สนามจัดการแข่งขันในริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมืองเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ 2016 ซึ่งเริ่มเปิดฉากไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ ไม่ได้เป็นเพียงโปรเจคเดียวของริโอฯ เท่านั้นที่มีกำหนดระยะเวลา ต้องสร้างให้เสร็จทันสำหรับการแข่งขัน แต่รายชื่ออาคารที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็น 7 อาคารใหม่ในริโอ เดอ จาเนโร ที่เรียกได้ว่ามีคุณค่าทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก โดยประกอบด้วยอาคาร ออฟฟิศ แหล่งค้าปลีก ซึ่งมีการเปิดใช้ตั้งแต่บราซิลชนะประมูล ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ในครั้งนี้
1. Museum of Tomorrow โดย Santiago Calatrava
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ออกแบบโดย Santiago Calatrava สถาปนิกชาวสเปน โดดเด่นด้วยหลังคาหน้าตาคล้ายโครงกระดูก ตั้งอยู่บริเวณลานกว้างใจกลางริโอ เดอ จาเนโร เปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อปี 2015 มีพื้นที่ใช้สอยราว 5,000 ตารางเมตร
2. Leblon Offices โดย Richard Meier และหุ้นส่วน
Richard Meier สตูดิโอสัญชาติอเมริกัน และหุ้นส่วน จับมือกันสร้างโปรเจคแรกในอเมริกาใต้ หรือก็คือ โปรเจคอาคารสำนักงานสีขาว สบายตา ทำจากคอนกรีตที่มีสวนแนวดิ่งอยู่รอบบริเวณ อาคารเป็นทรงลูกบาศก์ ความสูง 25 เมตร มีพื้นที่สำนักงานให้เช่า 6,500 ตารางเมตร
สไตล์ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของบริษัท คือการใช้กระจกและสีขาวเป็นหลักในการออกแบบ โดยใช้มาแล้วในหลายโปรเจค นอกจากนี้ รูปแบบการดีไซน์หลัก ๆ ก็นำแบบมาจากสถาปัตยกรรมเดิมที่มีในเมือง
3. Saraiva Bookshop โดย Studio Arthur Casas
ร้านหนังสือแห่งนี้ออกแบบโดยสตูดิโอ Arthur Casas ในเมืองเซาเปาโล การจัดเรียงหนังสือในส่วนของชั้นวางด้านบน เป็นการเรียงตามสีมากกว่าจะเรียงตามชื่อหนังสือ จนได้ออกมาเป็นสีรุ้งเรียงกัน (ตามภาพ) ซึ่งสถาปนิกผู้ออกแบบต้องการให้ร้านหนังสือแห่งนี้ เป็นทั้งพื้นที่สาธารณะ และห้องสมุดในเวลาเดียวกัน ต้องการให้ใครก็ตามที่เข้าไปภายในรู้สึกผ่อนคลายกับบรรยากาศโดยรอบ
แม้ว่าโซนหนังสือหลัก ๆ จะอยู่บริเวณชั้นล่าง แต่ยังมีพื้นที่อีกหลายส่วนไว้ให้ใช้บริการ ได้แก่ พื้นที่ในส่วนร้านค้า ห้องประชุม คาเฟ่ และโซนสำหรับเด็ก
4. Cidade das Artes โดย Christian de Portzamparc
อาคารหลังนี้ นับว่าเป็นศูนย์วัฒนธรรมแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของชาวบราซิลเลยก็ว่าได้ ออกแบบโดย Christian de Portzamparc สถาปนิกชาวฝรั่งเศส โดยมีลูกเล่นดีไซน์ที่แตกต่าง นำเอาคอนกรีตที่มีความโค้ง และมีเหลี่ยมมุมแปลกตา มาเป็นจุดเด่น ภายในประกอบด้วยคอนเสิร์ตฮอลล์ขนาดใหญ่, ห้องดนตรี Chamber Music, จอภาพยนตร์ และแกลเลอรี่จัดแสดงผลงาน
5. RB12 overhaul โดย Triptyque
Triptyque สตูดิโอสัญชาติฝรั่งเศส-บราซิล ดำเนินการซ่อมแซมตึกออฟฟิศสูง 85 เมตร ในริโอ เดอ จาเนโร ตกแต่งด้วยแผ่นกระจกดีไซน์ซิกแซก และแผ่นโซลาร์ จึงสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้
โดยสร้างขึ้นเมื่อปี 1970 ด้วยความต้องการรวมเอาเทคโนโลยียั่งยืนหลากประเภท ซึ่งได้จากแหล่งพลังงานทดแทนมาผ่านกระบวนการหมุนเวียนน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ และนำมาใช้ในนวัตกรรมการติดตั้งกระจก รวมถึงระเบียงสีเขียวด้วย ซึ่งเป้าหมายหลักก็คือ การทำให้โครงสร้างอาคาร กลายเป็นโครงสร้างต้นแบบในการอัพเกรดคลังสินค้าเพื่อใช้ในงานก่อสร้าง
6. Lumini showroom โดย Studio MK27
โชว์รูมจัดแสดงอุปกรณ์ไฟและหลอดไฟ โดยบริษัทสถาปนิก MK27 สตูดิโอ ซึ่งนำเอาไม้มาเป็นโครงสร้างหลักประดับตกแต่งด้านหน้าโชว์รูม โดยจะเห็นได้ว่าแสงจากหลอดไฟนั้น จะผสมกลมกลืนเข้าด้วยกันกับแสงแดดจากธรรมชาติในตอนกลางวัน ส่วนในยามค่ำคืนนั้น จะช่วยให้พื้นที่ด้านหน้าอาคารมีแสงเรืองรองสวยงาม
สถาปนิกผู้ได้รับมอบหมายให้ออกแบบตกแต่งภายใน Lumini Store แห่งนี้ ต้องการเนรมิตพื้นที่ภายในให้เป็นเสมือนบ้านมากกว่าจะเป็นร้านค้าปลีกทั่ว ๆ ไป นอกจากนี้ พื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในร้านยังทำหน้าที่เป็นเหมือนห้องจัดแสดงไฟอันสวยงาม ท่ามกลางเฟอร์นิเจอร์ภายในซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์ Tom Dixon และ Sergio Rodrigues
7. Museu de Arte do Rio โดย Bernardes + Jacobsen Arquitetura
บริษัทสถาปนิก สัญชาติบราซิล Bernardes + Jacobsen จับเอา อาคาร 3 หลัง ที่เลิกใช้มาแล้วเป็นเวลานาน มารีโนเวทเป็นพิพิธภัณฑ์และโรงเรียนสอนศิลปะ
เนื่องจากบริษัทผู้ออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากคลื่น จึงใช้หลังคาคอนกรีตที่มีลักษณะเหมือนคลื่นคลุมด้านบนของทั้งสองอาคาร จนเกิดเป็นพื้นที่เอาท์ดอร์ และพื้นที่จัดกิจกรรมแห่งใหม่บนดาดฟ้าของอาคารทั้งสอง ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะประกอบด้วยแกลเลอรี่ทั้งหมด 8 แห่ง และทางเข้าชั้นล่างสุดสามารถเดินเข้าไปถึงด้านในอาคารได้ โดยผู้เยี่ยมชมจะเห็นผลงานจัดแสดงได้ในบริเวณนี้ หรือขึ้นลิฟท์จากบริเวณนี้ไปถึงหลังคาด้านบนสุดก็ได้เช่นกัน
Source: dezeen