ปัญหาขยะทางทะเลถือเป็นปัญหาเรื้อรังคู่กับโลกของเรามานาน และไม่มีทีท่าว่าจะสามารถลดปัญหานี้ลงได้เลย ยิ่งมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหานี้ก็ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวมากขึ้น ทว่านักออกแบบนามว่า Lenka Petráková กลับเล็งเห็นปัญหานี้ และสร้างสิ่งที่เป็นทั้งสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ในขณะเดียวกันมันยังสามารถเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ท้องทะเลได้อีกด้วย
“8th Continent” สถาปัตยกรรมลอยน้ำที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางทะเลของมหาสมุทรโดยเฉพาะเรื่องการกำจัดขยะในท้องทะล ออกแบบโดย Lenka Petráková ซึ่งเป็นการเก็บขยะในมหาสมุทรและย่อยมันเป็นวัสดุรีไซเคิล โดยเจ้าสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ได้รับรางวัล Grand Prix 2020 สำหรับสถาปัตยกรรมและนวัตกรรมทางทะเล จากการจัดประกวดของมูลนิธิ Jacques Rougerie
โครงสร้างของมันประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลักได้แก่
- the barrier
- the collector ส่วนสำหรับเก็บรวบรวมขยะ
- the research and education centre ส่วนของศูนย์วิจัยและการเรียนรู้
- green house เรือนกระจก
- living quarters ส่วนที่อยู่อาศัย
โดยที่ the barrier จะทำหน้าที่เก็บสะสมขยะและสะสมพลังงานจากน้ำขึ้น-น้ำลง หลังจากนั้นขยะจะถูกคัดแยกประเภท เข้าสู่กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพและนำไปเก็บไว้ที่ the collector และนอกจากที่ Lenka Petráková ต้องการทำความสะอาดมหาสมุทรครั้งใหญ่แล้ว นักออกแบบยังต้องการให้มันเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถทำงานได้หลากหลาย โดยที่ศูนย์วิจัยและการเรียนรู้นั้นจะเป็นพื้นที่สำหรับศึกษาและชี้ให้เห็นถึงความน่าเป็นห่วงของสถานการณ์สภาพแวดล้อมทางทะเล
ทั้ง 5 ส่วนของ 8th Continent นั้นถูกปรับให้รับกับสภาพการใช้งานของทุกส่วน โดยที่ the barrier จะลอยอยู่เหนือผืนน้ำ และดันขยะเข้าสู่ the collector และเทคโนโลยีการเก็บสะสมขยะที่ใจกลางของโครงสร้างถูกออกแบบให้มีประสิทธิภาพในการสะสมได้สูงที่สุด โดยศูนย์วิจัยและการเรียนรู้จะเชื่อมต่อกับ the collector และ greenhouse เพื่อตรวจวัดกระบวนการไหลของน้ำและทำการศึกษากระบวนการนั้น
ในส่วนของ greenhouse ถูกออกแบบให้มีหน้าที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บน้ำ คล้ายกับใบเรือขนาดใหญ่เพื่อให้ลมพัดผ่านสถานี และส่วนพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกจะถูกสร้างผ่านใจกลางของโครงสร้างและเชื่อมต่อส่วนทั้งหมดเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ยังมีระบบเพื่อรวบรวมพลังงานจากน้ำขึ้น-น้ำลงเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนกังหันเพื่อเก็บสะสมขยะบนผิวน้ำ และหลังจากการสกัดน้ำเสีย น้ำสะอาดที่ผ่านการกรองแล้วจะถูกสูบเข้าไปในถังเก็บน้ำและกลั่นไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกพืชฮาโลฟิลิก
Lenka Petráková กล่าวว่า “มหาสมุทรกำลังแย่ พวกเราจึงต้องช่วยกันฟื้นฟูสมดุลเพื่อการอยู่รอดของโลกเราต่อไป พวกเราไม่สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ด้วยแค่การใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ทว่ายังต้องการแพลตฟอร์มที่หลากหลายเพื่อให้ความรู้แก่ผู้คนสำหรับเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาและสภาพแวดล้อมทางทะเลเพื่ออนาคตของลูกหลานเราต่อไป”
โควิด-19 ดูเหมือนจะอยู่กับเราไปอีกนาน เฉกเช่นเดียวกับปัญหาขยะล้นทะเลที่ทำลายสมดุลธรรมชาติ ซึ่งในอนาคตอาจสามารถเป็นสาเหตุของโรคระบาดใหม่ ๆ ได้อีก ดังนั้น นอกจากดูแลตัวเองแล้ว ก็อย่าลืมดูแลธรรมชาติของเราเพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน และเราจะได้อยู่บนโลกที่มีสภาพน่าอยู่ไปได้นาน ๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก