การแถลงข่าว 4 สภาวิชาชีพ สภาทนายความ สภาวิศวกร สภาสถาปนิก และสภาวิชาชีพบัญชี 
เรื่อง“กรณีมาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคม อย่างไร”

เมื่อวันอังคารที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา 4 สภาวิชาชีพ ประกอบด้วย ดร. กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร          พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน นายกสภาสถาปนิก นายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความ และนายประเสริฐ หวังรัตนปราณี อุปนายกสภาวิชาชีพบัญชี ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง“กรณีมาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคม อย่างไร”

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. …. นั้น ในส่วนที่ 3 การบริการวิชาการแก่สังคม มาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้ สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้ซึ่งเป็นบทบัญญัติดังกล่าว เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  กฎหมายวิชาชีพวิศวกร สถาปนิก ทนายความและกฎหมายวิชาชีพบัญชี รวมถึงขัดแย้งกับร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ….ในหมวด๒ว่าด้วยหลักการสำคัญของการจัดการอุดมศึกษามาตรา 8  ในหมวด5ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษามาตรา 37 (3) และมาตรา 48 ซึ่งผลของการบัญญัติให้ “สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้” จะส่งผลกระทบและความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนส่วนรวม ดังนี้

  1. การบัญญัติกฎหมายให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้

จะทำให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐสามารถออกไปรับจ้างประกอบธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวดที่ 6 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐมาตรา 75 วรรค 2 ที่บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน…”โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลมาประกอบวิชาชีพโดยใช้ทรัพยากรของรัฐโดยไม่มีต้นทุน ต่างกับภาระต้นทุนของภาคเอกชนทำให้ได้เปรียบภาคเอกชน ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

อีกทั้งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทำให้ไม่เกิดการว่าจ้างนิติบุคคลเอกชนหรือจ้างในอัตราที่ต่ำมาก กระทบต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาด้านวิชาชีพ ตลอดจนการจ้างงานบุคลากรวิชาชีพขององค์กรวิชาชีพภาคเอกชนอย่างมากและอาจเป็นสาเหตุให้วิชาชีพเกิดความอ่อนแอในอนาคต

  1. การบัญญัติกฎหมายให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้

เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติกฎหมายวิชาชีพวิศวกร สถาปนิก ทนายความกฎหมายวิชาชีพบัญชี และกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ที่บังคับใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว อันจะนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างสภาวิชาชีพกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบล่าช้าต่อการบริหารจัดการกิจการภาครัฐและส่งผลกระทบถึงสังคม ประชาชนในที่สุด

  1. การบัญญัติกฎหมายให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้

ส่งกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้บริการเนื่องจากสถาบันอุดมศึกษาสามารถประกอบวิชาชีพควบคุมได้อย่างอิสระในทุกสาขาวิชาชีพอย่างไม่จำกัดขอบเขตและไร้การกำกับดูแลจากสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้งงานด้านวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเกิดจากการนำเอาพื้นฐานทางวิชาการมาฝึกฝนสะสมทักษะและประสบการณ์จนมีความสามารถและผ่านระบบการทดสอบจากสภาวิชาชีพเฉพาะด้านในเรื่องนั้น ๆ เช่น บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านออกแบบสะพาน ก็มาจากวิศวกรในวิชาชีพที่ได้ฝึกฝน เรียนรู้การออกแบบสะพานมาเป็นเวลานานจนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องสะพานดังกล่าว แต่สถาบันอุดมศึกษามิได้มีผ่านกระบวนการฝึกฝนสะสมทักษะและประสบการณ์ดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้บริการ

  1. ส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางการศึกษาซึ่งเป็นงานในหน้าที่หลัก พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. …. และพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ควรมุ่งเน้นให้บุคลากรทำหน้าที่และอุทิศเวลา ในการดำเนินการทางด้านวิชาการ การเรียน การสอน และการวิจัยมากกว่าบริการวิชาชีพ
  2. การให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลมหาชนตามกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตสามารถประกอบวิชาชีพควบคุมได้ ส่งผลให้การได้รับบริการวิชาชีพไม่มีเกณฑ์มาตรฐานในการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพควบคุมซึ่งเกณฑ์มาตรฐานในการกำกับดูแลมีตั้งแต่ในชั้นของการออกแบบ การปฏิบัติตามสัญญา การรับประกันผลงาน อาจทำให้ไม่สามารถปกป้องความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และสังคม  ซึ่งแตกต่างจากนิติบุคคลมหาชนอื่นๆที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ หน้าที่ และภารกิจเฉพาะในขอบเขตงานของตนเองรับผิดชอบเท่านั้น อาทิเช่น การไฟฟ้านครหลวงมีอำนาจหน้าที่ในจัดให้ได้มา การจำหน่ายและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าซึ่งเข้าข่ายเป็นงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวงจึงสามารถประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้เพียงในงานวิศวกรรมไฟฟ้าเท่านั้น ไม่อาจดำเนินการวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือวิชาชีพอื่น ๆ ได้
  1. มาตรา 48 ทำให้ไม่มีหลักประกันใด ๆ ในการประกอบวิชาชีพในส่วนของความรับผิดชอบต่อผลงาน เนื่องจากหากว่าจ้างนิติบุคคลผู้ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพ หากปรากฏว่านิติบุคคลผู้นั้นกระทำผิด สภาวิชาชีพจะมีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบและลงโทษบุคคลดังกล่าวได้ถึงขั้นไม่อนุญาตให้ประกอบวิชาชีพต่อไปได้ (เพิกถอนใบอนุญาต) การมีมาตรา 48 ทำให้ไม่สามารถควบคุมดูแลสถาบันอุดมศึกษาในลักษณะดังกล่าวได้
  2. ปัญหาเรื่องความโปร่งใสและธรรมมาภิบาล

7.1 การกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถบริการวิชาชีพได้ทำให้บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา
ต้องมาเบียดบังเวลาราชการในการเรียนการสอนหนังสือเพื่อมาประกอบวิชาชีพควบคุม

7.2 มาตรา 48 ส่งผลให้เกิดช่องว่างในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐเปิดช่องให้มีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ร่วมถึงมีการรับจ้างช่วง (sub) งานในนามของสถาบันอุดมศึกษาและส่งต่องานให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ (หักหัวคิว)

7.3 ส่งผลกระทบต่อระบบภาษีของรัฐ เนื่องจากการว่าจ้างสถาบันอุดมศึกษาไม่ต้องเสียภาษีรายได้

7.4 เกิดความไม่เหมาะสมที่หน่วยงานของรัฐจะว่าจ้างหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

ด้วยกันเองในการบริการวิชาชีพในอัตราค่าจ้างเท่ากับราคาค่าจ้างที่ดำเนินการโดยเอกชน

7.5 ส่งผลให้เกิดการทุจริตแบบบูรณาการ โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เนื่องจากรายได้จากการประกอบวิชาชีพถือเป็นเงินนอกระบบงบประมาณ ทำให้หน่วยงานตรวจสอบของรัฐอื่นๆไม่สามารถตรวจสอบได้

7.6 เกิดความตกต่ำของมาตรฐานทางศีลธรรม และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวิชาชีพจะลดลง ทำให้ไม่อาจตอบสังคมได้ว่า การให้บริการทางวิชาชีพถือเป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา หรือไม่

ดังนั้น สภาวิชาชีพทั้ง 4 จึงขอคัดค้านบทบัญญัติของมาตรา 48 แห่ง “ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ…..”  โดยขอให้ตัดคำว่า “วิชาชีพ” ที่ระบุใน มาตรา 48 ออกทั้งหมด เพื่อเป็นการปกป้องสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

————————————————————————————–

บทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 
ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.….
หมวด ๒ หลักการสำคัญของการจัดการอุดมศึกษา
มาตรา ๘ การอุดมศึกษามีหลักการสำคัญในการจัดการอุดมศึกษาดังต่อไปนี้
(๑) หลักความรับผิดชอบต่อสังคม
(๒) หลักเสรีภาพทางวิชาการ
(๓) หลักความเป็นอิสระ
(๔) หลักความเสมอภาค
(๕) หลักธรรมาภิบาล
หมวด ๕ หน้าที่และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษา
มาตรา๓๗สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) การจัดการศึกษา
(๒) การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม
(๓) การบริการวิชาการแก่สังคม
(๔) การทานุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
(๕) อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามวรรคหนึ่งสถาบันอุดมศึกษาต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือแผนพัฒนาประเทศในรูปแบบอื่นและสนองต่อความจำเป็นและความต้องการของประเทศในด้านต่างๆการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ให้กับประเทศการพัฒนากำลังคนของประเทศและการจัดการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจสังคมและมีพลเมืองที่มีคุณภาพ
การดำเนินการตาม (๒) โดยใช้งบประมาณแผ่นดินต้องสอดคล้องกับแนวทางที่สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติกำหนด
ส่วนที่๓การบริการวิชาการแก่สังคม
มาตรา๔๘สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพและให้คำปรึกษาทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมภายนอกสถาบันอุดมศึกษาโดยนำความรู้จากการจัดการศึกษาการฝึกอบรมทางวิชาการการผลิตงานวิจัยและการสร้างนวัตกรรมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมาดำเนินการดังกล่าวเพื่อพัฒนาสังคมในด้านวิชาการหรือการพัฒนาความรู้ตลอดจนความเข้มแข็งของประเทศชาติและนานาชาติ
บทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๖๐
หมวด๖ แนวนโยบายแห่งรัฐ
มาตรา๗๕รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโต
ทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึงเป็นธรรมและยั่งยืนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญา
ของเศรษฐกิจพอเพียงขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน
ทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ
รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชนเว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็น
เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมการจัดให้มีสาธารณูปโภค
หรือการจัดทำบริการสาธารณะ
รัฐพึงส่งเสริมสนับสนุนคุ้มครองและสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ประเภทต่างๆและกิจการวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางของประชาชนและชุมชน
ในการพัฒนาประเทศรัฐพึงคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจและความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนประกอบกัน
มาตรา๗๗รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นและยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย
ที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนและดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับรัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องวิเคราะห์
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบรวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชนและนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วรัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วยเพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป
รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็นพึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจนและพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

 

Previous articleคอตโต้ คว้ารางวัล PM Award 2018 Best Thai Brand ตอกย้ำความสำเร็จในการสร้าง Brand
Next articleสตีเบล เอลทรอน เผยยอดขายปีนี้ เติบโตกว่า 20%