การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. ทำได้ดีพอใช้ในภาวะเศรษฐกิจโลกผันแปรค่อนข้างมาก ซึ่งวิธีกระตุ้นไม่มีอะไรดีกว่า ‘รัฐบาลลงทุนด้านสาธารณูปโภค’ หรือ Infrastructure เพื่อเป็นโครงสร้างหลักให้ภาคธุรกิจอื่น ๆ เติบโตตาม ในอดีตปี พ.ศ. 2502 รัฐบาลตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจ (NESDB) เพื่อวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในยุคแรกก็ใช้วิธีการสร้างสาธารณูปโภคคือระบบถนนทั่วประเทศ (สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ทำให้ไทยเรามีระบบถนนที่ดีที่สุดใน AEC

และหลังจากนั้นก็มีโครงการ Mega Project ท่าเรือขนาดใหญ่ โดยจะยกคลองเตยออกไปสู่แหลมฉบัง ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมรอบท่าเรือ เรียกว่า ESB (Eastern Seaboard) นำโดยหัวหอกสภาพัฒน์เหมือนกับโมเดลของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีโตเกียวและเมืองท่าโอซาก้าและทำได้ดีมาก เป็นการกระจายความเจริญจากเมืองใหญ่คือ กทม. และมีเมืองรองอุตสาหกรรมอีก 1 เมือง

การใช้โครงสร้างหลักโดยการนำเอาระบบถนนมาใช้ ในอดีตประสบผลสำเร็จมากจนลืมเสริมด้วยระบบอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น ระบบราง Rail ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับระบบรางมากพอ ๆ กับถนน ยกเว้นอเมริกาที่กว้างใหญ่ไพศาล ทำให้ระบบรางไม่ตอบสนองการเชื่อมต่อทั้งประเทศ อเมริกาจึงเป็นผู้นำระบบถนนดีที่สุดในโลก และเป็นฐานให้ ‘อุตสาหกรรมรถยนต์’ เป็นสาขาธุรกิจที่กระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกาในอดีต ปัจจุบันคนในโลกมากขึ้นเป็น 7,500 ล้านคน และมีผู้คนจากระบบเกษตรกำลังย้ายเข้าเมือง เป็นคลื่นการเคลื่อนย้าย (migration) ที่รุนแรงที่สุดในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ ทำให้เกิดเมืองใหญ่และใหญ่มากทั่วโลก มีเมืองที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน ทุกประเทศรวมแล้วร่วม 30 กว่าเมือง ยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศในยุโรปหลายประเทศถูกสงครามสร้างความเสียหายแก่เมืองในยุโรปมากมาย จนเกิดเมืองใหญ่สุดที่มีประชากร 28 ล้านคน คือ โตเกียว และนิวยอร์ก นวัตกรรมที่เกิด คือการสร้าง ‘เมืองใหม่’ หรือ Newtown โดยมีอังกฤษเป็นแม่แบบ มีกฎหมายเวนคืนและสนับสนุนการสร้างเมืองใหม่ร่วม 30 กว่าเมือง และนวัตกรรมนี้ก็กระจายจากยุโรปไปอเมริกาและประเทศอื่น ๆ มีการสร้างเมืองหลวงใหม่ เช่นในบราซิลและออสเตรเลีย ปัจจุบันก็มีพม่าที่สร้างเมืองหลวงใหม่คือเนปีดอว์

ในขณะเดียวกันเมืองเก่าหลายเมืองที่เป็นศูนย์ราชการการค้าพาณิชย์และอุตสาหกรรมก็ต้องการยกเครื่อง มีการปรับปรุงเมือง สร้างเมืองอุตสาหกรรม เมืองชายแดน โดยมีการกระตุ้นให้เป็น ‘เมืองที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ’ เป็น Special Economic Newtown นำเอาระบบยกเว้นภาษีมาใช้ เป็นการสร้างจุดเติบโตให้เป็นเมืองศูนย์กลางการผลิต เช่น เมืองดีทรอยต์ เป็นศูนย์อุตสาหกรรมรถยนต์ ไทยเราก็มี ESB ส่วนในจีนปัจจุบันก็สร้างเมืองฉงชิ่ง ศูนย์กลางภาคอีสานของจีน เป็นหนึ่งใน 10 เศรษฐกิจพิเศษของจีน

รัฐบาล คสช. ของไทยเรากำลังนำแนวคิดนี้มาใช้ มีการกำหนด เขตเศรษฐกิจพิเศษ เอามาใช้กับเมืองชายแดนเหมือนเซิ่นเจิ้นของฮ่องกง เหมือนเมืองติดชายแดนเม็กซิโกของอเมริกา เป็นทั้งเขตเศรษฐกิจและชะลอการย้ายข้ามถิ่นของประชากร โดยจะมีเมืองนำร่องคือ ‘แม่สอด’ ที่ชายแดนตะวันตก และจะมีอีกหลายเมืองชายแดนที่สำคัญในภาคตะวันออกคือมุกดาหาร ภาคเหนือคือแม่สาย ภาคใต้คือ สุไหงโกลก มีพื้นที่พิเศษ มีนิคมอุตสาหกรรม มี BOI ยกเว้นภาษีให้
ขณะนี้ คสช. กำลังรุกอีกโดยต้องการนำแนวคิดสร้างเมืองใหม่กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็น Key Factor ในการพัฒนาเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ก็มีนโยบายเร่งด่วนยกระดับ ‘Eastern Economic Corridor (EEC)’ กำหนดให้ 5 เมืองชายฝั่งตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา ศรีราชา และแหลมฉบัง (ESB) ระยอง เป็นเมืองแห่งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชื้อเชิญให้เอกชนมาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยจะนำระบบรางมาเป็นตัวนำ จะมีรถไฟทางคู่ รถไฟด่วนขนทั้งคนและสินค้า จะมีสถานีที่สำคัญ ๆ ทุกแห่ง และกำหนดให้มีการพัฒนารอบสถานีรถไฟที่เรียกกันว่าเป็น TOD (Transit Oriented Development) ที่การรถไฟให้เริ่มนำร่องที่สถานี Grand Central Station: บางซื่อแล้ว

‘เมืองใหม่และเขตเศรษฐกิจพิเศษ’ จะเป็น Key Concept ในการพัฒนาประเทศ สร้างเมืองรองรับประชากรเมืองรุ่นใหม่นำ Key Success มาเป็นศูนย์กลางทุกเมือง และกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงาน ทั้งยกระดับให้เป็นเมืองสากลของโลกไปพร้อม ๆ กัน ก็ลองติดตามดูให้ดี ไม่รู้ว่ารัฐบาลที่จะมีใหม่จะมีศักยภาพมองเห็นอนาคตต่อเนื่องจาก คสช.
หรือไม่

นิตยสาร Builder Vol.36 OCTOBER 2016

Previous articleGlasshouse @ Sindhorn – ‘OFFICE AT’ รางวัล จากความรักในการทำงาน (ตอนที่ 2)
Next articleมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ผุดโครงการอาคารเขียวรูปแบบสมาร์ทดีไซน์
ส่งเสริมสุขภาพผู้ใช้
รศ.มานพ พงศทัศ
ที่ปรึกษานิตยสาร Builder อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย