เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงคิดค้นโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ เพื่อให้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ยาวนานถึง ๗๐ ปี ซึ่ง โครงการแก้มลิง ก็เป็นหนึ่งในบรรดาโครงการทั้งหมด ที่ช่วยให้ชีวิต ความเป็นอยู่ของเหล่าพสกนิกรดีขึ้น ปราศจากปัญหาอุทกภัยอันจะนำมาซึ่งปัญหาและความเดือดร้อนอื่น ๆ ในภายหลัง
โครงการแก้มลิง เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เพื่อบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาอุทกภัย รวมทั้งช่วยในการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อม
หลักการทำงานของโครงการแก้มลิง คือ กักเก็บน้ำฝนไว้ชั่วคราว เพื่อป้องกันปัญหาการระบายน้ำ และเมื่อคลองสามารถระบายน้ำได้จึงระบายน้ำออกเพื่อช่วยบำบัดน้ำเสียให้เจือจางลงจนหมดไปในที่สุด โดยจะระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำที่ชายทะเล เมื่อน้ำทะเลลดลงจนต่ำกว่าน้ำในคลอง น้ำในคลองจะไหลลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ
ลักษณะของโครงการแก้มลิงจะเป็นการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ เพื่อรอการระบายไว้ใช้ประโยชน์ในภายหลัง โดยจะเริ่มจากการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน เพื่อให้น้ำไหลลงคลองพักน้ำที่ชายทะเล จากนั้นเมื่อระดับน้ำทะเลลดลงจนต่ำกว่าน้ำในคลอง น้ำในคลองจะไหลลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ ต่อจากนั้นจะเริ่มสูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิง เพื่อทำให้น้ำตอนบนค่อย ๆ ไหลมาเอง จึงทำให้เกิดน้ำท่วมน้อยลง จนในที่สุดเมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในคลอง จึงปิดประตูระบายน้ำ โดยให้น้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)
ด้วยพระราชดำริอันกว้างไกลที่ทรงเล็งเห็นถึงธรรมชาติของลิง จนนำมาสู่การคิดค้นโครงการ ดังพระราชกระแสที่ทรงอธิบายไว้ว่า “ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวี หรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อย ๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง” เปรียบได้กับช่วงเวลาที่เกิดน้ำท่วม การขุดคลองต่าง ๆ จะเป็นการชักน้ำให้มารวมกันและนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำซึ่งเปรียบได้กับแก้มลิง จากนั้นจึงระบายน้ำลงทะเลเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง
โดยโครงการแก้มลิงจะกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ กว่า ๒๐ จุด แบ่งเป็นโครงการฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งในส่วนของแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง ดังนี้
– ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา: ใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ ตั้งแต่จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร
– ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา: ซึ่งจะใช้คลองมหาชัย คลองสนามชัย และแม่น้ำท่าจีน ทำหน้าที่เป็นคลองรับน้ำในพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดอ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นครปฐม และกรุงเทพมหานคร แล้วระบายลงสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร
– แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง กักเก็บน้ำระบายไปสู่อ่าวไทย เมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ โดยประกอบไปด้วย ๓ โครงการในระบบ คือ
๑. โครงการแก้มลิง “แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง”
๒. โครงการแก้มลิง “คลองมหาชัย-คลองสนามชัย”
๓. โครงการแก้มลิง “คลองสุนัขหอน”
ประเภทของโครงการแก้มลิง มีทั้งหมด ๓ ขนาด คือ
๑. ขนาดใหญ่ (Retarding Basin) คือ สระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ที่รวบรวมน้ำฝนจากพื้นที่นั้น ๆ โดยจะกักเก็บไว้ที่เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทุ่งเกษตรกรรม ฯลฯ ในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะระบายสู่ลำน้ำ ซึ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ด้านอื่นด้วย เช่น เพื่อการชลประทานและเพื่อการประมง
๒. ขนาดกลาง เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำ มักเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง เป็นต้น
๓. ขนาดเล็ก (Regulating Reservoir) คือแก้มลิงที่มีขนาดเล็ก เช่น พื้นที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น ลานจอดรถ หรือสนามในบ้าน ซึ่งต่อเข้ากับระบบระบายน้ำหรือคลอง
ทั้งนี้ แก้มลิงที่อยู่ในพื้นที่เอกชน เรียกว่า “แก้มลิงเอกชน” ส่วนที่อยู่ในพื้นที่ของราชการและรัฐวิสาหกิจจะเรียกว่า “แก้มลิงสาธารณะ”
โครงการแก้มลิง เป็นเพียงตัวอย่างของโครงการในพระราชดำริและเป็นเพียงหนึ่งในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ซึ่งทรงริเริ่มด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพ ด้วยพระประสงค์ให้พสกนิกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เรียกได้ว่า ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้น ทรงทำเพื่อผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ประชาชนของพระราชา’ หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ ยอมเสียสละเพื่อความสุขของลูก นั่นเอง
Source: เรารักพระเจ้าอยู่หัว, chaipat, posttoday