ต่อจากครั้งที่แล้ว ดร.อรชได้นำเอาผลงานวิจัยเล็ก ๆ ที่ได้ทำแบบสอบถาม เพื่อถามคนทั่วไปว่าอะไรที่ทำให้คุณเข้าใจว่าอาคารที่คุณเห็นหรือเข้าไปอยู่นั้นเป็น อาคารเขียว โดยให้คุณสมบัติหรือส่วนประกอบของอาคารซึ่งถอดจากเงื่อนไขต่าง ๆ ตามเกณฑ์อาคารเขียวอันได้แก่ LEED และ TREES กำหนดไว้ 

ซึ่งผลที่ได้จากการสอบถาม 10 อันดับแรกที่ทำให้คนนึกถึงว่าอาคารนั้นเป็นอาคารเขียวมีดังนี้ 1. แสงจากภายนอก (85 คน) 2. ใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ (82 คน) 3. มีถังขยะสำหรับแยกขยะ (81 คน) 4. ใช้หลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน (79 คน) 5. มีต้นไม้ในพื้นที่รอบอาคาร (69 คน) 6. มีป้ายบอกแสดงความเป็นอาคารเขียว (67 คน) 7. ใช้ก๊อกน้ำเปิดปิดอัตโนมัติ (65 คน) 8. การปรับอากาศเย็นพอเหมาะ (61 คน) 9. ติดตั้งโซลาร์เซลล์หรือกังหันผลิตพลังงาน (60 คน) และ 10. ใช้วัสดุก่อสร้างรีไซเคิล (59 คน)

อย่างไรก็ตามในการสอบถามนั้น ได้ถามว่ารู้จักอาคารเขียวหรือไม่ มีผู้ตอบ 98 คนที่รู้จักอาคารเขียวในฐานะ
อาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่อีก 27 คนไม่รู้จัก ซึ่งอันนี้อาจเป็นเพราะผู้ตอบส่วนมากก็อยู่ในวงการออกแบบก่อสร้างอยู่แล้ว แต่ก็มีอยู่หนึ่งในสี่ที่ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าอาคารเขียว

เมื่อนับเฉพาะกลุ่มที่รู้จักอาคารเขียว คุณสมบัติหรือส่วนประกอบของอาคารที่ทำให้ผู้ตอบกลุ่มนี้รับรู้ถึงความเป็น
อาคารเขียว 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. แสงจากภายนอก (70 คน) 2. ถังขยะสำหรับแยกขยะซึ่งเท่ากันกับหลอดไฟฟ้า
ประหยัดพลังงาน (65 คน) 3. สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ (64 คน) 4. ป้ายแสดงความเป็นอาคารเขียว (57 คน) และ
5. ก๊อกน้ำชนิดอัตโนมัติ (55 คน) ในขณะที่อีกกลุ่มคือผู้ตอบที่ไม่รู้จักอาคารเขียว ผลที่ได้คือ 1. สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ (18 คน) 2. ต้นไม้ในพื้นที่รอบอาคาร (17 คน) 3. ถังขยะสำหรับแยกขยะ (16 คน) 4. แสงจากภายนอก (15 คน) และ 5. หลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน (14 คน)

เมื่อประมวลผลและวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นจากแบบสอบถาม ผมมีข้อสังเกตคือการออกแบบอาคารเขียวซึ่งราคา
ค่าก่อสร้างแพงมากกว่าอาคารแบบทั่วไป แต่กลับไม่ได้มองว่าจะออกแบบอย่างไรให้คนนึกถึงความเป็นอาคาร
เขียวตั้งแต่สัมผัสแรก ขณะที่หากพิจารณาผลจากการสำรวจเพื่อนำไปใช้ในการออกแบบแล้ว เราก็ควรจะเลือกใช้
องค์ประกอบที่เห็นได้ชัดหรือจับต้องได้ ยกตัวอย่างเช่นหากเข้าไปในอาคาร ผู้ใช้อาคารย่อมสามารถเห็น
แสงธรรมชาติจากภายนอกได้ เมื่อผู้ใช้อาคารเดินเข้าห้องน้ำ ก็ย่อมต้องเห็นหรือสัมผัสสุขภัณฑ์และอุปกรณ์
ในห้องน้ำ และรับรู้ความประหยัดน้ำจากป้ายหรือรูปแบบของอุปกรณ์เอง รวมถึงเมื่อจะทิ้งขยะก็เห็นถังขยะที่มี
ช่องแยกขยะชัดเจน หรือเมื่อมองเห็นหลอดไฟชนิดประหยัดพลังงาน เหล่านี้สะท้อนความพยายามในการอนุรักษ์
พลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยตัวมันเอง ในขณะที่ข้อที่ให้คะแนนตามเกณฑ์อาคารเขียวได้กลับไม่ได้อยู่ในการรับรู้
โดยผู้ใช้อาคารเท่าใดนัก อาทิ ใช้วัสดุตกแต่งธรรมชาติเช่นไม้ หรือการนำเอาอาคารเก่าปรับปรุงใหม่

ซึ่งที่กล่าวมาก็นำมาสู่ข้อสรุปของผมในงานวิจัย คือ ลักษณะขององค์ประกอบเพื่อการออกแบบอาคารเขียวแบ่งเป็น
3 ประเด็น ได้แก่

1. ออกแบบเพื่อให้รับรู้ได้ชัดเจน นั่นคือนักออกแบบหรือสถาปนิกที่ออกแบบอาคารเขียว ควรออกแบบให้
อาคารถูกรับรู้ได้ชัดเจน อาทิ การใช้แสงธรรมชาติ การมีพื้นที่และต้นไม้รอบอาคาร เหล่านี้จะทำให้ผู้คนที่ผ่าน
หรือใช้อาคาร รับรู้ความต้องการในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมไปด้วย
2. ออกแบบให้ง่ายต่อการเข้าใจ สถาปนิกหรือนักออกแบบโดยส่วนมากไม่ชอบที่จะบอกหรือสื่อสารอะไรตรงๆ
การมีป้ายบอกนั้นอาจจะดูไม่ค่อยเป็นงานออกแบบเท่าไหร่นัก ป้ายอาจจะช่วยให้ผู้สัญจรไปมาในอาคารที่ผ่านได้
อ่านได้รับรู้ แต่การสื่อสารผ่านการใช้อุปกรณ์ที่แสดงถึงการประหยัดน้ำและพลังงาน หรือใช้วัสดุรีไซเคิล ก็เป็น
วิธีการสื่อสารที่แสดงความเป็นอาคารเขียวเช่นกัน
3. สร้างการมีส่วนร่วมหรือการเข้าถึงจากผู้ใช้อาคาร ยุคสมัยนี้เขาชอบใช้ว่า Engagement ซึ่งผมเห็นว่า
หากจะทำการลดการใช้ทรัพยากรลง ประหยัดน้-ไฟฟ้า ก็ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในอาคาร
ซึ่งการที่เครื่องมือหรือวัสดุบางอย่าง สามารถทำให้ผู้ใช้อาคารได้เรียนรู้การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมไปด้วย
พร้อมการใช้งาน อาทิ อุปกรณ์ประหยัดน้ำ ถังขยะที่มีการแยกขยะ หรือการใช้เครื่องไฟฟ้า หรือหลอดประหยัดไฟ
ก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดการรับรู้ความเป็นอาคารเขียวด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าจะต้องใช้เฉพาะองค์ประกอบที่ว่ามาแล้วจึงจะดูเป็นอาคาร ‘อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม’
แต่ข้อมูลผลที่ได้จะเป็นตัวช่วยนักออกแบบมีตัวช่วยเมื่อต้องออกแบบอาคารเขียว และต้องการสื่อให้สังคม
ได้เข้าใจถึงแนวคิดของตัวเองในการนี้

 

นิตยสาร Builder Vol.36 OCTOBER 2016

Previous articleสร้างเสียงเพลงพร้อมบรรยากาศพายุฝนในบ้าน ด้วย Floating Cloud ลำโพงก้อนเมฆลอยตัว
Next articleย้อนดู “๙ สถาปัตย์ศิลป์ พระภูมินทร์อัครศิลปินสยาม” จากพระอัจฉริยภาพของ
ในหลวง ร.๙
ดร.อรช กระแสอินทร์
นักเขียนนิตยสาร Builder สำเร็จการศึกษาด้านการออกแบบ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์