ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ ผู้ประกอบการเครื่องปั้นดินเผาในโคราช ได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) หรือ ITAP เครือข่าย มทส. ในด้านผู้เชี่ยวชาญ มากถึง 5 โครงการ จนเกิดเป็นโรงงานนวัตกรรมเฉพาะของบริษัทฯ ที่เป็นโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผา มีนวัตกรรมต่าง ๆ รองรับการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเตรียมดิน การเปลี่ยนจากเตาฟืนเป็นเตาแก๊ส การปรับปรุงกระบวนการผลิต การเปลี่ยนจากอบแห้งผึ่งลมธรรมชาติเป็นเตาอบเชิงอุตสาหกรรม และการปรับปรุงการเผาด้วยเตาฟืน ผ่านกลวิธีผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเซรามิกที่ทันสมัย จนเกิดเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการผลิตของผู้ประกอบการ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และแก้ปัญหาได้รวดเร็วตรงจุด รวมถึงเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อยกระดับฝีมือและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SME มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของไทยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม SME มักจะเติบโตได้ช้า ด้วยความไม่พร้อมในหลายด้าน ดังนั้น การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้อย่างตรงจุด จะช่วยเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการ SME ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โจทย์ส่วนใหญ่ที่ SME ไทยต้องการการสนับสนุน ได้แก่ การพัฒนากระบวนการผลิต การลดต้นทุน การพัฒนามาตรฐาน การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปช่วยแก้ปัญหา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาด
ด้านผู้ประกอบการ คุณทศพร คลังบุญครอง กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ กล่าวว่า “โคราช แสงสุวรรณ” เริ่มจากทำเป็นอาชีพเสริม โดยจัดหาสินค้าประเภทเครื่องปั้นดินเผาให้ตัวแทนที่รับไปส่งออกอีกทอดหนึ่ง เมื่อเห็นแนวโน้มธุรกิจไปได้ดี จึงได้สร้างโรงงานเพื่อที่ทำการส่งออกเอง ในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณพ็อตเทอร์รี่ ช่วงแรกการทำธุรกิจให้ความสำคัญกับการตลาด คือหาลูกค้า ออกงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศทุกปี เป็นเวลา 20 ปี จนในปี 2559 จึงพบว่า เรามีความมั่นคงด้านการตลาดมากพอที่จะมองถึงก้าวต่อไป คือ การพัฒนาด้านการผลิต และเนื่องจากผู้บริหารทั้งหมดจบด้านบริหารธุรกิจ จึงต้องการที่ปรึกษาในด้านการผลิต มีการหาข้อมูล และติดต่อไปที่ สวทช. จนนำมาสู่การขอรับสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP เครือข่าย มทส. โดยโครงการที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้น แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ การเตรียมวัตถุดิบ (ดิน) การอบชิ้นงาน และการเผาชิ้นงาน ทำให้บริษัทมีความรู้ในด้านการผลิตที่ถูกต้อง ถือเป็นก้าวเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับก้าวต่อ ๆ ไปของบริษัทเป็นอย่างมาก เพราะหากจะวัดผลตอบรับทางการตลาดจากการพัฒนานวัตกรรมแล้ว สามารถแบ่งได้ 2 ส่วน ภายใน คือ พนักงาน มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและยังมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับองค์กรในอนาคต และภายนอก คือ ลูกค้า การที่ลูกค้าได้มาเห็นการพัฒนานวัตกรรมของบริษัท ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในองค์กร นำสู่การพูดคุยเพื่อนำนวัตกรรมไปพัฒนาสินค้าในหลายรายการ ผู้สนใจสินค้าของบริษัท สามารถติดตามได้ที่ แฟนเพจ “คลังกระถาง โคราช – กระถาง แจกัน อุปกรณ์ตกแต่งสวน – โรงงานผลิตและส่งออก” หรือโทร. 063 023 7855
กรรมการผู้จัดการ หจก. โคราชแสงสุวรรณฯ กล่าวต่อว่า “อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผายังสามารถเติบโตไปได้อีกมาก เพราะเป็นสินค้าที่สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่นำไปตกแต่งสวน จนถึงการนำไปใส่ตู้โชว์ ขณะที่ตลาดในต่างประเทศ ยังเป็นที่สนใจของลูกค้าจำนวนมาก ด้วยเอกลักษณ์ของงานทำมือ ที่สามารถสร้างความแตกต่างในด้านการตลาด และยังสร้างความยืดหยุ่นในแง่การผลิตได้ดีอีกด้วย”
ด้านผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP เครือข่าย มทส. ผศ.ดร.อนุรัตน์ ภูวานคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า ITAP เครือข่าย มทส. ให้ความช่วยเหลือ หจก.โคราชแสงสุวรรณฯ ในด้านเป็นตัวกลางประสานงานระหว่าง สวทช. ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญ จากการสนับสนุนด้วยการให้คำแนะนำและช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินโครงการ พบว่า ผลสำเร็จของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเปลี่ยนกระบวนการเผาจากเตาฟืนเป็นเตาแก๊ส มีของเสียลดลงอย่าชัดเจน จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 5 คิดเป็นปริมาณของเสียที่ลดลงถึงร้อยละ 83 รวมถึงลดเวลาเผาลงได้ร้อยละ 57 จากเดิมใช้เวลา 7 วัน เหลือเพียง 3 วัน ขณะที่ผลสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ด่านเกวียนโดยเปลี่ยนกระบวนการอบแห้งจากการผึ่งลมตามธรรมชาติเป็นเตาอบเชิงอุตสาหกรรม พบว่า ลดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากเดิมมี 10 – 20 % (ขึ้นกับฤดูและสภาพอากาศ) เหลือเพียงน้อยกว่า 0.2 % และยังลดเวลาอบแห้งได้มากกว่าร้อยละ 50 จาก 14 วัน เหลือเพียง 4 – 5 วัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับคำปรึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีในหลายด้าน ทั้งการก่อสร้าง การใช้งาน การควบคุมเตาอบ ความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีแก้ปัญหาและวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สำหรับก้าวต่อไปจะเป็นในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยยังคงเอกลักษณ์ของชุมชมดั้งเดิมเอาไว้ เนื่องจากปัจจุบันสินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นดินเผาซึ่งขนาดใหญ่แต่มีราคาไม่สูงมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่มีขนาดเล็กลงแต่มีมูลค่าที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้วางแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชมให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากกำลังการผลิตส่วนหนึ่งมาจากช่างในชุมชนด่านเกวียน การพัฒนาและให้ความรู้ที่ถูกต้องจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของช่างในท้องถิ่นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” ผู้เชี่ยวชาญ ITAP เครือข่าย มทส. กล่าวผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จากโปรแกรม ITAP สวทช. ซึ่งที่ผ่านมาได้สนับสนุนผู้ประกอบการไทยแล้วมากกว่า 10,000 โครงการ และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 1,500 ราย พร้อมช่วยสนับสนุน SME ไทยในการปรับตัวสู่ยุค New Normal สามารถติดต่อเข้าใช้บริการ ITAP สวทช. ได้ทุกเครือข่ายทั้ง 20 แห่งทั่วประเทศ ข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ itap.nstda.or.th หรือโทร. 0 2564 7000 ต่อ ITAP (ไอแทป)