ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของพสกนิกรชาวไทยทั่วโลกต่อการสูญเสียพ่อหลวงของไทย ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่มิอาจประเมินค่าได้ และเป็นที่ทราบกันดีว่า นับเป็นเวลายาวนานถึง ๗๐ ปีแห่งการทรงงานอย่างหนักเพื่อประชาชนของพระองค์ ซึ่งผลงานทางด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยในการออกแบบ Builder News จึงหยิบเอา ๙ สถาปัตยกรรมไทย จากพระราชดำริ โดยอ้างอิงจาก นิทรรศการ “๙ สถาปัตย์ศิลป์ พระภูมินทร์อัครศิลปินสยาม” ที่จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๔ พรรษา เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม ๒๕๕๔-มกราคม ๒๕๕๕ มาเป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ

ทั้งนี้ สถาปัตยกรรมไทย ทั้ง ๙ ผลงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งแนวพระราชดำริในด้านการออกแบบ, รูปแบบสถาปัตยกรรมและรายละเอียดของศิลปกรรมที่ปรากฏในผลงานนั้น ๆ รวมถึงแนวพระราชดำริอันเกี่ยวเนื่องกับความพอเพียงที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้แม้ในงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม โดยได้รับความร่วมมือจากศิลปิน ๓ ท่าน ได้แก่ อ.ดร.ประเวศ ลิมปรังษี, พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น, และ อ.วนิดา พึ่งสุนทร

1. พระอุโบสถ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา
โดย ประเวศ ลิมปรังษี

Image1

พระอุโบสถหลังใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงแก้ไขเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยทรงเล็งเห็นว่า อุโบสถหลังเดิมไม่สมเกียรติหลวงพ่อพุทธโสธร

แนวคิดการออกแบบของพระอุโบสถหลังนี้ เรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมแนวใหม่ยุครัชกาลที่ ๙ เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ หลังคาทรงเครื่องยอด ชนิดยอดทรงมณฑปแบบไทย ต่อเชื่อมด้วยวิหารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างต่อเชื่อมด้วยอาคารรูปทรงอย่างเดียวกันกับพระวิหาร เป็นอาคารมุขเด็จ เมื่อประกอบกันเข้าแล้วจะเป็นอาคารแบบจตุรมุขทรงปราสาท เป็นการรวมพระอุโบสถเข้ากับพื้นที่ใช้สอยอื่น ๆ ให้เป็นหลังเดียวกัน และยังมีคุณลักษณะต้องตามพระราชดำริ คือ เป็นอาคารที่สมเกียรติหลวงพ่อพุทธโสธร มีความสง่างาม มีคุณค่าทางศิลปกรรม เหมาะที่จะเป็นพุทธสถาน ทั้งยังเป็นถาวรวัตถุคู่บ้านคู่เมือง และด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทำให้พระองค์ไม่เพียงปรับปรุงในส่วนของพระอุโบสถเพียงอย่างเดียว แต่ยังโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงภูมิทัศน์ของโรงเรียนและอาคารหน้าพระอุโบสถให้สมเกียรติอีกด้วย

2. พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๗ ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร
โดย ประเวศ ลิมปรังษี

การออกแบบพระเมรุมาศ เป็นการนำเอาแนวคิดด้านรูปร่าง แบบ และชั้นเชิงของพระเมรุมาศองค์กลาง ของสมเด็จพระศรีImage2พัชรินทรา บรมราชินีนาถ มาเป็นแนวทางในการออกแบบแต่ได้ประพันธ์ลวดลายและรายละเอียดขึ้นใหม่ โดยคำนึงถึงพระราชจริยวัตรในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่มีความสง่างาม นุ่มนวล

รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการอย่างประหยัด แต่ให้ครบถ้วนตามขัตติยราชประเพณีและสมพระเกียรติพระบรมศพ ทั้งยังไม่ประสงค์ให้ฐานพระเมรุมาศมีความสูงมากนัก เพราะจะเป็นการลำบากแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่จะขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วทรงเจริญพระชนมายุมากพระพรรษา แสดงให้เห็นถึงการที่ทรงเข้าพระทัยในการออกแบบให้เหมาะสมต่อผู้ใช้งาน และความใส่พระทัยในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกด้วย

พระเมรุมาศเป็นอาคารทรงปราสาทแบบจตุรมุข ยอดทรงมณฑปประกอบด้วยพรหมพักตร์ ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร ตัวอาคารประกอบด้วยชั้นฐานทักษิณ ส่วนหลังคาประกอบด้วยมุขทิศและเครื่องยอด ประดับตกแต่งด้วยลวดลายกระดาษทองย่นฉลุสาบสี หน้าบันประดับพระนามาภิไธยย่อ ร.พ. องค์พระเมรุเป็นอาคารโถง ตกแต่งด้วยม่านผาตาด มีฉากบังเพลิง ผนังภายนอกประดับลายกระดาษทองย่นฉลุลายสีแบบลงยา ผนังภายในใช้สีชมพูเป็นพื้นส่วนฐานทักษิณมีบันได 4 ทิศ ประดับด้วยรูปปั้นเทวดา ในท่านั่งบนแท่นเสาพนักลูกกรงระเบียงโดยรอบ

3. พระมหาธาตุ เฉลิมราชศรัทธา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย
โดย วนิดา พึ่งสุนทร

Image3รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของพระมหาเจดีย์องค์นี้ เป็นการผสมผสานลักษณะเด่นของศิลปสถาปัตยกรรมไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์ ซึ่งประกอบด้วยการใช้บัวฝาละมี ซ้อนสามชั้น เป็นส่วนรับเรือนธาตุ อันเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยสุโขทัย ใช้เรือนธาตุแบบระฆังคว่ำ มีแนวบัวรอบปากระฆัง ซึ่งพบมากในสมัยอยุธยา และการใช้ปลียอดเป็นแบบบัวกลุ่มซ้อนชั้น อันเป็นลักษณะเด่นของสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีเจดีย์ประธานขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ส่วนปลายยอดเป็นฉัตรโลหะหล่อ ๙ ชั้น ล้อมด้วยเจดีย์ขนาดเล็กบนมุขหลังคาซุ้มพระ ๘ ยอด รวมเป็นพระเจดีย์เก้ายอด องค์ระฆังของเจดีย์ทั้งเก้ายอดประดับด้วยโมเสกสีทองทั้งหมด

 

 

 


4. พระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก จ.กรุงเทพมหานคร

โดย พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เกิดจากพระราชดำริของรัชกาลที่ Image4๙ ในการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยการเติมอากาศที่บึง
พระราม ๙ ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมาได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมเพื่อจัดตั้งวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกเป็นพุทธสถานในการประกอบกิจของสงฆ์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของราษฎรในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีโครงสร้างเป็นวัดขนาดเล็กในชุมชนเมือง ประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง ออกแบบอย่างเรียบง่าย คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยสูงสุด เพื่อเป็นต้นแบบของความพอเพียง รวมทั้งเป็นตัวอย่างในการประสานความร่วมมือระหว่างชุมชน วัด และโรงเรียน อีกด้วย

พระอุโบสถเป็นสีขาว ผสมผสานสถาปัตยกรรมโบราณและสมัยใหม่เข้าด้วยกัน โดยนำเค้าโครงต้นแบบมาจากแนวทางการออกแบบตกแต่งพระอุโบสถทั้งหมด ๓ แห่ง ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ พระอุโบสถวัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม และพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ นนทบุรี

 

988
http://www.artbangkok.com/
966
http://www.artbangkok.com/


5. การอนุรักษ์พระพุทธรัตนสถาน จ.กรุงเทพมหานคร

Image5พระพุทธรัตนสถาน เป็นอาคารชั้นเดียว ยกพื้นสูง แบ่งเป็น ๓ ระดับ หลังคาทรงไทย มีมุขลดทั้งทางด้านทิศตะวันออก และตะวันตก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ผนังประดับด้วยหินอ่อนสีเทา ภายในประดับภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งกรมศิลปากร ได้รับสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในการดำเนินการอนุรักษ์และเขียนภาพจิตรกรรมบนพื้นผนังระหว่างช่องพระบัญชรทั้ง ๘ ช่อง (ยกเว้นช่องที่ ๗) ภายในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นต้นมา โดยจะแสดงเรื่องราวประวัติพระพุทธรัตนสถานตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง พระราชพิธี วิถีชีวิตในพระบรมมหาราชวัง ไพร่ฟ้าประชาชน พระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลปัจจุบัน และจะเห็นได้ว่า ในแต่ละช่องจะมีมุมมองเป็นทัศนียภาพที่แตกต่างกันไป มีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสร้างรูปทรงอาคาร ทำให้สัดส่วนและรายละเอียดต่าง ๆ ดูสมจริง

สำหรับแนวทางในการเขียนภาพนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ยึดความสำคัญของพุทธรัตนสถานเป็นหัวใจของการกำหนดภาพ ให้เป็นภาพที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานและพระราชกรณียกิจในพระมหากษัตริย์รัชกาลต่าง ๆ และใช้การเขียนภาพในลักษณะ Bird Eye View

Buddharattanasatan4
http://www.oknation.net/
Buddharattanasatan7
http://www.oknation.net/

6. พระอุโบสถวัดพุทธปทีป ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
โดย ประเวศ ลิมปรังษี

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินImage6ไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิดป้ายวัด  และพระราชทานพระพุทธรูปโบราณปางมารวิชัย เป็นพุทธศิลป์สมัยสุโขทัย ประดิษฐานไว้เป็นพระประธานประจำที่วัด และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระอารามแห่งนี้ว่า “วัดพุทธปทีป” โดยมีใจความดังนี้

“น่าอนุโมทนายินดีอย่างยิ่ง ที่คนไทยมีศรัทธาและความพร้อมแรงพร้อมใจกันมาสร้างวัดขึ้นในประเทศอังกฤษได้สำเร็จเป็นปึกแผ่น วัดพุทธปทีปนี้จึงมีความสำคัญมาก คือนอกจากจะเป็นที่ศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นนิมิตหมายของชื่อเสียง เกียรติคุณของประเทศไทย ที่เป็นเมืองพระพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง ควรอย่างยิ่งที่ทุกคนทุกฝ่ายจะตั้งใจถนอมรักษาไว้ และทำนุบำรุงให้ถาวรวัฒนายั่งยินไป พร้อมทั้งพยายามปฏิบัติตัว ปฏิบัติใจให้สุจริต เป็นธรรม ตามแบบแผนของพุทธมามกะ เพราะพระพุทธศาสนาช่วยให้ผู้ปฏิบัติตาม เกิดความสุขสงบร่มเย็น เมื่อบุคคลในชาติมีความสุขสงบร่มเย็น ก็จะทำให้อนาคตของชาติสว่างแจ่มใส และเจริญมั่นคงอย่างแท้จริง…”

พระอุโบสถภายในวัดพุทธปทีป นับเป็นพระอุโบสถทรงไทยหลังแรกในทวีปยุโรป ลักษณะเป็นอาคารจตุรมุขแบบกึ่งตรีมุขตามอย่างศิลปะสถาปัตยกรรมไทย ขนาดกว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๙ เมตร และมีกำแพงแก้วรอบอุโบสถ มีห้องใต้ดินเป็นโถงใหญ่สำหรับใช้เป็นห้องสมุด และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การออกแบบ คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ที่ตั้ง รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศและกฎหมายการก่อสร้างอาคารของประเทศอังกฤษ มีการใช้ผังพื้นรูปแบบโบสถ์ฝรั่ง และดัดแปลงหลังคาให้เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับวัดไทย

พระอุโบสถหลังนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ สร้างเสร็จในปี ๒๕๒๕ ใช้งบประมาณราว ๔๐ ล้านบาท ภายในอุโบสถเต็มไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง ด้วยฝีมือการรังสรรค์ของจิตรกรชื่อดังหลายท่าน อาทิ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ปัญญา วิจินธนสาร, และ สมภพ บุตรราช เป็นต้น มีความโดดเด่นจนสื่อหลายแขนงในอังกฤษต่างพากันมาติดต่อขอถ่ายทำสารคดีเชิงพุทธศิลป์กันอย่างแพร่หลาย

ABPAGE4
http://www.padipa.org/

7. ศาลหลักเมือง จ.กรุงเทพมหานคร
โดย พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

Image7สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ในปี ๒๓๒๕ ตามประเพณีโบราณในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งก่อนการสร้างเมืองจะต้องทำพิธีการยกเสาหลักเมืองในบริเวณที่เป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้นในอนาคต เป็นมิ่งขวัญแก่พสกนิกรสำหรับยึดถือทางจิตใจในแง่ที่ว่าบ้านเมืองที่สร้างขึ้นนั้นมีรากฐานมั่นคง ต่อมา เมื่อระยะเวลาล่วงเลย จึงได้มีการบูรณะต่อเติมขึ้นถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรก ในปี ๒๕๑๓ และครั้งที่ ๒ ในปี ๒๕๒๕ โดยเริ่มจากเหตุการณ์ฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชพระหลักเมืองตามโบราณราชประเพณี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงศาลหลักเมืองและอาณาบริเวณโดยรอบให้กว้างใหญ่งดงามเป็นสง่า สมกับเป็นที่ประดิษฐานแห่งเทพารักษ์ที่รักษาพระนครและเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทยมาช้านาน โดยทำการแปลงลักษณะรูปศาลเสียใหม่เป็นแบบจตุรมุข ส่วนยอดปรางค์นั้นให้คงไว้เช่นเดิม

รูปแบบศิลปกรรมของศาลหลักเมืองนั้นเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในรัชกาลที่ ๔ เป็นอาคารเครื่องปูน ทรงยอดปรางค์ มีมุขยื่นทั้ง ๔ ด้าน แต่ละด้านมีหลังคาซ้อน ๒ ชั้น และมีมุขลดอีกด้านละ ๑ ชั้น มีหลังคากันสาดโดยรอบ เครื่องมุงประดับกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้าเป็นแบบนกเจ่า ใบระกาเป็นช่อหางโตแทนลายใบเทศ หน้าบันเป็นรูปดอกพุดตานประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ พื้นลายสีเหลือง ตัวดอกและช่อลายสลับสี โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังบุหินอ่อน มีประตูทางเข้าทั้ง ๔ ด้าน ยกพื้นโดยรอบ บุด้วยหินอ่อนและมีพนักระเบียงหินอ่อนโดยรอบ มุขพักระเบียงประดับเสาหัวเม็ดทำด้วยหินอ่อนเช่นเดียวกัน

8. อาคารประดิษฐานพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ณ รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย
โดย วนิดา พึ่งสุนทร

อาคารประดิษฐานแห่งนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดียImage8 ซึ่งเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติโดยสมบูรณ์พร้อมด้วยพระอุโบสถ พระมหาธาตุเจดีย์ เสนาสนะต่าง ๆ และเพื่อให้เป็นอนุสรณ์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ อนุสรณ์แห่งความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทย พร้อมทั้งคณะสงฆ์ไทยที่ได้ร่วมใจกันสร้างวัดแห่งนี้ ทางวัดจึงได้มีดำริในการจัดสร้างพระบรมรูปขึ้น

การออกแบบเป็นไปในลักษณะที่สอดคล้องกับความสูงของพระบรมรูปที่มีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเพื่อความสง่างาม ผสมผสานศิลปสถาปัตยกรรมในด้านต่าง ๆ ทั้งของไทยและอินเดียเข้าด้วยกัน ช่างฝีมือที่ใช้ก็เป็นช่างฝีมือจากทั้ง ๒ ประเทศ

ผังอาคารเป็นลักษณะผังพื้นแปดเหลี่ยมที่สามารถมองเห็นได้รอบด้าน รับกับฐานภายในซึ่งรองรับองค์พระบรมรูปบรอนซ์ทอง ประทับยืนฉลองพระองค์ด้วยชุดกองทัพไทย ขนาดสูง ๒.๓๐ เมตร ตกแต่งอาคารโดยใช้ภาพจิตรกรรมภายใต้โดมกลีบมะเฟืองหินอ่อน เป็นภาพฉัตรเก้าชั้น มีพระปรมาภิไธยย่อ ลอยเด่นอยู่เหนือฉัตร ซึ่งกล่าวได้ว่า การเลือกใช้สีและลวดลายต่าง ๆ ประดับบนภาพจิตรกรรมนั้นดูสง่างามสมพระเกียรติ ทั้งยังสามารถสื่อถึงพระราชอิสริยยศของพระองค์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ยิ่งไปกว่านั้น รายละเอียดในการดำเนินงานทุกขั้นตอน ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยตลอดระยะเวลาการออกแบบ ก่อสร้าง

k5
http://www.artbangkok.com/
k9
http://www.artbangkok.com/
kk1
http://www.artbangkok.com/

9. ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.หนองบัวลำภู
โดย ประเวศ ลิมปรังษี

Image9ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สร้างขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งต่อเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายบุกยึดสถานีตำรวจอำเภอหนองบัวลำภู ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี และทรงมีพระราชดำริให้สร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้น เพื่อปลุกปลอบขวัญและกำลังใจให้ชาวบ้านรักบ้านเมืองว่า “เมื่อครั้งโบราณ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เคยทรงกรีฑาทัพจากอยุธยาผ่านหนองบัวลำภูแห่งนี้ เพื่อไปทำศึกปกป้องบ้านเมือง” จึงออกแบบให้ศาลมีลักษณะคล้ายหอพระ หรือศาลที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในท่ายืนขนาดเท่าพระองค์จริง ตัวศาลมีลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทย โดยใช้รูปแบบของเครื่องศาสตราวุธและเครื่องทรงที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้ในการศึกครั้งสำคัญเป็นองค์ประกอบหลักในการตกแต่งหน้าบัน เป็นรูปพระแสงของ้าวไขว้กับพระแสงดาบคาบค่าย
สถาปัตยกรรมทั้งหมดนี้ เป็นเพียงหนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ แม้ว่าพระองค์จะจากปวงชนชาวไทยไปแล้วก็ตาม แต่คุณงามความดีและผลงานที่ได้ทรงสร้างไว้ให้กับประชาชนของพระองค์นั้นจะสถิตอยู่ในใจของเหล่าพสกนิกรตราบนานเท่านาน

Source: portfolios.netmanagermanager.co.thoknation.netpadipa.orgartbangkok.com

Previous articleทำอย่างไร ให้อาคารดูเขียว (ตอนที่ 2)
Next article‘stu/D/O’ สู่การสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน (ตอนที่1)
ณัฐธิกานต์ อัจฉริยบดี
Content Writer เว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าวด้านงานออกแบบ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม