ในปัจจุบัน BIM หรือ Building Information Modeling เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการก่อสร้าง ตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบไปจนถึงการก่อสร้างอาคาร เนื่องจาก BIM เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ข้อมูลของการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ถูกต้องมากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถสร้างภาพเป็นโมเดลสามมิติ ซึ่งต่างจากโปรแกรม CAD ที่เป็นการเขียนแบบสองมิติ อีกทั้งยังช่วยในการจัดทำเอกสารรายงานและข้อมูลต่าง ๆ ของอาคารได้ด้วย
อย่างไรก็ตามการที่จะเปลี่ยนมาใช้ BIM ในองค์กร ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนัก Builder ฉบับนี้ จึงขอนำเสนอ 10 ขั้นตอนที่จะช่วยให้การปรับเปลี่ยนมาใช้ BIM เป็นเรื่องง่ายขึ้น
1. ทำความรู้จัก BIM
ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ BIM ควรทำความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงจะมีผลต่อทีมเวิร์คของคุณอย่างไรบ้าง ควรมอบหมายให้พนักงาน 1 หรือ 2 คน สังเกตการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ระยะเวลาในการทำงานในส่วนของราย ละเอียดการออกแบบของ BIM จะมากกว่าการใช้โมเดลสองมิติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของพนักงานในองค์กรในการปรับเปลี่ยนวิธีและเวลาการทำงาน
2. สร้างความเข้าใจแก่พนักงานเกี่ยวกับจุดประสงค์ของการปรับเปลี่ยน
ควรชี้แจงจุดประสงค์ของการปรับเปลี่ยนแก่พนักงานในบริษัท โดยเน้นให้เห็นถึงประโยชน์ที่บริษัทและลูกค้าจะได้รับ มากกว่าการชี้ให้เห็นว่าบริษัทต้องเปลี่ยนมาใช้ BIM ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน นอกจากนี้หัวหน้าทีมควรชี้ ให้ลูกทีมเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญต่ออนาคตของบริษัท แทนที่จะบอกว่า “อยากทดลองใช้ BIM เพื่อดูว่ามันส่งผลดีต่อพวกเราหรือไม่”
3. ตรวจสอบว่าควรอัพเดทซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์หรือไม่
เนื่องจากเทคโนโลยี BIM สร้างงานในรูปแบบโมเดลสามมิติ ดังนั้นควรตรวจเช็คว่าซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่ใช้งานอยู่ปัจจุบันพร้อมรองรับและมีประสิทธิภาพเพียงพอกับการทำงานของโปรแกรมหรือไม่
4. วางแผนกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
หลังจากขั้นตอนการเตรียมความพร้อม สิ่งที่ควรกระทำต่อไปคือการวางแผนส่วนอื่น ๆ ของกระบวนการ เช่น การวางแผนฝึกอบรมพนักงานว่าใครที่ควรเข้ารับการอบรม และเมื่อไหร่ที่ควรจะเริ่มการอบรมและที่สำคัญควรมีเวลาให้พนักงานได้สอบถามเกี่ยวกับปัญหาหรือข้อข้องใจต่าง ๆ ด้วย การปรับเปลี่ยนในองค์กรจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อคุณช่วยพนักงานปรับวิธีการทำงานใหม่
5. เริ่มต้นด้วยโปรเจคนำร่อง
ควรทดลองใช้ BIM กับโปรเจคนำร่องก่อน เช่นเดียวกับการฝึกอบรมพนักงานที่รับผิดชอบในโปรเจคนั้น เพราะโปรเจคนำร่องจะทำให้เราเรียนรู้ถึงปัญหาและสิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อนำ BIM มาใช้กับโปรเจคอื่น ๆ ต่อไปได้ ในขณะเดียวกันทีมนำร่องก็จะสามารถช่วยเหลือทีมอื่น ๆ ได้มากขึ้นด้วย
6. บันทึกวิธีการและกระบวนการทำงานที่พึงพอใจ
ควรให้ทีมนำร่องทำการบันทึกวิธีการทำงานที่พวกเขาพึงพอใจไว้ วิธีนี้จะช่วยให้คุณรู้ว่าจะใช้ BIM อย่างไร เพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนวิธีการทำงานดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้การบันทึกข้อมูลยังช่วยให้ทีมพัฒนามาตรฐานการทำงานที่มีประสิทธิภาพในอนาคตอีกด้วย
7. รวบรวมพนักงานที่มีประสบการณ์ด้าน BIM
ควรให้พนักงานที่มีความรู้เกี่ยวกับ BIM เข้าร่วมในทีมนำร่องและควรจัดการฝึกอบรมให้กับสมาชิกในทีมเหล่านี้เป็นพิเศษ เพื่อที่พวกเขาจะได้คอยช่วยเหลือทีมอื่น ๆ ในการใช้ BIM
8. ฝึกอบรมทีมของคุณอย่างค่อยเป็นค่อยไป
การฝึกอบรมพนักงานทั้งหมดในบริษัทเพียงครั้งเดียวไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดที่ควรจะปฏิบัติ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนสู่ระบบ BIM ควรเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละโปรเจค ดังนั้นควรเริ่มฝึกอบรมทีมของคุณก่อนที่พวกเขาจะเริ่มทำโปรเจค BIM เพราะบางครั้งการฝึกอบรมล่วงหน้าเป็นเวลานาน อาจทำให้ลืมสิ่งที่ได้ฝึกอบรมมาได้
9. ร่วมมือกันทำงาน
ระบบ BIM จะถูกใช้อย่างมีประโยชน์ที่สุดเมื่อ Comprehensive Model ถูกแชร์ระหว่างที่ปรึกษาด้าน MEP, วิศวกร และบริษัทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโปรเจค เนื่องจากจะช่วยให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
10. ปรับเปลี่ยนและขยายผล
BIM ช่วยเพิ่มศักยภาพการออกแบบ การประสานงาน และการวิเคราะห์ ดังนั้นความท้าทายของบริษัทก็คือการพัฒนาวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพเหล่านี้ เพื่อสร้างคุณค่าและงานบริการให้กับลูกค้า การสื่อสารเกี่ยวกับข้อดีและประโยชน์ของ BIM ให้ลูกค้าได้รับรู้ จัดว่าเป็นเครื่องมือทางการตลาดอย่างหนึ่ง ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และความกระตือรือร้นในการใช้ BIM โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าที่มองว่า BIM เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโปรเจคของเขาด้วย
นิตยสาร Builder Vol.35 SEPTEMBER 2016