ในเวลานี้เรื่อง Sustainability หรือความยั่งยืนยังคงเป็นประเด็นระดับโลกในวงการนักออกแบบอยู่ แต่ส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้เรามักจะเห็นคนไปเน้นวัสดุประเภท พลาสติก ไม้ เหล็ก ฯลฯ แต่วัสดุอย่าง “กระดาษรีไซเคิล” กลับถูกพูดถึงน้อยลง
“กระดาษเรียบ ๆ ธรรมดา มีคุณสมบัติเพียงพอจะใช้เป็นโครงสร้างผลิตภัณฑ์ที่เปล่งประกายความงาม พื้นผิวของการซ้อนกันจากกระดาษแต่ละชั้นช่วยกระตุ้นความรู้สึกของผู้ใช้งาน และรูปทรงของเก้าอี้สามารถสร้างขึ้นด้วยการพับซ้อนจับจีบกันของกระดาษ”
เก้าอี้สีดำด้านมีพนักทรงสวยแปลกตา ดูนั่งสบาย ผลิตขึ้นโดย Vadim Kibardin นักออกแบบชาวรัสเซีย ความพิเศษอยู่ที่การใช้วัสดุอย่างกระดาษแข็งนำมาซ้อนต่อกันทั้งสิ้น 37 ชั้น บรรจงวางเรียงต่อกันจนได้ความสูง ขนาดและรูปร่างที่ต้องการ จึงเป็นเหตุให้ตั้งชื่อเก้าอี้ตัวนี้ว่า “Black Paper 37”
รูปแบบการวางเลเยอร์กระดาษซ้อนกัน Vadim เผยว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากทฤษฎี ‘Chaos and Sequence’ หรือทฤษฎีไร้ระเบียบ ที่ว่าด้วยลักษณะพฤติกรรมของระบบที่มีความเปลี่ยนแปลง
แต่การเปลี่ยนแปลงแบบเคออสที่ดูเหมือนจะดูไร้ระเบียบแท้จริงแล้วไม่ได้เกิดการสุ่มแต่เป็นระบบที่มีระเบียบ อธิบายง่าย ๆ คือ เก้าอี้จากกระดาษแข็งที่เราเห็นตรงหน้าว่าแต่ละชั้นซ้อน ตัด และจับจีบขึ้นมาอย่างไร้แบบแผน จริง ๆ แล้วมันเกิดจากความตั้งใจวางซ้อนต่อกันจนได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจออกมา
ไม่น่าเชื่อว่ากระดาษแผ่นบาง ๆ จะสร้างเก้าอี้ดีไซน์ร่วมสมัยแบบนี้ขึ้นมาได้ แถมคุณสมบัติของกระดาษเรื่องความเบายังเหมาะแก่การผลิตเฟอร์นิเจอร์ด้วย ทำให้เก้าอี้ตัวนี้มีน้ำหนักเพียง 13.5 กิโลกรัมเท่านั้น แม้จะมีขนาดภายนอกดูใหญ่จากสัดส่วนความสูง 780 มม. x กว้าง 670 มม. x ลึก 580 มม. ดังนั้น มันจึงสามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งได้ง่าย พกพาสะดวก ที่สำคัญเก้าอี้ตัวนี้ยังเป็นผลงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นการรีไซเคิลกระดาษหนัก 2,000 ปอนด์ ซึ่งเทียบได้กับการช่วยต้นไม้ไว้ทั้งสิ้น 17 ต้น!
นอกจากเก้าอี้ Black Paper 37 ตัวนี้แล้ว ซีรีส์เก้าอี้กระดาษแบบเดียวยังมีอีกหลายชิ้น สามารถเข้าไปชมต่อได้ในเว็บไซต์ kibardindesign.com ได้แก่
เก้าอี้หมายเลข 2 “Black Pearl” ที่เคยนำไปจัดแสดงที่หอศิลป์
เก้าอี้หมายเลข 3 “Black Tornado” เก้าอี้ที่ผลิตขึ้นมา 10 ตัวและมีตัวต้นแบบเพียงตัวเดียวเท่านั้น
เก้าอี้หมายเลข 4 “Black Toner” เก้าอี้ที่เหมาะเป็นผลงานศิลป์ดี ๆ จากรูปทรงโค้งเว้า ตัวนี้เป็นเก้าอี้เดี่ยวตัวแพงที่อาจถูกใจใครหลายคน
เก้าอี้หมายเลข 5 “Black Star” ตัวนี้จะหน้าตาคล้าย Black Paper 37 แต่ต่อขาให้สูงขึ้นไปอีกระดับเพื่อการนั่งที่สะดวกสบายขึ้น
เก้าอี้หมายเลข 6 “Black Forest” เก้าอี้เอกลักษณ์ที่มีเพียงตัวเดียวและแพงที่สุดในซีรีส์นี้ รูปทรงดูซับซ้อนจนทำให้ตั้งราคาสูงถึง $24k นับเป็นเก้าอี้กระดาษที่น่าจะมีราคาแพงที่สุดในโลกเลยทีเดียว
เก้าอี้หมายเลข 7 “Black Rover” เก้าอี้ที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ขั้นสูง และได้มาตรฐานระดับเดียวกับการสร้างนวัตกรรมที่นั่งในรถยนต์
เก้าอี้หมายเลข 8 “Black Lotus” แม้ว่าจะรู้ทั้งรู้ว่าผลิตขึ้นจากกระดาษ แต่รูปทรงของเก้าอี้ตัวนี้จะทำให้เรานึกถึง Panton Chair เก้าอี้พลาสติกสีแดงที่หลาย ๆ คนเคยเห็น
เก้าอี้หมายเลข 9 “Black Mirror” ส่วนโค้งเว้าที่เรียบเนียน ผสมผสานระหว่างการออกแบบและการใช้งานทำให้ชิ้นนี้ถูกเรียกว่า Black Mirror เพื่อแสดงให้เห็นความขัดแย้ง ต่างมุมแต่ลงตัว
เก้าอี้คอลเลกชันนี้มีจำนวนจำกัด ผลิตมาเพียง 50 ตัวเท่านั้น และแต่ละตัวสามารถ Customize ตามความต้องการได้ แถมทุกชิ้นขึ้นงานด้วยมือทั้งหมด จึงเรียกได้ว่าคุณค่าของ “เก้าอี้” ไม่ได้เกิดจากแค่การรีไซเคิล แต่เป็นความประณีตในการลงมือทำ ปะติดปะติดแต่ละชิ้นอย่างพิถีพิถันจนสำเร็จสมบูรณ์
เสน่ห์ของเก้าอี้กระดาษซีรีส์นี้อยู่ที่การนำความ Analog มาใช้ในโลกดิจิทัล ดึงความคราฟต์ ความไม่เนี้ยบในวันที่ทุกอย่างดูเนี้ยบ ตัดเป๊ะตามโรงงานมาเรียกความประทับใจ ระยะเวลาการผลิต และการทำทุกอย่างด้วยมือทั้งหมดช่วยให้เราสัมผัสความสำคัญและความพิเศษได้มากกว่า แม้เราจะรู้กันดีว่าต้นทุนวัสดุรีไซเคิลนี้จะราคาไม่สูงนัก แต่มันสามารถนำมาสร้างมูลค่าได้ด้วยความใส่ใจ
เชื่อว่าจบบทความนี้หลายคนคงจะได้คำตอบคาใจว่า ทำไมกระดาษถึงแพง และทำไม Sustainability Materials ประเภทอื่น ๆ ที่เรามองว่าเป็นสิ่งเหลือใช้ พอนำมาใช้เป็นวัสดุสร้างผลิตภัณฑ์ของชิ้นนั้นจึงมีราคาแพง
อ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูล: