ช้าง ถือเป็นสัตว์ประจำบ้านเมืองของเรามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ของชาติไทยมาเนิ่นนาน ในขณะที่ความจริงที่ว่าช้างมักจะถูกล่าจนใกล้สูญพันธุ์ขึ้นทุกปีกลับสร้างความน่าเศร้าใจเป็นอย่างมาก เพื่อให้ผู้คนคำนึงถึงความสำคัญของสัตว์ประจำชาติชนิดนี้ ทางรัฐบาลและส่วนราชการจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ช้างจึงได้จับมือกันสร้างโครงการ “โลกของช้าง (Elephant World)” ขึ้นมา

โครงการโลกของช้างเป็นการเนรมิตรพื้นที่กว่า 500 ไร่ ติดกับศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ ให้เป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทั้งการจัดแสดงเรื่องราวของช้าง เป็นแหล่งศึกษาข้อมูลทางวิชาการ และมีช้างอาศัยอยู่ที่นี่มากที่สุดในโลกอีกด้วย (ข้อมูลจาก http://i-san.tourismthailand.org/6301/)

พิพิธภัณฑ์ช้างตั้งอยู่ตรงส่วนสุดท้ายของโครงการฯ ที่มีทั้งหมด 8 ส่วนด้วยกัน โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงให้ผู้เยี่ยมชมเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างชาวกูย (Kui) ชนเผ่าท้องถิ่นกับสัตว์ประจำชาติชนิดนี้ที่มีมาอย่างยาวนานถึง 3 ศตวรรษ โดยการออกแบบโครงการจาก Bangkok Project Studio ที่ก่อตั้งโดย อาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา

อาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา Cr. Unlockmen

ทีมผู้ออกแบบกล่าวว่า “มนุษย์อาศัยอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกับช้างซึ่งถูกมองว่าเป็นลูกหลานของเรามากกว่าสัตว์เลี้ยง วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาเหล่านี้ถูกส่งต่อมารุ่นต่อรุ่นในหมู่บ้านชนบทที่มีการเลี้ยงช้างมากที่สุดในประเทศไทย” โดยธีมที่ครอบคลุมการออกแบบโครงการคือ “การสอนให้ได้เรียนรู้ว่าผู้คนและสัตว์อาศัยอยู่ร่วมกันได้ด้วยความรัก (coexist with love)”

เมื่อหลายปีที่ผ่านมา การตัดไม้ทำลายป่าเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ช้างต่างไม่มีที่อยู่อาศัยและปัจจัยยังชีพที่เหมาะสม พวกมันถูกใช้งานเป็นสัตว์เร่ร่อนไปตามสถานที่ท่องเที่ยวและใช้แรงงานอย่างหนักจนกว่าจะล้มป่วยและตาย ทว่า  Bangkok Project Studio กล่าวว่าสถานที่แห่งนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้คนคร่ำครวญถึงอดีต แต่มันคือสถานที่ที่ทำให้ผู้คนท้องถิ่นได้ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์และประเพณีเหล่านั้นแก่ผู้คนภายนอกอีกด้วย

ตัวพิพิธภัณฑ์ถูกสร้างจากอิฐแดง โดยมีลักษณะเป็นตัวอาคารที่ซับซ้อนขนาดใหญ่เพื่อเป็นฟังก์ชันเปิดพื้นที่สำหรับช้าง นอกจากนี้ตัวโครงสร้างยังประกอบกันด้วยผนังแนวโค้งที่ดูยืดหยุ่น ไม่แข็งกระด้าง กลมกลืนไปกับภูมิทัศน์โดยรอบอย่างงดงาม สามารถติดตั้งจอแสดงผลบนผนังและพื้นที่ด้านนอกได้ ในขณะที่พื้นที่ด้านในใช้เป็นสถานที่สำหรับผ่อนคลายและเพลิดเพลินไปกับห้องแสดงต่าง ๆ ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ยังประกอบไปด้วยศูนย์วิจัย และแหล่งการเรียนรู้ โดยที่ผู้เยี่ยมชมสามารถเดินจากห้องจัดแสดงหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่งผ่านช่องว่างระหว่างกำแพงที่ล้วนเชื่อมต่อกับเส้นทางหลักที่เป็นวงกลมทั้งสิ้น

พิพิธภัณฑ์ประกอบไปด้วย 4 ส่วน โดยส่วนแรกประกอบด้วย โถงต้อนรับ ห้องจัดแสดงหลัก ห้องสมุด ห้องวิจัย ห้องสัมมนา ร้านกาแฟ และร้านขายของที่ระลึก ซึ่งอีก 3 ส่วนที่เหลือคือพื้นที่พิพิธภัณฑ์ที่ใช้จัดแสดงหัวข้อหลัก ๆ 3 หัวข้อ ได้แก่ สายสัมพันธ์ระหว่างช้างกับผู้คน การตัดไม้ทำลายป่าที่ทำให้ช้างต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และส่วนสุดท้าย คือ สถานที่จัดแสดงข้อความที่ช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์ช้าง

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรม ประเพณีเก่าแก่หลายอย่างนั้นควรค่าแก่การรักษา โดยเฉพาะประเพณีที่มีสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะพวกมันอาจไม่ได้อยู่เคียงข้างมนุษย์ในฐานะสัตว์เลี้ยง แต่อาจเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น และเราก็ควรให้คุณค่าแก่พวกมันเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้ด้วยความรัก อย่างที่ผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ช้าง รวมไปถึงส่วนภูมิภาคของจังหวัดสุรินทร์ที่เห็นคุณค่าของสิ่งนี้และต้องการรักษาพวกมันไว้ด้วยการก่อตั้งโครงการ “โลกของช้าง” ขึ้นมานั่นเอง

พิกัด : หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม https://is.gd/Gk3Ob6

เวลาเปิด-ปิด : 08.30 – 16.30 น.

โทรสอบถามเพิ่มเติม : 044-511-975

เจาะลึก “อิฐ” ที่ใช้ในการสร้างพิพิธภัณฑ์

หากเจาะลึกลงไปในการออกแบบแล้ว วัสดุที่ใช้สร้างพิพิธภัณฑ์ที่แสนมีเอกลักษณ์นี้คือ “อิฐแดงโบราณ” จาก อิฐแดง2009 โดยการก่ออิฐโบราณให้มีการเว้าโค้ง ไล่ระดับความสูงเพื่อให้เกิดการถ่ายเทของอากาศ ลม และเสียง ตามหลักงานวิจัยการใช้ภาษาเสียงใน “Sound Brick” ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาสามารถแยกแยะความแตกต่างของเสียงในพื้นที่ได้ นอกจากนี้การมีต้นไม้ระหว่างทางเดินยังช่วยลดทอนการสะท้อนของเสียงในพื้นที่ และให้ร่มเงาเป็นระยะ ๆ อีกด้วย

อิฐโบราณ (Ancient Bricks) จาก อิฐแดง 2009

อิฐแดงแบบดั้งเดิม หรือที่เรียกกันว่าอิฐโบราณ เป็นอิฐลักษณะตัน ทำด้วยมือ มีเอกลักษณ์ด้วยสีที่ไม่สม่ำเสมอ และผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน ซึ่งอิฐโบราณสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ อิฐโบราณเผาแกลบ มีผิวสัมผัสค่อนข้างหยาบ ไม่เรียบเนียน ด้วยการผลิตที่ต้องผสมแกลบลงไปในดินเหนียว และโรยหน้าด้วยขี้เถ้าแกลบ อิฐที่ได้จึงมีความดิบ โบราณสมชื่อ เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบการตกแต่งสไตล์เท่ ๆ เช่น สไตล์ลอฟต์ อินดัสเทรียล เหมาะกับตกแต่งโชว์ผิวดิบ แต่งสวน รวมถึงการนำไปสร้างสถาปัตยกรรม และซ่อมแซมโบราณสถานเก่าแก่

อีกหนึ่งประเภทคืออิฐโบราณเผาฟืน มีผิวสัมผัสค่อนข้างเรียบ หนาแน่น และแข็งแกร่งกว่าอิฐโบราณเผาแกลบ เพราะผลิตจากดินเหนียวปนทรายเนื้อเนียนละเอียด เหมาะกับงานตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็นการก่อตกแต่งผนัง สร้างสถาปัตยกรรม หรือนำไปปูพื้นด้านนอก พื้นทางเดินในสวน อิฐโบราณเผาฟืนก็เอาอยู่ มีให้เลือกใช้หลากหลายขนาด ตั้งแต่ขนาด 5x10x20 ซม. ขนาด 5x10x30 ซม. ไปจนถึงขนาด 5x10x15 ซม. และรูปทรงที่คุณสามารถสั่งผลิตเองได้ตามความต้องการ ทั้งนี้ ตัวอย่างที่สำคัญของการนำอิฐโบราณไปใช้จริง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ช้างที่ได้กล่าวข้างต้นนั่นเอง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอิฐแดงได้ที่ https://www.actforumexpo.com/2020/news-th/itdang-2009/

ติดต่อสอบถามหรือสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ https://itdang2009.com/ หรือเฟซบุ๊ก อิฐแดง2009 

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.designboom.com/architecture/bangkok-project-studio-elephant-museum-thailand-handmade-clay-bricks-09-24-2020/

https://itdang2009.com/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87-%E0%B8%88-%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B4/

http://i-san.tourismthailand.org/6301/

Previous article“โน้ตดนตรีรักษาระยะห่าง” เมื่อโควิด-19 มาเจอกับความสร้างสรรค์
Next articleกลยุทธ์รับมือแบบ Next Normal ของอาคารและสิ่งปลูกสร้าง หลังยุคโควิด
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว