากนี้มุมมองเรื่องฟังก์ชันการใช้งานและความสวยงามเชิงสถาปัตย์แล้ว เทคนิค YAKISUKI ยังไปโผล่อยู่ในเทคนิคสร้างผลงานศิลปะเพื่อจัดแสดง สะท้อนเรื่องราวทางสังคมด้วย โดยจะเห็นได้ชัดจากผลงานที่ชื่อ BURNITURE จากการออกแบบของ Alejandro Cantú ซึ่งกล่าวว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากการระเบิดของ SAMSUNG NOTE 7 และนำเทคนิคการเผาไม้เช่นนี้มาใช้เพื่อสื่อให้เห็นว่าการถูกเผาไหม้นี้คือความงามรูปแบบหนึ่ง ผ่านการเผาไม้ช่วงล่างของขาเก้าอี้ไม้จนเกิดสีที่แตกต่างกันระหว่างเนื้อไม้ทั้งชิ้น
จาก pain point ของวัสดุสู่ศิลปะสะท้อนสังคม ความตื้นลึกหนาบางที่มากกว่าการมองเห็นเหล่านี้คุณเองก็มีโอกาสซึมซับได้ด้วยการสังเกตและค้นคว้า ครั้งหน้าเราจะนำชิ้นไหนมาส่งต่อกันอีกอย่าลืมติดตาม เพราะโลกของ Material มันมีเรื่องราวสนุก ๆ ให้บอกต่ออีกมากมาย
อ้างอิง :
https://favforward.com/trend/23265.html
http://www.baanlaesuan.com/130602/ideas/house-ideas/yakisugi
เครดิตภาพ: ภาพ Cover จาก archdaily.com
ภาพประกอบนำมาจาก archdaily.com / Behance.net (https://www.behance.net/gallery/44878755/Burnt)