จบไปแล้วสำหรับการแข่งขันมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติที่เรารู้จักในนาม โอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ซึ่งเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นสามารถจัดงานออกมาได้อย่างสมคำร่ำลือ ญี่ปุ่นก็คือญุี่ปุ่น ไม่ว่าจะเกิดความล่าช้าในการจัดไป 1 ปี ก็สามารถจัดออกมาได้อย่างดีเยี่ยมทั้งพิธีเปิดและพิธีปิดที่ปิดฉากลงได้อย่างสวยงาม แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
วันนี้ BuilderNews รวมลิสต์งานออกแบบ The Best and The worst ที่บอกเลยพลาดไปคงเขินแย่ ในโตเกียว โอลิมปิก 2020 ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งไฮไลท์สำคัญของงานครั้งนี้มาให้รับชมกัน
THE BEST OF DESIGN:
สนามกีฬาโอลิมปิก Tokyo 2020 Olympic Stadium
สนามกีฬาที่มีความจุถึง 60,000 ที่นั่ง ออกแบบโดย Kengo Kuma สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ผ่านรูปลักษณ์การดีไซน์ที่มีแรงบันดาลใจเพื่อเชื่อมโยงธรรมชาติของญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน โดยการเลือกใช้คู่สีผสมระหว่างสีเขียว สีน้ำตาล และสีขาว เพื่อสะท้อนการเติบโตของต้นไม้ ที่ทำลายการออกแบบสนามกีฬาที่ใช้โครงสร้างเหล็กและคอนกรีตไปโดยปริยาย
เหรียญรางวัลจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ Recycled Medals
ในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้เหรียญรางวัลกว่า 5,000 เหรียญที่เจ้าภาพมอบให้นักกีฬานั้น ทำมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งเหรียญทอง เงิน และทองแดง ซึ่งมีปริมาณรวม 78,985 ตัน มาจากหน่วยงานท้องถิ่น 1,621 แห่ง และการบริจาคโทรศัพท์มือถือเก่าจำนวน 6.21 ล้านเครื่องทั่วประเทศ ใช้เวลารวบรวมกว่า 2 ปี ตั้งแต่ปี 2017 – 2019 เมื่อนำมารีไซเคิลได้ทองราว 32 กิโลกรัม เงิน 3,500 กิโลกรัมและทองแดง 2,200 กิโลกรัม
เตียงนอนกระดาษแข็ง Cardboard beds
เตียงนอนนักกีฬาผลิตจากกระดาษลังรีไซเคิล ที่รังสรรค์ดีไซน์โดยบริษัทผู้ผลิตที่นอนอย่าง Airweave ซึ่งเป็นการบังคับใช้เตียงนอนกระดาษครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแข่งขัน มีจุดเด่นที่น้ำหนักเบา โดยห้องพักในหมู่บ้านนักกีฬา 1 ห้อง จะสามารถเข้าพักได้ 2 คน นักกีฬาสามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งเตียงนอนภายในห้องพักได้อย่างสะดวกตามต้องการ ด้วยดีไซน์ที่เกินต้านนี้เพียงในคืนเดียวก็กลายเป็นกระแสไวรัลในทันที
เมื่อคืนแรกของเหล่านักกีฬาที่เข้าพักยังหมู่บ้านนักกีฬาได้เริ่มต้นขึ้น หลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิดการแข่งโตเกียว โอลิมปิก 2020 ที่ต้องแปลกใจกับเตียงดังกล่าว จนพอล เชลิโมนักวิ่งชาวอเมริกัน เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกวิ่งระยะ 5,000 เมตร ทวิตข้อความว่า “เตียงกระดาษแข็งในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก มีไว้หลีกเลี่ยงไม่ให้นักกีฬาใกล้ชิดกันจนเกินไป เพราะว่ามันคงรับน้ำหนักได้แค่คนเดียวแน่ๆ” เพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้ รีส แม็กเคลนาแกน นักวิ่งชาวอเมริกันอีกคน จึงได้ถ่ายวิดีโอทดสอบด้วยการขึ้นไปกระโดดย่ำ ๆ บนเตียงกระดาษแข็ง แล้วพบว่ามันแข็งแรงจนน่าเหลือเชื่อ จนกลายเป็นสีสันของการแข่งขันโอลิมปิกตั้งแต่วันแรกไปโดยปริยาย
หุ่นยนต์ Constant Gardeners
ระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกจะพบเห็นหุ่นยนต์ชื่อว่า Constant Gardeners ที่คอยทำหน้าที่วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของนักกีฬาและแปลเป็นภาพประกอบไดนามิก ที่สร้างขึ้นควบคู่ไปตลอดระยะเวลาของเกมส์การแข่งขันบริเวณสวนอุเอโนะที่รวมระหว่างศิลปะ เทคโนโลยีและกีฬา
ชุดกีฬาของนักกีฬาชาวไลบีเรีย
เป็นอย่างที่รู้กันดีว่าประเทศไลบีเรียนั้นเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก เนื่องจากมีประชากรเพียง 5 ล้านคน แต่กลับกลายเป็นประเทศที่มีชุดกีฬาที่มีดีไซน์ที่น่าจับตามองที่สุดในการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ เพราะด้วยความแปลกใหม่ที่กล้าแตกต่างจากชุดนักกีฬาปกติตามแนวคิดของ Telfar Clemens ดีไซเนอร์ชาวอเมริกัน เชื้อสายไลบีเรีย ผ่านดีไซน์ขาด ๆ เกิน ๆ แบบแฟชั่นที่สามารถสวมใส่ได้ทุกชุด โดยไร้ขีดจำกัดเรื่องเพศ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสวมใส่ได้ด้วยความเสมอภาคต่อกัน
แว่นตากันแดด Oakley Kato
แว่นตากันแดดทรงรีมิกซ์ ที่สร้างความตกตะลึงให้กับการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ทันทีที่ Oakley ออกมาเปิดตัวด้วยรูปทรงที่ออกแบบให้สอดคล้องกับรูปทรงของใบหน้า ด้วยโครงสร้างแว่นแบบไร้กรอบ หรือแม้กระทั่งฟังก์ชันการเอียงของแว่นที่และแผ่นรองจมูกหลายอัน ซึ่งล้วนเป็นการดีไซน์สำหรับการสวมครอบสุดล้ำและแปลกใหม่ที่ช่วยให้ใส่ได้พอดีโดยมีการปรับให้เหมาะสม ผสานกับเทคโนโลยีเลนส์ Prizm ที่ช่วยเสริมศักยภาพให้นักกีฬาด้วยการสวมครอบที่พอดี มุมมองกว้างขึ้น และเลนส์ที่ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงสีและการตัดแสงซึ่งช่วยให้เห็นรายละเอียดได้มากขึ้น
แทร็กวิ่งทำลายสถิติ Record-crushing track
หากใครได้ชมการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ ในการแข่งขันโอลิมปิกจะพบว่าการแข่งขันกีฬาแต่ละประเภทนั้น นักกีฬาไม่ได้มุ่งมั่นคว้าเหรียญทองเพียงอย่างเดียว แต่หลายคนอยากได้ของแถมเป็นสถิติใหม่หรือเวลาวิ่งส่วนตัวที่ดีที่สุด
ทางเจ้าภาพจึงได้ดีไซน์ลู่วิ่งให้มีความนุ่มกว่าลู่วิ่งทั่วไป เพื่อช่วยให้เข้ากับเทคโนโลยีที่ช่วยให้นักวิ่งออกแรงไม่เสียเปล่า โดยเฉพาะกับรองเท้าตะปูของนักวิ่งแต่ละคนที่ออกแบบมาวิ่งในสนามแทร็กโดยเฉพาะ จนนักกีฬาหลายคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “สนามที่นี่มีผลช่วยให้วิ่งได้เร็วขึ้นจริง เพราะมันนุ่มเหมือนวิ่งบนอากาศเลยล่ะ”
แท่นคบเพลิง The Olympic caldron
ออกแบบโดย Nendo ภายใต้แนวคิดทุกคนรวมตัวกันภายใต้ดวงอาทิตย์ ทุกคนเท่าเทียมกัน และได้รับพลังงานกันทั้งหมด ผ่านการดีไซน์แก้วทรงกลมรูปทรงคล้ายดวงอาทิตย์ที่คลุมด้วยแผ่นแผงกระจกหลายเหลี่ยม เพื่อการสะท้อนแสงของการจุดคบเพลิงให้มีความสวยงาม
พิคโตแกรม Pictogram People
พิคโตแกรมมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่นำรูปสัญลักษณ์มาสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1964 ที่โตเกียว ซึ่งไอคอนเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นวิธีการแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีการแข่งขันกีฬาประเภทใดสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
สำหรับการแข่งขันในปีนี้พิคโตแกรม ถูกทำออกมาถึง 50 ภาพ จาก 33 ชนิดกีฬาในโอลิมปิก ซึ่งทำให้กีฬาบางประเภทอย่างจักรยานหรือขี่ม้ามีมากกว่า 1 ภาพ ในขณะที่พาราลิมปิกมีทั้งหมด 23 ภาพจาก 22 ชนิดกีฬา และทั้งสองรายการนี้ ยังถูกแบ่งออกเป็นสองเซต คือแบบไม่มีกรอบและแบบมีกรอบ ก่อนที่จะกลายเป็นไฮไลต์สำคัญในพิธีเปิด ถูกนำมาเสนอในสไตล์ Kasou Taishou เกมโชว์สุดฮาที่รู้จักกันในชื่อ เกมซ่าท้ากึ๋น จนถูกพูดถึงไปทั่วโซเชียลทั้งในไทยและต่างประเทศ
THE WORST OF DESIGN:
หมวกว่ายน้ำ Soul Cap
ก่อนการแข่งขันโอลิมปิก Soul Cap ผู้ผลิตหมวกว่ายน้ำในประเทศอังกฤษ ได้ดีไซน์หมวกว่ายน้ำที่มีขนาดเหมาะสมกับทรงผมแอโฟรและผมที่หยิกฟูและหนาของนักกีฬาหลาย ๆ คน
เพราะหมวกว่ายน้ำที่หาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านขายเสื้อผ้านักกีฬามีขนาดเล็กเกินกว่าจะครอบผมของนักกีฬาได้หมด อีกทั้งสภาพผมแอโฟรยังแห้งกว่าสภาพผมอื่นๆ จึงทำให้ได้รับความเสียหายจากสารเคมีในสระว่ายน้ำมากกว่า ซึ่งทาง FINA ให้เหตุผลว่าหมวกว่ายน้ำของ Soul Cap นั้นไม่เหมาะสม เพราะไม่เป็นไปตามรูปทรงธรรมชาติของศีรษะ
เครื่องแบบพิธีเปิดของทีมชาติสหรัฐอเมริกา
ในพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ Ralph Lauren ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวอเมริกันวัย 80 ปี ถือโอกาสเปิดตัวดีไซน์เครื่องแบบทัพนักกีฬาทีมชาติสหรัฐอเมริกาใส่เดินขบวนพาเหรดลงสนาม ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีระบายความร้อนไปในตัวบวกกับการเลือกใช้โทนสีแดง ขาว และน้ำเงินที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเดินเรือ แต่ทว่าการออกแบบในครั้งนี้เป็นการดีไซน์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนมาจากสถานที่มากเกินไป จนขัดแย้งกับจิตวิญญาณของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
Source