สถานการณ์น้ำท่วมตอนนี้ดูยังคงวิกฤติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยเราก็นับว่าเกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง แต่ละครั้งก็สร้างความลำบากและความเสียหายต่อผู้คนและบ้านเรือนอย่างมหาศาล วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือการสร้างที่อยู่อาศัยให้ยกสูงขึ้นจากพื้น เช่นเดียวกับการสร้างบ้านในสมัยก่อน แต่นอกจากบ้านแบบยกสูงแล้ว เรายังมีอีกหนึ่งนวัตกรรมที่อยู่อาศัย ที่สามารถตั้งอยู่ได้ทั้งบนพื้นดินและในน้ำ หรือที่เรียกว่า บ้านสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก (amphibious house)

หลักการทำงานของ บ้านสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก คือ ใต้ฐานอาคารจะมีฐานรากหลุม ที่ซ่อนระบบทุ่นเหล็กไว้ข้างใต้ เมื่อเกิดสภาวะน้ำท่วม น้ำจะไหลเข้าไปในหลุม เพื่อดันระบบทุ่นใต้อาคารให้ยกตัวบ้านขึ้น ทำให้บ้านสามารถลอยเหนือน้ำได้นั่นเอง ซึ่งเราได้นำแบบบ้านดังกล่าวมาให้ได้ชม 6 สไตล์ด้วยกัน

1Amphibious-House-by-Baca-Architects-889x612

Formosa House

บ้านสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกหลังแรกของสหราชอาณาจักร ใช้ชื่อว่า Formosa ออกแบบโดยบริษัทสถาปัตยกรรม Baca Architect สร้างบนพื้นที่สวยงามเลียบแม่น้ำเทมส์ ลักษณะเป็นบ้าน 3 ชั้น ตั้งอยู่บนฐานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ที่ภายในกลวง (ฐานคอนกรีตอยู่ใต้พื้นดิน) เมื่อน้ำทะลักเข้ามาในฐานคอนกรีตจนเต็ม ฐานคอนกรชีตจะดันตัวบ้านให้ลอยขึ้นตามระดับน้ำ ซึ่งได้รับการดีไซน์ให้สามารถยกตัวขึ้นสูงสุดถึง 2.7 เมตร

1FLOAT-House-by-Morphosis-889x586

Float House

ถัดมาเป็นบ้านหนีน้ำ Float House หนึ่งในโครงการที่พักศัยขององค์กร Make It Right Foundation โดยมีดาราฮอลลิวูดชื่อดังอย่าง แบรดพิตท์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์พายุเฮอริเคน แคทรินา เข้าโจมตีชายฝั่งนิวออร์ลีนส์ เมื่อปี ค.ศ. 2005 และได้บริษัทสถาปนิก Morphosis มาร่วมออกแบบด้วย

นอกจาก Float House จะถูกสร้างขึ้นพื่อเฟื้นฟูที่อยู่อาศัยและเยียวยาผู้ประสบภัยแล้ว ยังเป็นต้นแบบของบ้านที่ไว้รับมือกับภัยพิบัติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยตัวบ้านตั้งอยู่บนชิ้นส่วน chassis สำเร็จรูป ที่ทำชึ้นจากแผ่นฉนวน PS FOAM ( Polystyrene Foam (PS) เคลือบด้วย GFRC (Glass Fiber Reinforced Concrete-คอนกรีตที่ผสมกับเส้นใยแก้วไฟเบอร์) ข้อดีคือเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ต้านทานต่อแรงกระแทกได้ดี ทำให้เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย แท่น chassis จะกลายเป็นทุ่นลอยน้ำไปโดยปริยาย และผลักตัวบ้านให้ลอยขึ้นสูงได้มากถึง 12 ฟุต นอกจากนี้ยังยึดด้วยระบบเสาที่ออกแบบมาพิเศษ ทำให้บ้านลอยขึ้นในแนวตั้งเท่านั้น ไม่พัดไปตามกระแสน้ำ

1Bamboo-homes-by-HP-Architects-889x511

Blooming Bamboo Home

บ้านไม้ไผ่ต้านน้ำท่วม ‘Blooming Bamboo Home’ สร้างขึ้นเพื่อรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศเวียดนาม ออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัทสถาปนิก H&P Architects โครงสร้างของบ้านทำจากท่อนไม้ไผ่ ขนาดหลังละ 3.3 เมตร x 6.6 เมตร โดยใช้ทั้งวิธีการกลัด รัด แขวน ผูก ลำต้นไม้ไผ่เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความแน่นหนา แข็งแรง สามารถรับแรงกระแทกจากภายนอกได้ดี ไม่ว่าจะเป็น พายุ แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม ก็ตาม ร่วมกับวัสดุอื่นอย่างไฟเบอร์บอร์ดและใบมะพร้าว โดยฐานของบ้านตั้งอยู่บนถังน้ำมันรีไซเคิล ที่ทำหน้าที่เป็นทุ่นลอยน้ำ คอยดันตัวบ้านขึ้นเมื่อเกิดอุทกภัย ซึ่งสถาปนิกล่าวว่าบ้านไม้ไผ่นี้สามารถรับมือกับระดับน้ำท่วมได้ราว 1.5 เมตร จนถึงระดับ 3 เมตร และการก่อสร้างก็ใช้เวลาสั้น ๆ เพียง 25 วันเท่านั้น

1Maasbommel’s-Amphibious-Homes-by-Waterstudio-and-Dura-Vermeer-889x445

Maasbommel House

เนเธอร์เเลนด์ เป็นประเทศที่มีพื้นที่เกือบทั้งหมดอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ส่งผลให้ต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมสูงอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว บริษัทสถาปนิกสัญชาติดัตช์ Waterstudio และบริษัทก่อสร้าง Dura Vermeer จึงร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมที่อยู่อาศัย Maasbommel ขึ้นมา ในลักษณะของบ้านที่ตั้งอยู่ได้ทั้งบนดินและในน้ำ จำนวนทั้งสิ้น 37 หลัง ตั้งเรียงกันบริเวณริมแม่น้ำเมิซ ( Maas River)

บ้าน Maasbommel ทั้ง 37 หลัง เป็นอาคารสูง 2 ชั้น ตั้งอยู่บนฐานที่ลอยขึ้นลงตามระดับน้ำ และยึดไว้กับเสาเหล็กเพื่อไม่ให้บ้านลอยไปกับกระแสน้ำ ซึ่งเสาเหล็กนี้ได้รับการออกพิเศษให้มีช่องภายในสำหรับเดินงานระบบไฟฟ้า ประปา และน้ำทิ้ง ทำให้แม้จะเกิดภาวะน้ำท่วม แต่ผู้อยู่อาศัยก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ

1Amphibious-Container-by-Green-Container-International-Aid-889x546

Amphibious Container

หลังจากเกิดฝนฤดูมรสุมถล่มจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศปากีสถาน เมื่อปี 2010 ส่งผลให้หนึ่งในห้าของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศได้รับความเสียหายอย่างหนัก รวมถึงกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอีก 20 ล้านชีวิต องค์กรไม่แสวงผลกำไร Green Container International Aid ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติต่าง ๆ จึงคิดค้นที่อยู่อาศัยยามฉุกเฉิน Amphibious Container ขึ้น ซึ่งสร้างด้วยวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด ทั้งตู้คอนเทนเนอร์เก่า ไม้พาเลท และยางในรถยนต์ โดยตัวบ้านจะถูกยึดไว้กับแท่งโลหะ 4 ด้าน เมื่อน้ำประชิดตัวบ้าน แท่งโลหะทั้งสี่จะยกบ้านขึ้น และผลักตัวบ้านออกจากพื้น ให้ลอยขึ้นเหนือน้ำ รองรับระดับน้ำอยู่ที่ 2.5 เมตร

1The-Greenhouse-That-Grows-Legs-by-Between-Art-and-Technology-Studio-889x593

The Greenhouse That Grows Legs

ขณะที่บ้านทุกหลังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นแบบบ้านสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกเพื่อรองรับน้ำ ‘BAT Studio’ สตูดิโอออกแบบแห่งหนึ่งในอังกฤษ กลับสร้างบ้านในรูปแบบที่ต่างออกไป โดยออกแบบโครงสร้างบ้านเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งแทนที่จะให้น้ำที่ท่วมอยู่บริเวณพื้นดินผลักตัวบ้านให้ลอยขึ้นเหนือน้ำ บ้านหลังนี้กลับเลือกใช้โครงสร้างซึ่งใช้น้ำเป็นตัวขับเคลื่อนสำหรับยกบ้านให้สูงขึ้นจากพื้นดินถึง 800 มิลลิเมตร โดยมีขาตั้งทั้ง 4 มุม ช่วยยกตัวบ้านให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม ทั้งนี้ การควบคุม และเคลื่อนย้ายตัวบ้านให้สูงขึ้น จะใช้รีโมทเป็นตัวควบคุม
Source: designboom
Previous articleตึกระฟ้าแห่งอนาคต สูงถึง 3 ไมล์!! ช่วยขจัดมลพิษ กรองอากาศบริสุทธิ์
Next articleสกุลไทย ยูไนเต็ด บุกงานสถาปนิก’60 ชูโรงผลิตภัณฑ์ภายใต้คอนเซ็ปต์เฮลท์แคร์
และ KEVO กุญแจดิจิตอลอัจฉริยะ แตะปุ๊ป เปิดปั๊บ
สุชยา ตันติเตมิท
Content Writer เว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะการสื่อสารมวลชน วิชาเอกวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าวด้านการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม