คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากกับคนฟังเพลง สำหรับเทศกาลแกลสตันบูรี (Glastonbury Festival) หนึ่งในเทศกาลดนตรีและศิลปะการแสดงที่ใหญ่ที่สุดของโลก ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1970 และเพิ่งจบลงไปสำหรับงานประจำปีนี้ด้วยโชว์ของ Kendrick Lamar ที่เวทีพีระมิด (Pyramid Stage) เวทีหลักของงานที่ย้อนประวัติการออกแบบไปได้ถึงเมื่อปี 1971! เรื่องราวของดีไซน์เวทีนี้จึงน่าสนใจไม่แพ้ชื่อของศิลปินใหญ่มากมายที่เคยขึ้นแสดงในนั้นเลย

 

 

 

 

ความฝัน สังคมอุดมคติ เรขาคณิต และกุญแจแห่งจักรวาล

“พวกเขาตระหนักถึงพลังของความรู้สึกทางจิตวิญญาณ และเห็นพ้องกันถึงความต้องการยุคใหม่ ที่มองไปยังชีวิต ไปยังสังคมอุดมคติ” Michael Eavis หนึ่งในผู้ก่อตั้งและเจ้าของฟาร์มที่ตั้งเทศกาลเล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่เขาพบกับ Bill Harkin สถาปนิกและนักออกแบบฉาก และ Andrew Kerr อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งเทศกาล

จุดเริ่มต้นของดีไซน์เวทีนี้มาจากภาพพีระมิดที่ส่องสว่างในความฝันของ Bill Harkin ก่อนจะพัฒนาต่อมาผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ ตั้งแต่ในดีไซน์แรกที่อิงจากโครงสร้างมิติของสโตนเฮนจ์ พวกเขายังได้ “ทฤษฎีสัดส่วนใหม่” (new theory of proportion) หรือความกลมเกลียวกันระหว่างเรขาคณิตของอารามแห่งแกลสตันบูรีและ “กุญแจแห่งจักรวาล” (key of the cosmos) จากการปรึกษากับ Keith Critchlow ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมศักดิ์สิทธิ์ (sacred architecture) และเรขาคณิต ความสูงของเวทีในดีไซน์แรกยังอิงอยู่กับ “จุดทางจิตวิญญาณ” (spiritual point) อีกด้วย และในแง่ฟังก์ชันการใช้งาน ดีไซน์นี้ทำให้คนดูต้องถอยหลังห่างออกไปเพื่อให้เห็นการแสดงได้ชัด ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีรั้วรักษาความปลอดภัยที่ด้านหน้าเวทีอีกด้วย

 

 

 

นั่งร้าน เสาโทรเลข และโครงสร้างเหล็ก 40 ตัน

ในปี 1971 เวทีพีระมิดแรกถูกสร้างขึ้นด้วยโครงสร้างนั่งร้าน ตะแกรงเหล็ก และแผ่นพลาสติก วัสดุที่เปลือกภายนอกมีคุณสมบัติสะท้อนแสง เมื่อมีการเปิดไฟบันทึกวิดีโอเวทีแห่งนี้จึงเรืองแสงให้เห็นได้จากไกล ๆ ต่อมา โครงสร้างถาวรของเวทีพีระมิดถูกสร้างขึ้นในปี 1981 เพื่อการใช้งานสำหรับเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ฟาร์มด้วย โดยใช้วัสดุอย่างเสาโทรเลขและกล่องเก็บของจากกระทรวงกลาโหม จนล่าสุดในปี 2000 เวทีพีระมิดใหม่ที่ขนาดใหญ่กว่าเวทีดั้งเดิมถึง 4 เท่า ถูกสร้างขึ้น ตอบสนองความนิยมของเทศกาลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสร้างขึ้นจากโครงสร้างเหล็กสูงกว่า 30 เมตรและท่อเหล็ก 4 เมตร ทั้งยังมีกรีนพีซมาตรวจสอบวัสดุทั้งหมดอีกด้วย

Sources:

ภาพจาก

Previous articleBuilderNews ชวนคุณส่องงานออกแบบสุดงามใน Mini-Series “MAN VS BEE”
Next articleสัดส่วนทองคำกับสถาปัตยกรรมไทย: มหิดลสิทธาคาร