ตลอดปี 2016 นี้ จะเห็นได้ว่า มีสิ่งปลูกสร้างหรือพาวิลเลียนชั่วคราวเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก แต่ละชิ้นล้วนแล้วแต่เผยให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และไอเดียใหม่ ๆ อันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า สถาปัตยกรรมและศิลปะมีความเชื่อมโยง และใกล้เคียงกันเข้าไปมากขึ้นทุกที

แม้ว่าการสร้างสถาปัตยกรรมแต่ละชิ้น จะมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ อัตราส่วน และเวลา แต่ผลงานทุกชิ้นก็ได้รับความใส่ใจในรายละเอียด โดยเฉพาะรายละเอียดในด้านวิศวกรรม ไปชมกันเลยว่าสถาปัตยกรรมที่น่าจับตามองเหล่านี้ มีอะไรบ้าง

Droneport โดย Norman Foster

designboom-top-ten-2016-temporary-structures-01
© designboom

Droneport แห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อนำไปจัดแสดงในงาน Venice Architectre Biennale ผู้ออกแบบ คือ Norman Foster สถาปนิกชาวอังกฤษ ซึ่งออกแบบ Droneport ให้เป็นเหมือนสถานีทางด้านโลจิสติกส์ สำหรับลำเลียงสิ่งของ เวชภัณฑ์ และข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้แก่ประชากรในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งมีอุปสรรคทางด้านการเดินทางและการขนส่ง อย่างเช่น ประชากรในประเทศรวันดา

“โปรเจค Droneport นี้ เป็นการสร้างสิ่งเล็ก ๆ ให้ยิ่งใหญ่ โดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งก็คือ โดรน มาใช้ในการลำเลียงสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเวชภัณฑ์ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล” Norman Foster กล่าว

Serpentine Pavillion โดย Bjarke Ingels Group/BIG

designboom-top-ten-2016-temporary-structures-02-818x546
© iwan baan

Serpentine Pavillion เป็นพาวิลเลียนมีดีไซน์ ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก Bjarke Ingels Group หรือ BIG ตั้งอยู่บริเวณ Hyde Park ในลอนดอน ทำจากไฟเบอร์กลาสทั้งหมด 1,802 ชิ้น พาวิลเลียนแห่งนี้มีลักษณะคล้ายถ้ำ ที่มีแสงสว่างลอดเข้ามาภายใน ผ่านช่องว่างระหว่างกล่องแต่ละใบที่เรียงต่อกัน รวมทั้งแสงจากกล่องไฟเบอร์กลาส ตัวกำแพงทำจากอิฐ แทนการใช้อิฐมอญ หรือหิน ภายในมีคาเฟ่และเวทีสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ

Scaffold Pavillion โดย Sou Fujimoto

designboom-top-ten-2016-temporary-structures-03-818x896
© vincent hecht

Sou Fujimoto สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ออกแบบพาวิลเลียน โดยสร้างขึ้นใกล้กับอาคาร Himalayas Center ในนครเซี่ยงไฮ้ คอนเซ็ปต์การสร้างงานเกิดจากการสำรวจอนาคตของมนุษยชาติในแง่ที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม โครงสร้างพาวิลเลียนจะเป็นเหมือนนั่งร้าน ซึ่งสามารถปีนขึ้นไปด้านบนได้ โดยออกแบบให้ตัวโครงสร้างดูโปร่ง ส่วนพื้นที่ด้านล่างจะใช้เป็นพื้นที่เล็ก ๆ สำหรับทำกิจกรรมหรือนั่งพูดคุยกัน

The Smile Installation โดยบริษัทสถาปนิก Alison Brooks Architects

designboom-top-ten-2016-temporary-structures-04

สิ่งปลูกสร้างไม้ทรงโค้ง ในชื่อ ‘The Smile’ ที่เห็นอยู่นี้ เป็นแลนด์มาร์คที่สร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงในงาน London Design Festival 2016 มีลักษณะเป็นทรงโค้ง ทำจากไม้แปรรูป CLT สูง 3.5 เมตร กว้าง 4.5 เมตร และยาว 34 เมตร มีการวางโครงสร้างให้เป็นแบบเลเยอร์ โค้งต่อกันเป็นเหมือนรูปปากของคนที่กำลังยิ้ม บริเวณระเบียงจะเปิดโล่ง ทำให้เห็นพื้นที่ด้านในและยังทำให้เห็นทิวทัศน์ของลอนดอนทั้งในยามกลางวันและกลางคืน

The Stairs โดยบริษัทสถาปนิก MVRDV

designboom-top-ten-2016-temporary-structures-05-818x546
© ossip van duivenbode

บันไดขนาดยักษ์นี้ ตั้งอยู่ในเมือง Rotterdam โดยเชื่อมจาก Central Station ไปยังอาคาร Groothandelsgebouw อาคารสำคัญแห่งหนึ่งของเมือง Rotterdam บันไดแห่งนี้ มีทั้งหมด 180 ชั้น โดยนักท่องเที่ยวหรือผู้เยี่ยมชมจะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์รอบเมืองได้จากจุดชมวิวด้านบนสุด

MPavillion โดย Bijoy Jain

designboom-top-ten-2016-temporary-structures-06-818x612
© john gollings

MPavillion ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอินเดีย Bijoy Jain ใช้ไม้ไผ่ในการสร้างออกมาเป็นพาวิลเลียนขนาดใหญ่นี้ขึ้นใจกลางสวนสาธารณะ Queen Victoria Garden ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยมีองค์กรไม่แสวงผลกำไร Naomi Milgrom Foundation เป็นผู้ริเริ่มและสนับสนุนโครงการ ในการก่อสร้างจะใช้ไม้ไผ่ยาว 7 กิโลเมตร, เชือกยาว 26 กิโลเมตร และหินหนัก 50 ตัน จนได้ออกมาเป็นพาวิลเลียนที่มีความสูง 12 เมตร ใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมเวิร์กช๊อป การแสดง งานอีเวนท์ต่าง ๆ และจะเห็นได้ว่า มีช่องว่างเล็ก ๆ กึ่งกลางของหลังคา ซึ่งทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงระหว่างโลกและท้องฟ้าเข้าด้วยกัน ขณะที่ข้างใต้ช่องสี่เหลี่ยมนั้นมีบ่อน้ำสีทองวางตั้งอยู่ เพื่อสื่อถึงความสำคัญของน้ำที่มีต่อชุมชนและถิ่นที่อยู่อาศัย

คอนเทนเนอร์พาวิลเลียน โดยบริษัทสถาปนิก People’s Architect Office (PAO)

designboom-top-ten-2016-temporary-structures-07-818x545
courtesy of people’s architecture office

อาคารคอนเทนเนอร์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่บริเวณริมทางสาธารณะของเขตชุมชนในมณฑลส่านซี ทางตอนเหนือของประเทศจีน โดยบริษัทสถาปนิก People’s Architect Office (PAO) ซึ่งนำตู้คอนเทนเนอร์มาวางซ้อนกันเป็นพาวิลเลียน ที่สามารถรื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ ตามต้องการ

ลักษณะของพาวิลเลียนจะเป็นการนำตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 12 ตู้มาวางซ้อนกันสองชั้น โดยชั้นล่างนั้นเป็นตู้คอนเทนเนอร์สีแดง 6 ตู้เรียงชิดเหลื่อมกัน ส่วนชั้นบน เป็นคู้คอนเทนเนอร์สีเหลืองอีก 6 ตู้เรียงชิดวางทับกับชั้นล่างในทิศทางตรงกันข้ามกัน หรือตั้งฉากกัน ซึ่งบริเวณตู้คอนเทนเนอร์แต่ละส่วนจะประดับด้วยกระจกตั้งแต่พื้นถึงเพดาน ทำให้สามารถมองเห็นด้านในอาคารได้ทั้งหมด เมื่อมองจากภายนอก

Dynamics in Impermanence โดย Nicole Larkin

designboom-top-ten-2016-temporary-structures-08-818x600
© ben guthrie

สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ จัดแสดงในปี 2016 เป็นหนึ่งในผลงานจัดแสดงนิทรรศการที่ชื่อ Sculpture by the Sea บริเวณชายหาดบอนได นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง Nicole Larkin ซึ่งเป็นผลงานที่ช่วยให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ของการสร้างงานศิลป์ วัสดุที่ใช้ คือไม้อัด สแตนเลส และคอนกรีต ลักษณะของสถาปัตยกรรมจะเผยให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อันขึ้นอยู่กับช่วงเวลาการมองในแต่ละวัน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับชิ้นงาน ได้แก่ ความสว่าง เงา และสภาพอากาศซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการตีความภาพถ่าย ยิ่งไปกว่านั้น ตัวชิ้นงานยังเป็นเหมือนการสำรวจที่แสดงให้เห็นว่า ‘ภาพถ่าย จะสามารถทำให้มุมมองที่แท้จริงซึ่งคนเรามีต่อผลงานนั้น ๆ เปลี่ยนแปลงไปได้หรือไม่ อย่างไร’

Second Dome โดย Dosis

designboom-top-ten-2016-temporary-structures-09-818x545
© iwan baan

‘Second Dome’ เป็นโดมที่ตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะ London Fields ออกแบบโดย DOSIS แล็บทดลองเพื่อผลิตผลงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่สร้างขึ้นใหม่โดยขยายเพิ่มเติมจากพื้นที่เพียง 65 ตารางเมตร ให้กลายมาเป็นพื้นที่ที่คล้ายกับ co-working space ขนาดใหญ่ถึง 400 ตารางเมตร ที่รวมเอาศาสตร์หลากแขนงและหลากอุตสาหกรรมมาอยู่รวมกันในโดมหลังนี้ โดยแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ เช่น ห้องเวิร์คช็อปแอนิเมชั่น ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ห้องฉายภาพยนตร์ เป็นต้น

‘Kapkar SF-P7S’ พาวิลเลียน โดย Studio Frank Haverman

designboom-top-ten-2016-temporary-structures-10-818x549
© rené de wit

‘Kapkar SF-P7S’ พาวิลเลียน เป็นผลงานออกแบบบริษัทออกแบบ Studio Frank Haverman โดยออกแบบให้เป็นพื้นที่สำหรับการประชุม อภิปราย จัดแสดงนิทรรศการเล็ก ๆ หรือจัดอีเวนท์ต่าง ๆ สร้างสำเร็จได้ด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างน้อย โดยสร้างเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก เพื่อรองรับคนอย่างต่ำ 50 คน ซึ่งสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ นับเป็นงานที่มีความโดดเด่น สามารถรื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ตามต้องการ โครงสร้างหลังคาที่ใช้ เป็นหลังคาหน้าจั่ว ที่นิยมใช้กันในบ้านไร่ หรือโรงนาในแถบชนบทสมัยก่อน


Source: designboom 

Previous articleเจ.เอส.พี. ฤกษ์ดี จัดพิธีตอกเสาเข็มโครงการ เจ คอนโด พระราม2
Next articleยิปรอค ดัน ‘Gypsum Gyproc Habito’ เป็นผลิตภัณฑ์เด่นในงานสถาปนิก’60
มั่นใจ แข็งแกร่งกว่ายิปซัมทั่วไปถึง 5 เท่า!
ณัฐธิกานต์ อัจฉริยบดี
Content Writer เว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าวด้านงานออกแบบ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม