หากกล่าวถึงรางวัลเพื่อการออกแบบ เราคงคุ้นกับชื่อ ‘Red Dot Design Award’ ซึ่งเป็นงานประกวดผลงานการออกแบบในแขนงต่าง ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ กราฟิก หรือโฆษณาสื่อประชาสัมพันธ์ ที่มีผู้ส่งผลงานจากทั่วโลกเข้าประกวดมากที่สุดและมีมายาวนานที่สุดในโลก ในประเทศไทยเองก็มีการมอบรางวัลเพื่อการออกแบบที่ดีเช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า ‘โครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี’ หรือ Design Excellence Award (DEmark)
‘โครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี’ หรือ Design Excellence Award (DEmark) เริ่มก่อตั้งโดยสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ในปี พ.ศ. 2551 เพื่อเปิดโอกาสให้นักออกแบบ และผู้ประกอบการไทยได้แสดงผลงานสู่ตลาดโลก ซึ่งได้รับการต่อยอดมาจากรางวัล Prime Minister’s Export Award (PM Award) ประเภท Thai-Owned Design โดยโครงการ DEmark ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากองค์กรภาครัฐและเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจากประเทศญี่ปุ่นร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัลนี้ รวมทั้งยังสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล DEmark ให้เข้าร่วมการประกวดรางวัล Good Design (G-mark) ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
รางวัล DEmark เน้นส่งเสริมสินค้าที่มีการออกแบบที่ดีจากในประเทศออกสู่สากล โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพการผลิต การใช้งานและแนวความคิดของการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยแบ่งหมวดรางวัลออกเป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่ หมวดเฟอร์นิเจอร์ หมวดสินค้าไลฟ์สไตล์ (Gift & Decorative Items, Household Items) หมวดสินค้าแฟชั่น (Fashion Apparel, Leather goods, Jewelry, Textiles) หมวดสินค้าอุตสาหกรรม (Home Appliances, Equipment and Facilities for Offices, etc.) และหมวดบรรจุภัณฑ์ (Food Packaging, Health and Beauty Products Packaging)
สำหรับเกณฑ์การตัดสินให้ความสำคัญโดยพิจารณาจากความคิดสร้างสรรค์ ประโยชน์ใช้สอย การใช้งาน และการคำนึงถึงเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา รางวัล Demark ได้รับความสนใจกว้างขวางมากขึ้น และมีผู้ที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมการคัดเลือกเป็นจำนวนมาก
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ผู้คว้ารางวัล DEmark ในแต่ละประเภทจะได้รับนั้นล้วนเป็นโอกาสที่ดีทั้งสิ้น อาทิ การได้รับโอกาสพิเศษให้เข้าร่วมประกวดในเวทีระดับโลก โดยสินค้าที่ได้รับรางวัล DEmark จะได้สิทธิ์ผ่านเข้ารอบสองของการประกวด G-mark ในทันที, ผู้ที่ได้รับรางวัลดีเด่นจะได้รับถ้วยรางวัลและเกียรติบัตรจากนายกรัฐมนตรีด้วย, สิทธิ์การประชาสัมพันธ์สินค้าในสื่อเว็บไซต์ www.demarkaward.net และได้สิทธิ์ในการใช้ตราสัญลักษณ์ DEmark บนสลาก หรือใบประชาสัมพันธ์แผ่นผับต่าง ๆ ของสินค้า, สิทธิ์การประชาสัมพันธ์สินค้าที่ได้รับรางวัลอันดับแรก ในหนังสือ PM Award Directory และวารสารผู้ส่งออก รวมทั้งสิทธิ์ในการจัดแสดงสินค้าในงานนิทรรศการต่าง ๆ เป็นต้น
ปัจจุบันตราสัญลักษณ์ DEmark ได้กลายเป็นเครื่องหมายที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้รับรู้ได้ตรงกัน ถึงการยืนยันในคุณภาพและการออกแบบอันยอดเยี่ยมของสินค้าไทยสู่สากล
และสำหรับรางวัล DEmark 2016 ในปีนี้ ถูกจัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘ดีไซน์หมุนโลกธุรกิจ’ (Design Driven Business) เพื่อตอกย้ำความสำคัญของการออกแบบที่ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปีนี้ผลงานที่ได้รับรางวัล DEmark Award 2016 ส่วนใหญ่ล้วนได้แรงบันดาลใจจากตัวตนการออกแบบที่แฝงความเป็นเอเชียและวิถีชีวิตดั่งเดิมที่เรียบง่ายของคนไทย อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นมุมมองในการดีไซน์ที่สะท้อนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน และเป็นการสร้างเทรนด์ฮิตใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์กระแสการออกแบบของโลกด้วย โดยเราได้คัด 7 ผลงานที่น่าสนใจมานำเสนอ
Kan Kluay (ก้านกล้วย)
Product: ที่แขวนเสื้อ
By: Unique Space
Designer: ชญาณิน ษักดิกุล
Design Story
ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ได้แนวคิดในการออกแบบมาจากปืนก้านกล้วย อันเป็นภูมิปัญญาแต่อดีตซึ่งเป็นการละเล่นของไทยที่ใช้ก้านกล้วยมาทำเป็นเครื่องเล่น โดยการเฉาะก้านเพื่อให้อ้าและพับเก็บได้เหมือนเดิม นำมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้ประโยชน์ได้ ในรูปแบบใหม่และบริบทใหม่ โดยเน้นการเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่ายแต่มีประโยชน์ใช้สอย ทั้งยังประหยัดทรัพยากร ขั้นตอนในการผลิต และขนส่งง่าย
User Impacts
โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เน้นการมีประโยชน์ใช้สอยที่ดี ไม่เปลืองพื้นที่โดยสามารถเก็บของใช้ให้อยู่ในพื้นที่จำกัดในแนวตั้ง สะดวกสบายในการใช้งานด้วยกลไกง่ายๆ ในการง้างและขัดไม้เพื่อให้เกิดการยื่นของชิ้นส่วนไม้มารับของที่จะใช้จัดเก็บในรูปแบบการแขวน ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ปัจจุบันมีกิจกรรมที่หลากหลาย ข้าวของเครื่องใช้ก็เพิ่มพูนในขณะที่พื้นที่เท่าเดิม ซึ่งผลิตภัณฑ์จะเข้าไปช่วยจัดเก็บของบางส่วนให้ชีวิตมีระเบียบขึ้น ในเรื่องของวัสดุได้เลือกใช้ไม้เป็นวัสดุหลักโดยขัดเสี้ยน ลบเหลี่ยมมุม ใช้สีธรรมชาติ ผ่านการเคลือบโดยผลิตภัณฑ์ปลอดกลิ่น จึงไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ทั้งนี้ ในการออกแบบยังตอบสนองกลุ่มผู้ใช้สอยได้หลายกลุ่ม ตามแนวคิดหลักการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) โดยออกแบบจุดแขวนให้มีหลายระดับ เพื่อรองรับสรีระความสูงของคนในวัยต่าง ๆ สำหรับการใช้งานสามารถใช้ได้ทุกเพศและทุกวัย หากต้องการที่แขวนของในการจัดเก็บของใช้ เน้นธรรมชาติของวัสดุ เพื่อสะท้อนความเรียบง่าย โดยลบเหลี่ยมมุมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเลือกใช้ไม้เนื้อแข็ง
ในการผลิตเพื่อความแข็งแรง ทนทาน อายุการใช้งานที่ยาวนานอีกด้วย ถือเป็นของใช้ที่ให้ประโยชน์เชิงฟังก์ชั่น ไม่ใช่แนวแฟชั่น จึงเหมาะกับทุกยุคสมัย
Many-go-Round Layer Collection
Product: โต๊ะ, โต๊ะวางข้าง, กล่อง
By: Many Many Co.,Ltd.
Designer: Kanin Chuenmeechow
Design Story
แนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ชุดนี้ คือ ‘ของเก่าที่เกิดใหม่’ ซึ่งเป็นการใช้ของรอบ ๆ ตัวมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ โดยชิ้นบนของ Layer-side Table เป็นถาดพลาสติกแนวแคบที่ถูกผลิตและจำหน่ายสำหรับใช้ในห้องแช่แข็ง เมื่อห้องแช่แข็งสิ้นความจำเป็นในการใช้งาน จึงสั่งยกเลิกการผลิต ดังนั้นในกระบวนการออกแบบจึงได้นำความแข็งแรงที่มีอยู่เดิมมาผสานปรับปรุงรูปร่าง และเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นเทคโนโลยีใหม่อย่างพลาสติกผสมเยื่อไม้
มาทำ เมื่อประกอบร่วมกับโครงสร้างขาไม้จริง ทำให้เกิดเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ที่มีการใช้งานเปลี่ยนไปจากเดิม Layer-side Table เป็นโต๊ะข้างทรงแคบ เหมาะกับพื้นที่จำกัด โดยมีช่องเก็บของในตัว วางปิดด้วยถาดพลาสติกที่สามารถยกออกมาใช้งานได้อย่างอิสระอย่างเช่นใช้เป็นถาดเสริฟ ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นจะถูกแยกบรรจุในบรรจุภัณฑ์ในสภาพพร้อมประกอบ ทำให้ง่ายต่อการขนส่งและประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ
User Impacts
โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เน้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรมการออกแบบ โดย Layer-side Table ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ภายใต้ข้อจำกัดของรูปทรงดั้งเดิมของถาดพลาสติก อีกทั้งการใช้แม่พิมพ์เก่าที่เป็นสินค้าที่มีอยู่เดิมมาออกแบบต่ออายุการใช้งาน จะสร้างผลกระทบให้โรงงานผู้ผลิตที่มีแม่พิมพ์ที่ปลดระวางหันมาลองสำรวจความเป็นไปได้ที่จะนำต้นทุนเดิมเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นการสร้างนวัตกรรมที่เกิดในโรงงานผู้ผลิต โดยใช้เทคโนโลยีหรือวัสดุใหม่ ๆ เข้ามาผสาน วัสดุที่เลือกใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Wood Composite Plastic ซึ่งเป็นวัสดุที่ลงตัวระหว่างฟังก์ชั่น ความแข็งแรง และเพิ่มความทนทาน UV ลดการกรอบของวัสดุ ช่วยยืดอายุการใช้งานให้ยาวนาน ความสวยงามของผงไม้และเยื่อไม้ที่ผสานอยู่กับพลาสติก อีกทั้งยังสามารถรีไซเคิลได้ 100% อีกด้วย
Jour – Waterproof Notebook
Product: สมุดโน้ต
By: Apostrophe L Co.,Ltd.
Designer: Subhadanai Subhapholsiri
Design Story
ด้วยแนวคิดที่ได้แรงบันดาลใจจากเมื่อครั้งเดินทางไปเที่ยวประเทศสวิตเซอร์แลนด์ของผู้ออกแบบ ที่ระหว่างที่เดินชมนกชมป่าไปเรื่อย ๆ แล้วต้องเผชิญกับฝน ในทันใดนั้นก็หันไปเห็นเห็ดที่น่าสนใจขึ้นอยู่บนขอนไม้ สำหรับคนที่ชอบจดบันทึกและชอบสเก็ตซ์ภาพ การได้จดบันทึกภาพที่เกิดขึ้นไว้คงเป็นเรื่องสำคัญ แต่การจะสเก็ตซ์ภาพเหล่านั้นระหว่างฝนตกอยู่คงไม่สะดวก ดังนั้นจากจุดนี้เองก็เลยเป็นเสมือนความตั้งใจที่ผู้ออกแบบต้องการสร้างสมุดที่จะหยิบมาเขียนเมื่อไหร่ก็ได้อย่าง Jour ขึ้นมา โดยเลือกใช้วัสดุที่คล้ายกระดาษแต่สามารถกันน้ำได้ ที่เรียกว่า Stone Paper ซึ่งมีการใช้บ้างในต่างประเทศแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในเมืองไทย ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นไส้ในของสมุด ส่วนปกสมุดด้านนอกทำจากวัสดุ
สำหรับผลิตกระเป๋าสะพายหลัง ที่ให้คุณสมบัติแห้งเร็วและ Water Repellent ซึ่งผ้าดังกล่าวมีการใช้กันมานานแล้ว
แต่ไม่มีใครนำมาใช้ทำสมุดจด ส่วนปกในก็เป็นเซลลูโลสจากอุตสาหกรรมกระดาษ
User Impacts
จุดเด่นของ Jour คือเป็นสมุดต้นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ถือเป็นสมุดที่ออกแบบมาสำหรับกิจกรรมเอาท์ดอร์ และการผจญภัยเล่มแรกของโลก ถึงแม้ตัวกระดาษที่เป็น Stone Paper จะไม่ได้เป็นของใหม่และได้รับการคิดค้นมานานแล้ว แต่ Jour เป็นการหลอมรวมรูปแบบสมุดและการใช้งานในแง่มุมใหม่ ๆ
ANU Collection
Product: โคมไฟแขวน
By: Asiaforward Co.,Ltd.
Designer: วารีภรณ์ นิวาสสวัสดิกุล
Design Story
แรงบันดาลใจในการออกแบบของอีโคโลจิสต์มาจากความต้องการที่จะเสนอมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อทั้งผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ซึ่งอีโคโลจิสต์ต้องการขยายขอบเขตการนำเสนอไปมากกว่าการนำสิ่งที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกวัสดุที่นำมาใช้ ขั้นตอนการผลิต การคำนึงถึงการใช้สอย จนถึงการจัดการเมื่อสิ้นสุดการใช้งานแล้ว โดยที่ยังคงตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในด้านรูปลักษณ์ที่โดดเด่นและการใช้งานที่เป็นไปได้จริง
แนวคิดหลักในการออกแบบอณูคอลเลคชั่นจึงเป็นการพัฒนาวัสดุไฟเบอร์ธรรมชาติจากมันสำปะหลังให้เหมาะกับการใช้เป็นผลิตภัณฑ์ของตกแต่ง ซึ่งในการออกแบบที่ดีนอกจากจะมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นแล้ว ยังต้องช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การจัดการและการขนส่ง อีกทั้งไม่เกิดปัญหาขยะล้นเมื่อไม่ต้องการใช้งานแล้วอีกด้วย
User Impacts
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์นี้อยู่ที่การสร้างสรรค์วัสดุใหม่ ๆ ด้วยการนำวัสดุไฟเบอร์ธรรมชาติจากมันสำปะหลังและเศษไผ่มาพัฒนาออกแบบให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมของตกแต่งมากขึ้น ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมของตกแต่งมีความหลากหลายแปลกใหม่ และยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจและเปิดความคิดในการขยายขอบเขตของการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กว้างขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตผลทางการเกษตรของไทยอีกด้วย
โดยวัสดุนี้ถือเป็นวัสดุใหม่สำหรับอุตสาหกรรมของตกแต่ง ซึ่งเป็นการนำวัสดุมันสำปะหลังที่ใช้ในการผลิตภาชนะ มาอัดขึ้นรูปด้วยความร้อนทำให้ได้ไฟเบอร์ธรรมชาติที่มีความแข็งแรงและมีน้ำหนักเบา นอกจากนี้อีกความโดดเด่นในการออกแบบก็คือเทคนิคการเชื่อมต่อชิ้นงานแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน โดยใช้เพียงน้ำเปล่าเป็นตัวประสานให้แต่ละชิ้นส่วนสามารถยึดติดกันได้แน่นและแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องใช้กาวเคมีใด ๆ ในการผลิต และเมื่อต้องการทำลาย ผลิตภัณฑ์
สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100% เมื่อถูกนำไปฝังกลบในที่ที่มีออกซิเจนและน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ ดังนั้นไฟเบอร์ธรรมชาตินี้จึงเป็นวัสดุใหม่ในอุตสาหกรรมการตกแต่ง ที่ไม่เพียงช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า แต่ยังคงช่วยลดปัญหาขยะล้นได้อีกด้วย
Grand Canal
Product: โมเสกแก้ว
By: Imex International Co.,Ltd.
Designer: บุษกร กองไตย
Design Story
ด้วยแนวคิดการออกแบบในงานอินทีเรียสมัยใหม่ที่เล่นกับการสร้างมิติทางพื้นที่ ผสมผสานกับลายเส้นและเทคนิคการใช้แม่พิมพ์ (Mould) ทำให้ได้ผลลัพธ์ในการสร้างสรรค์บรรยากาศที่มีความเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเป็นการออกแบบโมเสกให้มีการเชื่อมต่อกันโดยไม่มีที่สิ้นสุดด้วยลวดลายเพียงลายเดียว ที่เกิดจากเทคนิคการสร้างแม่พิมพ์ (Mould) ซึ่งเป็นความแตกต่างจากโมเสกลายอื่น ๆ ที่จบในตัว รวมทั้งยังเกิดเป็นผิวสัมผัสที่ลงตัวระหว่างผิวด้านและผิวมัน (Matte & Gloss)
User Impacts
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาพัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากเดิม โดยใช้เทคนิคในกระบวนการผลิตทำให้เกิดเป็นผิวสัมผัส นั่นคือการนำแม่พิมพ์ (Mould) มาใช้กับวัสดุกระจก ด้วยการนำกระจกวางบนแม่พิมพ์ (Mould) และให้ความร้อนในระดับที่กระจกหลอมละลาย จนเกิดการหย่อนตัวลงบนแม่พิมพ์ (Mould) จนได้เป็นผิวสัมผัสลวดลายต่าง ๆ บนชิ้นงานที่แลดูมีมิติ สร้างความแตกต่างที่ไม่เหมือนใครให้กับโมเสก
Husk Collection
Product: โมเสก
By: Sonite Innovative Surfaces Co.,Ltd.
Designer: Wanvisa Wongpol
Design Story
Husk Collection เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน โดยการนำเอาเศษวัสดุเหลือใช้จากโรงสีข้าว มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นตัวผลิตภัณฑ์ ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยของ Sonite จึงทำให้เกิดผลิตภัณฑ์กระเบื้องโมเสกที่ทำจากเปลือกข้าวที่มีความสวยงาม สามารถใช้ในการตกแต่งพื้นผิว และมีความเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัว ซึ่งนอกจากความโดดเด่นในเรื่องของความสวยงามแล้วนั้น คอลเล็คชั่นนี้ยังเป็นการช่วยลดมลพิษหรือของเสียให้กับโลกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นอกจากนี้ความโดดเด่นของ Husk Collection จะอยู่ตรงที่สามารถทำได้ในหลากหลายรูปทรง ไม่ว่าจะเป็นสี่เหลี่ยมหรือหกเหลี่ยมและสามารถเปลี่ยนได้หลายสี ตอบโจทย์ให้กับผู้ที่หลงใหลการแต่งบ้านในทุก ๆ สไตล์
User Impacts
ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นหลายประการ อาทิ ลวดลาย และสีสันที่โดดเด่น ซึ่งวัสดุธรรมชาติไม่สามารถมีได้ อย่างเช่น น้ำหนักที่เบากว่าแก้วและเซรามิกหลายเท่า ดังนั้น มัณฑนากร นักออกแบบ และเจ้าของบ้าน สามารถนำไปใช้กับงานตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ ผนัง เพดาน และพื้นผิวทุกประเภทได้ โดยไม่ต้องกลัวการหลุดร่วงมาทำอันตรายใด ๆ หรือกระทั่งตกแต่งภายในเรือยอร์ช หรือลิฟท์ หรือที่ที่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติที่ดีอีกหลายประการ เช่น ความบาง เพราะขนาดของเม็ดที่เล็กเพียง 5 มิลลิเมตร ถูกเรียงเป็นลวดลายอยู่บนแผ่นทำให้สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย รวมทั้งสามารถปูเข้ามุมส่วนโค้งเว้าและขอบได้อย่างเรียบร้อยกลมกลืนอีกด้วย
Pætchwork / Collection Basin
Product: อ่าง
By: Siam Sanitary Ware Co.,Ltd.
Designer: Seelada Lertrat
Design Story
เนื่องด้วยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสองวัฒนธรรม สองศิลปะที่อยู่คนละฟากโลก ระหว่างตะวันตกและตะวันออก เป็นการตีความศิลปะตะวันออกในมุมมองของคนตะวันตก จึงใช้แรงบันดาลใจในการทำงานคอลเลคชั่นนี้และตีความงานออกแบบว่า ‘Life’ หรือ ‘ชีวิต’ เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นวัสดุใด ๆ ล้วนมีชีวิต หากตัดสิ่งซับซ้อนภายนอกออกก็จะเหลือความเรียบง่าย และแก่นแท้ของความสวยงามอันแท้จริง จึงเกิดงานดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่สง่างามแบบ Italian Elegance ซึ่งลงตัวกับฟังก์ชั่นการใช้งานที่เปี่ยมประสิทธิภาพ
User Impacts
จุดเด่นในการออกแบบอยู่ที่ความกล้า Challenge ในการทำสิ่งที่ยากและแตกต่างจากงานเซรามิกทั่วไป ด้วยขนาดที่ใหญ่และตรง รวมถึงขาตั้งเซรามิกที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เกิดการพัฒนาระบบการผลิต สร้างนวัตกรรมใหม่และสูตรดินใหม่เพื่อรองรับการผลิต และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่พิเศษในอนาคตได้ รวมถึงมีการพัฒนาสูตรดินใหม่เพื่อใช้ในการหล่ออ่างที่มีขนาดใหญ่ไม่ให้แตกลาย สร้างความสวยงามที่คงทน และใช้เทคนิคขั้นสูงในการหล่อเพื่อทำให้อ่างมีความตรงเรียบเฉียบซึ่งเป็นส่วนที่ยากที่สุดในการหล่อเซรามิก
Season
Product: ฝักบัวอาบน้ำ
By: Bathroom Design Co.,Ltd.
Designer: Eard Charuratana
Design Story
ด้วยแรงบันดาลใจจากช่วงเวลาและการเปลี่ยนแปลงที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน ระหว่าง ‘เราและสิ่งใดสิ่งหนึ่ง’ จะกลายเป็นความผูกพันที่สมบูรณ์ Season คือ Freestand Shower แบบ Outdoor ที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับช่วงเวลาของเรา เพราะสามารถรองรับการใช้งานของเราได้ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ สามารถปรับระดับได้ 3 ระดับ พร้อมทั้ง
แต่ละกิ่งของ Shower สามารถเปลี่ยนทิศทางและเปิด-ปิดได้อิสระ ทำให้เกิดฟังก์ชั่นที่แตกต่างทั้งปริมาณน้ำและทิศทาง สร้างความแตกต่างกับช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงของเราไปทุกฤดูกาล
User Impacts
จุดเด่นในการออกแบบอยู่ที่รูปแบบของการใช้ชิ้นส่วนในแบบ Modular Season ก็คือผลการต่อยอดที่ไม่มีที่สิ้นสุดของ Series Itree ด้วยความอบอุ่นของรูปแบบที่มาจากธรรมชาติลดทอนให้มีรูปแบบที่ทันสมัย ผสานการใช้งานที่ไหลลื่นและยืดหยุ่น
นิตยสาร Builder Vol.35 SEPTEMBER 2016