งาน Venice Architecture Biennale เป็นงานจัดแสดงผลงานและแนวคิดทางสถาปัตยกรรมที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดงานหนึ่งของโลก ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ สองปื ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 ภายใต้ธีม “Reporting from the Front” ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมสามารถช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในโลกได้ ภายในงานจะมีการจัดแสดง พาวิเลี่ยน จากหลากหลายประเทศทั่วโลก ทาง Builder News จึงขอหยิบยก 6 พาวิเลี่ยนดาวเด่นของงานมานำเสนอ ดังต่อไปนี้

Spanish Pavilion; Unfinished
ผลงานของ: Carnicero + Quintans
สถานที่จัดแสดง: Giardini

01 unfinished-spanish-pavilion_2

ประเทศสเปนได้รับรางวัล Golden Lion สำาหรับพาวิลเลียนที่ดีที่สุดในงาน Venice Biennale ในผลงาน “Unfinished” ซึ่งเป็นการแสดงงานสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในประเทศหลังช่วงวิกฤตการณ์ด้านการเงิน โดยจัดแสดงอาคาร รูปถ่าย และแผนงานของอาคาร 55 อาคาร แสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาในการดำเนินงานภายใต้ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังจัดแสดงบนโครงสร้างเหล็กเพื่อสื่อถึงอาคารที่สร้างไม่เสร็จอีกด้วย

 

Japan Pavilion; Art of Nexus
ผลงานของ: Yoshiyuki Yamana
สถานที่จัดแสดง: Giardini

02 japan-pavilion_0

พาวิลเลียนของประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งพาวิลเลียนที่ถูกใจคณะกรรมการตัดสิน Biannale Awards จนได้รางวัล Special Mention ในกลุ่มของ National Participants ที่เป็นการนำเสนอซีรีย์ของหลากหลายโครงการผ่านทางโมเดล, รูปวาด, ภาพถ่าย เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถาปนิกและชุมชนในประเทศกำลังให้ความสำคัญของการแบ่งปันมากยิ่งขึ้น

 

British Pavilion; Home Economics
ผลงานของ: Jack Self, Shumi Bose, Finn Williams
สถานที่จัดแสดง: Giardini

06 home-economics-british-pavilion

การจัดแสดงโมเดลบ้านในอนาคต 5 แบบ ในพาวิลเลียนของประเทศอังกฤษ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้สถาปนิกมองข้ามการออกแบบบ้านแบบเดิมๆ และเปลี่ยนมาพัฒนารูปแบบบ้านที่มากด้วยประโยชน์ใช้สอยในราคาที่จับต้องได้ ห้องต่างๆ ถูกแบ่ง ออกตามกาลเวลาที่แตกต่างกันคือ ชั่วโมง, วัน , เดือน, ปี และศตวรรษ นอกจากนี้ไฮไลท์ของการจัดแสดงยังรวมถึงตู้เสื้อผ้าโปร่งแสงที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแบ่งปัน, วัตถุทรงกลมที่พองลมได้ที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพื้นที่อยู่อาศัยที่เคลื่อนย้ายได้และเฟอร์นิเจอร์แบบโมดูล่าร์

 

Swiss Pavilion; Incidental Space
ผลงานของ: Sandra Oehy, Christian Kerez
สถานที่จัดแสดง: Giardini

04 swiss-pavilion_0

โครงสร้างที่คล้ายกับก้อนเมฆ ถูกสร้างภายในพาวิลเลี่ยนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์นี้มีความโดดเด่นอยู่มิใช่น้อย โดยแนวคิดในการออกแบบเพื่อต้องการให้ผู้เข้าชมเข้าถึงงานสถาปัตยกรรมได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยการจัดแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการผสมผสานงานสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมกับเทคโนโลยีดิจิตอลแบบใหม่

 

Irish Pavilion; Losing Myself
ผลงานของ: Níall McLaughlin,Yeoryia Manolopoulou
สถานที่จัดแสดง: Arsenale

07 irish-pavilion_0

การจัดแสดงผลงาน “Losing Myself” ในพาวิลเลียนของประเทศไอร์แลนด์นี้ มีจุดประสงค์หลักเพื่อทำให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสประสบการณ์ทางด้านสถาปัตยกรรมเสมือนกับเป็นผู้ที่มีปัญหาสมองเสื่อม ด้วยการใช้โปรเจคเตอร์แบบแขวนและลำโพงเสียง ทำให้ผู้คนเห็นภาพและเข้าใจผู้ที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้สถาปนิกเข้าใจความสำคัญของทิศทางการออกแบบที่ชัดเจนด้วย

 

Baltic Pavilion; The Baltic Atlas
ผลงานของ: Kārlis Bērziņš, Jurga Daubaraitė, Petras Išora, Ona Lozuraitytė, Niklāvs Paegle, Dagnija Smilga, Johan Tali, Laila Zariņa, Jonas Žukauskas
สถานที่จัดแสดง: Palasport GB Gianquinto, Castello 2132, Calle S Biagio

05 baltic-pavilion

Baltic Pavillion เป็นพาวิลเลียนที่ถูกสร้างขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างประเทศเอสโทเนีย, ลัตเวีย และลิธัวเนีย เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบหลังจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในยุคของโซเวียตที่เกิดใหม่ ด้วยผลงานของเหล่าบรรดาสถาปนิก, นักวิทยาศาสตร์,นักธรณีวิทยา, นักมานุษยวิทยา และนักปรัชญามากกว่า 70 ชีวิตถูกจัดแสดงทั่วทั้งบริเวณอารีน่าหลัก และบริเวณอัฒจันทร์ของสนามกีฬา Brutalist ภายใต้ร่มเงาของคาโนปี้สีขาว ซึ่งทำให้ดูเหมือนกับการจำลองท้องฟ้า

Previous articleการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ รอบสถานีรถไฟฟ้า
Next articleหมู่บ้าน “Tesla Town” ชุมชนอยู่อาศัยสุดกรีน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
หนึ่งฤทัย คาทุสเซฟสกี้
นักเขียนนิตยสาร Builder สำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทจากคณะการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง อดีตนัก Marketing ที่ปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นนักเขียน และนักแปลอิสระ ให้กับนิตยสารและบริษัทต่าง ๆ